ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดบทเรียน "ซีเรีย" ส่องอนาคต "เมียนมา" บนเส้นทางโลกคู่ขนาน

ต่างประเทศ
16 ธ.ค. 67
10:49
73
Logo Thai PBS
 ถอดบทเรียน "ซีเรีย" ส่องอนาคต "เมียนมา" บนเส้นทางโลกคู่ขนาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

สถานการณ์เมียนมาใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา แตกต่างอย่างชัดเจนจากบริบทของระบอบผู้นำอย่างอดีตประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งขณะนี้ต้องลี้ภัยในรัสเซีย

บทเรียนสำคัญที่ได้จาก อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย คือ ถ้าเมินเฉยต่อเสียงเรียกร้องความเป็นธรรม หรือเผลอเรอ มีความมั่นใจสุดๆก็ตาม โอกาสพลิกผันทางการเมืองเกิดขึ้นได้เสมอ มิตรจะเป็นศัตรูหรือศัตรูจะกลายเป็นมิตร แล้วแต่สถาน การณ์จะเป็นตัวชี้นำ

ในกรณีซีเรียมีปรากฏการณ์ที่แปลก คือ มิตรสหายที่เคยช่วยเป็นกองทัพหลังพากันหายหัวตัวหดไปหมด ไม่ได้เกี่ยวข้องเรื่องของการทรยศหรือไม่ทรยศ แต่เป็นเพราะต้องเผชิญสถานการณ์วิกฤตที่ต้องช่วยตัวเองก่อน

สองประเทศทั้งรัสเซียและซีเรีย ได้ครองแชมป์สนับสนุน อัล-อัสซาด มานานกว่า 25 ปียังต้องถอยฉาก ด้วยมีปัญหาความมั่นคงและเศรษฐกิจต้องจัดการก่อนเพื่อความอยู่รอด สามปีที่ผ่านมารัสเซียต้องทำสงครามอย่างต่อเนื่องในยูเครนจนไม่สามารถดูแลและคุ้มครอง อัล-อัสซาด ได้เหมือนเดิม

ในขณะเดียวกันอิหร่านยังถูกสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรยุโรปโดดเดี่ยว สืบเนื่องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ที่เป็นคู่แค้นของอิสราเอล กอปรกับอิหร่านมีความทะเยอทะยานทางด้านนิวเคลียร์

ในเอเชียอาคเนย์ รัฐบาลทหารเมียนมา กำลังอยู่ในช่วงวิกฤต ปัจจุบันกองกำลังต่อต้านได้ขยายอำนาจอย่างมีนัยยะสำคัญ รัฐบาลทหารควบคุมเมืองได้เพียง 40 เปอร์เซ็นต์ของเมืองทั้งหมดในประเทศ โดยสูญเสียพื้นที่สำคัญให้กับกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มที่สนับสนุนประชาธิปไตย การดำเนินการปฏิบัติการ 1027 เริ่มตุลาคมปีที่แล้วทำให้กองทัพเมียนมาอ่อนแอลงมาก

บทเรียนสำคัญจาก อัล-อัสซาด คือ การขาดการสนับสนุนทางทหารจากรัสเซียและอิหร่าน ทำให้ช่วยป้องกันเมืองหลวงดามัสกัส ไว้ไม่ได้ โดยเฉพาะการช่วยเหลือโจมตีทางอากาศ ทหารซีเรียประจำการตามหัวเมือง เช่น โฮม ยอมจำนนต่อกลุ่มต่อต้านอย่างง่ายดายก่อนถูกยึดเมืองหลวง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ารัฐบาลทหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก็กำลังเผชิญแรงกดดันจากพันธมิตรแบบดั้งเดิม คือ จีน เช่นกัน ที่ผ่านมาปักกิ่งได้แสดงความสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาลทหารในการควบคุมสถานการณ์ในประเทศ จีนเน้นเสมอ ว่า ต้องมีการเลือกตั้งที่คาดว่า จะมีขึ้นปลายปีหน้า

ที่น่าสนใจ คือ การตอบสนองของประชาคมระหว่างประเทศแตกต่างกันมาก ขณะที่ อัล อัส-ซาดได้รับประโยชน์จากการแทรกแซงของรัสเซียและอิหร่าน ฝ่ายค้านของเขาได้รับความช่วยเหลืออย่างเปิดเผยจากตุรกี (เตอร์เกีย) ที่ต้องการโค่นรัฐบาลซีเรียมานานแล้ว

แม้นว่า รัฐบาลทหารเมียนมาถูกโดดเดี่ยวจากโลกตะวันตก แต่ไม่ได้ถูกโดดเดี่ยวแบบนั้นในเอเชียหรือในหมู่สมาชิกอาเซียน

สหรัฐอเมริกาและยุโรปประนามการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความล้มเหลวในการฟื้นฟูประชาธิปไตยของรัฐบาลทหารเมียนมาก็จริง แต่ยังไม่มีการสนับสนุนทางอาวุธอย่าวจริงจังให้กับกลุ่มต่อต้านเหมือนกับในซีเรีย

อนาคตสำหรับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ดูเหมือนจะไม่มีความแน่นอน หากยังดื้อดึง ไม่ยอมฟังสียงประชาชน เขาอาจเผชิญชะตากรรมคล้ายกับผู้นำเผด็จ การคนอื่น ๆ ที่ถูกโค่นล้มกลางกระแสประท้วง และแรงสนับสนุนจากต่างประ เทศ นอกจากนี้ เมียนมามีลักษณะเฉพาะของภูมิรัฐศาสตร์ มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และความรู้สึกสนับสนุนและประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็ง ฉะนั้นการเปลี่ยนผ่านใด ๆ อาจจะเต็มไปด้วยความวุ่นวายและซับซ้อน

โดยองค์รวม ทั้ง อัล อัส-ซาดและ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ต่างเผชิญกับความท้าทายการปกครองแบบเดียวกัน แต่บริบทในเมียนมา นั้นผู้นำทหารอาวุโสคนนี้ยังสามารถดำรงอำนาจต่อไปได้ ถึงแม้นว่าจะกลุ่มฝ่ายต่อต้านต่าง ๆได้ยึดครองพื้นที่มากขึ้นก็ตาม แต่ประเทศที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมายังคงมีการสนับสนุนทางด้านการเมืองและความมั่นคงอยู่เหมือนเดิม

แตกต่างจากระบอบการเมืองเผด็จการของอัล อัส-ซาดที่ต้องล้มทั้งยืนหลังจากรัสเซียและอิหร่านไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแบบเดิม

มองเทศคิดไทย : โดย กวี จงกิจถาวร

อ่านข่าว

เกมโค่นตระกูล "อัล-อัสซาด" มหาอำนาจ เบื้องหลัง "กบฏซีเรีย"

กลุ่มกบฏเผาทำลายสุสานอดีต ปธน.ซีเรีย "ฮาเฟซ อัล-อัสซาด"

ซีเรียตั้ง "โมฮัมหมัด อาล-บาเชียร์" เป็นนายกฯ รักษาการถึง มี.ค.2025

เกมโค่นตระกูล "อัล-อัสซาด" มหาอำนาจ เบื้องหลัง "กบฏซีเรีย"
ซีเรียตั้ง "โมฮัมหมัด อาล-บาเชียร์" เป็นนายกฯ รักษาการถึง มี.ค.2025
ข่าวที่เกี่ยวข้อง