เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 สร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว แต่สำหรับกลุ่มคนพิการทุกประเภท กลับเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายต่อการสื่อสารและการตัดสินใจช่วยเหลือ มีข้อเสนอจากเครือข่ายคนพิการ มองว่าการปักหมุดระบุว่าคนพิการอยู่บริเวณไหนบ้าง จะทำให้ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น
“คนพิการทางการได้ยิน-ทางการเห็น” ไม่รับรู้ว่าเกิดแผ่นดินไหว
"ไทยพีบีเอส" ลงพื้นที่พูดคุยกับคนพิการทางการได้ยินในชุมชนคนไร้เสียง ย่านพระราม 9 กทม. คนพิการทางการได้ยิน ระบุว่า ช่วงขณะเกิดเหตุไม่ทราบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือแผ่นดินไหว เพราะด้วยที่พักอาศัยอยู่ใต้สะพาน มีรถวิ่งผ่าน ทำให้สั่นสะเทือนตลอดเวลา และไม่ได้รับแจ้งเตือนจาก SMS มีเพียงผู้ดูแลชุมชนแจ้งผ่านวิดีโอคอลมาให้อพยพกันออกมาจากที่พักอาศัย
เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเคยเจอ ไม่รู้จะรับมืออย่างไร หากมีแจ้งมาทาง SMS ก็จะทำให้รู้ว่าเกิดแผ่นดินไหว

ขณะที่คนพิการทางการมองเห็นกลุ่มหนึ่งที่ไทยพีบีเอสไปพูดคุย ช่วงวันเกิดเหตุอยู่บนอาคารเรียน โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ พวกเขารับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน แต่ก็ไม่แน่ใจว่าใช่แผ่นดินไหวหรือไม่ เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนขึ้นมาพาลงไปด้านล่างอาคาร
เรามองไม่เห็นโคมไฟหรือแก้วน้ำที่มันสั่น จึงไม่รู้ว่าเกิดแผ่นดินไหว หากมีการแจ้งเตือนเข้ามาเป็นข้อความเสียงให้รับรู้ถึงเหตุการณ์ก็จะดี
นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) และประธานมูลนิธิออทิสติกไทย เล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า แม้เด็กบางคนจะรับรู้และสามารถอพยพได้ทันที แต่ก็มีหลายคนที่ยังไม่เข้าใจสถานการณ์หรือรับรู้ช้ากว่า ทำให้ต้องใช้วิธีการช่วยเหลือเฉพาะ เช่น การอุ้มลงจากชั้นบน
"เด็กบางคนที่สื่อสารพอเข้าใจก็ลงมากลางสนาม เพราะทราบว่าเกิดแผ่นดินไหว แต่บางคนที่ฟังไม่เข้าใจ ครูพยายามบอก แต่เด็กก็ไม่ลงมาชั้นล่าง เพราะเคยอยู่ในห้องและยังไม่ถึงเวลาลง จึงไม่ยอมลง ทำให้ต้องอุ้มลงมา แต่เด็กไม่ตกใจ เข้าใจว่าเป็นอาการปกติ เพราะโยกตัวอยู่แล้ว"

การรับมือภัยพิบัติในกลุ่มคนพิการพบข้อจำกัด
นอกจากประสบการณ์ในวันเกิดเหตุแล้ว นายชูศักดิ์ ในฐานะเลขาธิการสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ยังได้ถ่ายทอดถึงแผนจัดการภัยพิบัติของคนพิการ ที่มีมาตั้งแต่ปี 2560-2564 พร้อมระบุว่า หลายสมาคมได้นำไปจัดฝึกอบรมคนพิการ แต่สำหรับภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว ยังไม่ถูกรวมในแผนจัดการภัยพิบัตินี้
ที่ผ่านมาพบว่ายังมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงข้อมูลและการประสานงานในภาวะวิกฤต โดยระบบข้อมูลคนพิการยังเป็นระบบปิด ไม่สามารถนำมาใช้ระบุพิกัดเพื่อช่วยเหลือเฉพาะหน้าได้ ซึ่งหลายกลุ่มได้เริ่มพัฒนาแอปพลิเคชันระบุพื้นที่อยู่อาศัยของผู้พิการ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการช่วยเหลือในอนาคต แต่ยังไม่มีเจ้าภาพจัดทำเรื่องนี้
แอปพลิเคชันที่ระบุพื้นที่ที่คนพิการอยู่ในบัตรประจำตัวคนพิการยังเป็นระบบปิด ไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณะ อาจจะติดขัดเรื่องกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล

นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) และเลขาธิการสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) และเลขาธิการสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
ข้อเสนอระบบแจ้งเตือนแผ่นดินไหวสำหรับคนพิการ
นายชูศักดิ์ ระบุถึงข้อเสนอสำคัญคือการพัฒนา "แผนรับมือภัยพิบัติสำหรับคนพิการ" ที่ครอบคลุมทั้งการแจ้งเตือนหลากหลายรูปแบบ เช่น เสียงพูด ตัวอักษรวิ่ง หรือสื่อภาพ รวมถึงการฝึกซ้อมในสถานที่จริง เช่น โรงเรียน หรือชุมชนที่มีคนพิการอาศัยอยู่ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นจัดสรรทรัพยากรเสริมเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม
เลขาธิการสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้การเตรียมแผนไม่ใช่เรื่องยาก เพราะพื้นฐานของแผนมีอยู่แล้วกว่าร้อยละ 80 เพียงแต่ต้องเพิ่มเติมแผนย่อย เช่น การรับมือแผ่นดินไหวและวางแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้เมื่อเกิดเหตุการณ์จริง ระบบสามารถทำงานได้ตามแผน พร้อมยกบทเรียนจากต่างประเทศมาเป็นแนวทางปรับใช้ในไทยอย่างมีประสิทธิภาพ
อ่านข่าว
"ระบบเตือนภัย" ไม่ทันภัยพิบัติ ใช้ SMS รอ Cell Broadcast