ปิดฉาก 53 ปี ตระกูลอัล-อัสซาด หลังประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ใช้วิธีการปกครองซีเรียแบบกำปั้นเหล็กมาอย่างยาวนาน หลังจากเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มกบฎต่อต้านรัฐบาล ฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม (Hayat Tahrir al-Sham - HTS) ร่วมกับพันธมิตร บุกยึดพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ และยึดกรุงดามัสกัส ได้สำเร็จ ส่งผลให้อดีตประธานาธิบดีผู้นี้ ต้องลี้ภัยไปขอความช่วยเหลือจากผู้นำรัสเซีย "วลาดิเมียร์ ปูติน"
เป็นที่น่าประหลาดใจ คือ เหตุใด กองกำลังต่อต้านเพียงหยิบมือ สามารถต่อกรกับรัฐบาลที่ "ผูกขาดความรุนแรงและอาวุธ" ซึ่งมีกองทัพและกำลังทางทหารจำนวนมหาศาล เข้าบุกยึดฐานที่มั่นต่าง ๆ และเมืองหลวงที่มีการป้องกันระดับสูง ได้อย่างง่ายดายเสมือนกองทัพและรัฐบาลนั้น "ไร้น้ำยา"
ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดซีเรียจึงอ่อนแอปวกเปียกเช่นนี้ ขณะที่ รัสเซีย อิหร่าน อียิปต์ อิรัก และเฮซบอลเลาะห์ กลุ่มประเทศมุสลิมที่มีความแข็งแกร่งในฐานะมหาอำนาจและมหาอำนาจกลางของโลกอาหรับ จึงไม่ช่วยค้ำยันบัลลังก์ของ อัล-อัสซาด และอีกประเด็นสำคัญ คือ กลุ่มกบฏที่จะต้องปกครองประเทศ นับจากนี้จะสามารถ"อยู่รอด" หรือ "หลุดพ้น"จากมรดกอำนาจเก่าได้หรือไม่ ?
"อัล-อัสซาด" สอบตก-กองทัพอ่อนแอ
หาก "อาหรับสปริง (Arab Spring)" เป็นต้นแบบของการลุกฮือครั้งใหญ่ในโลกอาหรับ ในการออกมาปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และถือเป็นความสำเร็จของภาคประชาชนที่สามารถ "กุมอำนาจรัฐ" เหนือรัฐบาลอำนาจนิยม การเข้ามายึดซีเรียก็คงไม่ต่างกัน
แต่ข้อมูลนี้อาจ "ไม่สมเหตุสมผล" เพราะหากประชาชน "เจ๋งจริง" ต้องประสบความสำเร็จตามรอยโลกอาหรับแอฟริกาเหนือ เช่น ตูนิเซีย หรือลิเบีย นานแล้ว ไม่ยืดเยื้อมาเกินกว่าทศวรรษ ทำให้ตัวแสดงที่ควรพิจารณา คือ "องค์ประกอบภายใน" อย่างรัฐบาลซีเรียเอง
ตามหลักการปกครอง แม้จะได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่สักเพียงไร หากแต่ "ภาชนะ" ไม่พร้อมที่จะรองรับการสนับสนุน ก็ไม่มีทางที่การปกครอง "ภายใน" จะมีประสิทธิภาพได้ หรือ หากรัฐบาลประเทศนั้น ๆ มีองค์ประกอบที่ไม่เข้มแข็ง ในระบอบที่กำลังปกครอง ไม่ว่าจะมาจากไหน ก็ช่วยไม่ได้
ซีเรียเป็นกรณีศึกษาที่เข้าข่ายนี้ ข้อมูลจากงานวิจัย Poor Governance and Civil War in Syria เขียนโดย Mahdi Karimi และ Sayed Masoud Mousavi Shafaee เสนอว่า การปกครองที่อ่อนแอ นำมาซึ่งการก่อกบฏที่ทรงพลัง ยิ่งรัฐบาลไม่สามารถควบคุมองคาพยพของการปกครอง เช่น กองทัพ ข้าราชการ หรือประชาชนที่ให้การสนับสนุน ได้มากเพียงพอ การลุกฮือต่อต้านก็จะยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จมากเท่านั้น โดยมี 7 เงื่อนไขสำคัญที่จะชี้ว่า รัฐบาลกำลังเสี่ยงที่จะเป็นเป้าของการก่อกบฏหรือไม่ ดังนี้
- การมีส่วนร่วมของประชาชน (Participation)
- หลักนิติธรรม (Rule of Law)
- ความโปร่งใส (Transparency)
- การยอมรับและรับผิดรับชอบ (Responsiveness and Accountability)
- การอิงหลักฉันทามติ (Consensus-oriented)
- ความยุติธรรมและการนับรวมเข้าเป็นพวก (Equity and Inclusiveness)
- ประสิทธิภาพและความพอเหมาะของการปกครอง (Effectiveness and Efficiency)
เมื่อพิจารณารัฐบาลของ อัล-อัสซาด จะพบว่า "สอบตกทั้งหมด" ที่จริง ตามหลักการปกครองที่ดีนั้น เงื่อนไขที่ 5 "การอิงหลักฉันทามติ" มีความสำคัญเหนือเงื่อนไขอื่น ๆ เพราะระบอบที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง ปกครองแบบเบ็ดเสร็จ ไม่แบ่งอำนาจให้ใคร อยู่ได้ก็ต่อเมื่อประชาชนให้ความเชื่อมั่นว่าจะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้
ดังนั้น Mahdi Karimi และ Sayed Masoud Mousavi Shafaee จึงสรุปว่า แม้จะปกครองด้วยตระกูลเดียวมานานกว่าครึ่งศตวรรษ แต่หากระบอบที่เป็นอยู่นั้น "ซื้อใจประชาชนไม่ได้" โดยเฉพาะ ประเด็นด้านเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง หรือความเป็นอยู่ที่ดี หากแก้ไขไม่ได้ ความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นตามมาทันที แน่นอน รัฐบาลอัล-อัสซาด ผู้เป็นลูก ทำไม่สำเร็จ ทั้งยังมีการกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไปอย่างมหาศาล
ดังที่เห็นจาก อัตราการโหวตรับรองประธานาธิบดีของซีเรีย การให้การรับรองมีแนวโน้มที่จะ "แปรผกผัน" กับจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จากปี 1994 ที่จำนวนผู้โหวต 6 ล้านกว่าคน จากประชากร 13 ล้านกว่าคน รับรองร้อยละ 61 สู่ผู้โหวต 13 ล้านกว่าคน จากประชากร 22 ล้านกว่าคน คิดเป็นอัตราร้อยละ 51 ในปี 2012 หมายความว่า บัลลังก์ของอัล-อัสซาด พึ่งพาการค้ำยันของประชาชนน้อยลง
ที่มา: Poor Governance and Civil War in Syria
และเมื่อเสาค้ำยันอ่อนแอลง ทำให้ "อำนาจสั่งการ" กองทัพของรัฐบาลอ่อนแอลงตามไปด้วย งานวิจัย Roots of fragmentation: The army and regime survival in Syria เขียนโดย Kjetil Selvik เสนอว่า กองทัพซีเรียไม่ได้ปกครองประเทศด้วยตนเองแบบที่ อียิปต์ หรือตูนิเซีย กระทำ อัล-อัสซาด เป็น "รัฐบาลพลเรือน" ที่จะต้อง "ประสานสิบทิศ" เพื่อให้กองทัพค้ำยันบัลลังก์ของตน ตรงนี้ ถือเป็น "การแตกกระสานซ่านเซ็น (Fragmentation)" ของอำนาจในประเทศ
Kjetil Selvik ชี้ว่า ในสมัยของ ฮาฟีซ อัล-อัสซาด ผู้เป็นพ่อ สามารถควบคุมกองทัพได้อย่างอยู่หมัด ด้วย "ระบบโควตา" ที่ประธานาธิบดีจะแต่งตั้งเด็กในคาถาของตนเองเข้าไปนั่งในตำแหน่งนายพลใหญ่ ๆ แต่สำหรับ อัล-อัสซาด ผู้เป็นลูก ไม่ใช่แบบนั้น เพราะเขาให้สิทธิ์ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม" ในการใช้อำนาจในกองทัพแทนตน หมายความว่า ประธานาธิบดีไม่สามารถที่จะ "รวบอำนาจ (Seized)" เอาไว้แบบอยู่หมัดเหมือนผู้เป็นพ่อได้
กองทัพจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง "เป็นเนื้อเดียวกัน" กับฝ่ายบริหาร จึงเห็นการบุกยึดเมืองหลวงของกลุ่มกบฏ HTS ว่า สามารถกระทำการได้โดยง่าย กระนั้น แม้จะมีกองกำลังจากต่างชาติเข้าให้การช่วยเหลือ แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวนั้นเป็นเพียง "หน่วยสนันสนุน" ไม่ใช่หน่วยหน้าด่านจะจะยอมตายเพื่อปกปักประเทศที่ไม่ใช่มาตุภูมิของตน ดังนั้น ด้วยการที่ไม่สามารถคุมกองทัพได้แบบหมดจด รัฐบาลอัล-อัสซาด ก็ไม่สามารถลอยหน้าลอยตาอยู่ในประเทศได้
มหาอำนาจ เบื้องหลัง "ยึดอำนาจ"
ตามหลักรัฐศาสตร์ รัฐบาลอ่อนแอเป็นผลให้เกิดการต่อต้านและการยึดอำนาจจากศัตรูก็จริงอยู่ แต่หากพิจารณา "ต้นทุน (Costs)" ของการยอมจำนนของกองทัพต่อ "พลเรือน" ในฐานะกบฏ จะพบความแปลกประหลาดอยู่
หากกองทัพเลือกที่จะทำแบบนี้ ย่อมเกิด การเช็กบิล ที่จะตามมาได้โดยง่าย อย่าลืมว่า ประชาชนขัดแย้งกับฝ่ายบริหาร จะเป็นกองทัพที่ออกมาปราบปรามตลอด จริง ๆ หากเอาจริงก็มีอาวุธครบมือ สามารถสวนกลับได้ การยอมง่าย ๆ เช่นนี้ ไม่มีเหตุผลเลย เว้นเสียแต่กองทัพประเมินสถานการณ์ แล้วว่า ทำแบบนี้ คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม
อย่างไรก็ตาม ตามหลักการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เงื่อนไขในการเลือกที่จะไม่ทำสงครามมีอยู่ 2 ข้อ คือ อย่างแรก "จำนวน" ของศัตรูมีมากกว่า ไม่สามารถต่อกรได้ อย่างหลัง "ประสิทธิภาพ" ของอาวุธหรืออัตรากำลังของศัตรูมีมากกว่า แม้จะมีจำนวนน้อยกว่า เราก็ไม่สามารถต่อกรได้
โรเบิร์ต กิลพิน (Robert Gilpin) นักเศรษฐศาสตร์การเมือง เสนอไว้ในงานวิจัย The Political Economy of International Relations ว่า "การโอนย้ายทางเทคโนโลยี (Technology Transfer)" เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดในการยกระดับขีดความสามารถในการทำสงคราม ด้วยอาวุธที่ทรงฤทธานุภาพ และผู้ใช้งานที่เชี่ยวชาญ จะส่งผลให้ผู้ที่เสียเปรียบ พลิกกลับมาได้เปรียบในสนามสัประยุทธ์ได้
และซีเรีย เข้าทำนองนี้เพราะกลุ่มกบฏที่เข้ายึดกรุงดามัสกัสนั้น ไม่ใช่ไก่กา แต่ได้รับการสนับสนุนจาก "มหาอำนาจและมหาอำนาจกลาง" จำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ตุรกี หรือมหาอำนาจกลางในโลกอาหรับ เช่น ซาอุดีอาระเบีย หรือกาตาร์
ตรงนี้ งานวิจัย Why Drones Have Not Revolutionized War: The Enduring Hider-Finder Competition in Air Warfare เขียนโดย Antonio Calcara และคณะ ชี้ว่า องค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้ประสิทธิภาพทางด้านยุทธภัณฑ์ เรียกได้ว่าสูสีหรือขี่ ๆ ฝ่ายกองทัพไม่น้อย เช่น มีการใช้ "โดรน (Drone)" ในการโจมตีทหาร หรือมีปืนใหญ่ต่อต้านอากาศยานประจำการในฐานที่มั่น
นอกจากนี้ หากไร้ซึ่ง "การฝึกฝน" ผู้คนในกลุ่มกบฏให้สามารถ "ใช้อาวุธเป็น" แล้ว ก็จะไม่สามารถทำให้เกิดความสำเร็จในการยึดอำนาจได้ จะเห็นได้ว่า อัตรากำลังของกลุ่มกบฏ HTS ไม่ต่างจากทหาร เพียงแต่ไม่ได้สังกัดกระทรวงกลาโหมของประเทศเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากการชุมนุมประท้วงของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประชาชนได้รับการอบรมมาให้เป็น "ชนชั้นกลาง" มากกว่าจะเป็น "นักปฏิวัติ" แบบซีเรีย ทำให้ผลลัพธ์ทางการลุกฮือนั้นผิดกันไกล
"ปกครอง" กลยุทธ์ผ่านสถาบัน-สร้างสัมพันธ์ประชาชน
ทั้งนี้จากการศึกษาการเพลี่ยงพล้ำของรัฐบาลซีเรีย พบว่าเกิดจาก 2 เหตุผลสำคัญ คือ รัฐบาลอ่อนแอ และประชาชนติดอาวุธ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของ Key Success ในการทำสงครามให้ประสบความสำเร็จ แต่คำถามที่ตามมา คือ อนาคตหลังจากนี้ "การปกครอง" ของซีเรียในมือกบฏจะเป็นอย่างไร สามารถประเมินคร่าว ๆ ได้หรือไม่
หนังสือ Governing After War: Rebel Victories and Post-war Statebuilding เขียนโดย Shelley X. Liu ให้คำตอบการปกครองภายหลังจากการยึดอำนาจสงครามกลางเมือง (Post-war Consolidation) ความว่า ขั้นต้นที่จะธำรงอำนาจของการก่อกบฏไว้ คือ ต้องสร้างความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับ "ประชาชน" เป็นหลัก โดยดำเนินกลยุทธ์แบบชั่งน้ำหนัก (Leverage) ว่า ควรควบคุมประชาชนอย่างไร ให้ระบอบมั่นคง เพื่อให้ ประชาชนยอมจำนน (Succumb) ต่อระบอบใหม่นี้
ที่มา: Governing After War: Rebel Victories and Post-war Statebuilding
แต่หากทำไม่สำเร็จ Shelley X. Liu เสนอว่า มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ อย่างแรก หากไม่ได้รับสัมพันธภาพอันดีจากประชาชน กลุ่มกบฏจะต้องใช้กลยุทธ์ผ่านกลไกเชิงสถาบันหรือการพัฒนาเพื่อให้เห็นว่า ทำได้ดีกว่ารัฐบาลเดิม ประชาชนจะหันมาเข้าร่วม เพราะอย่างน้อยก็ดีกว่าให้ประเทศเป็นอนาธิปัตย์ ส่วนอย่างเลวร้ายที่สุด คือรัฐบาลสามารถโต้กลับหรือมีกลุ่มกบฏอื่น ๆ เข้ามาท้าทาย กลยุทธ์ที่ต้องใช้คือกำลังทหารสวนกลับ แต่ต้องชนะเท่านั้น หากแพ้ เท่ากับว่าจะไม่มีโอกาสกลับมาได้อีก เสียทั้งอำนาจและสัมพันธ์กับประชาชนไปสิ้น
"ดังนั้น เงื่อนไขเดียวที่จะทำให้กลุ่มกบฏสามารถปกครองได้อย่างไม่เป็นปัญหา คือ จะต้องทำให้องคาพยพต่าง ๆ เอื้ออำนวยให้เกิดสัมพันธภาพต่อประชาชนได้อย่างแน่นแฟ้น สอดคล้องกับ การอิงหลักฉันทามติ ของรัฐบาล อัล-อัสซาด ที่ไม่สามารถกระทำได้ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของกบฏว่าจะทำได้หรือไม่" Shelley X. Liu ทิ้งท้าย
แหล่งอ้างอิง
Poor Governance and Civil War in Syria, Roots of Fragmentation: The army and regime survival in Syria, The Political Economy of International Relations, Why Drones Have Not Revolutionized War: The Enduring Hider-Finder Competition in Air Warfare
อ่านข่าว
จากอำนาจสู่ล่มสลาย ปิดฉาก "อัล-อัสซาด" ครองซีเรียนาน 53 ปี