ผู้ได้รับการบำบัด เมื่อผ่านกระบวนการบำบัดทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะได้กลับไปสู่ครอบครัว และชุมชน ในช่วงเวลานี้ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ผู้ที่ผ่านการบำบัดนั้นจะกลับไปเสพยาอีกหรือไม่ มีต้นแบบชุมชนแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี ที่คนในชุมชนให้โอกาส ให้อาชีพ ทำให้ผ่านไป 2 ปี ผู้เสพคนนี้ ก็ไม่ได้กลับไปเสพซ้ำอีกเลย
ผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดอายุ 37 ปี
ชุมชน จ้างงาน-ยอมรับ ลดกลับไปเสพซ้ำ
ผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดอายุ 37 ปี เข้าออกเรือนจำ โรงพยาบาล สถานบำบัดยาเสพติด และกลับมาอยู่บ้าน หมุนเวียนแบบนี้มานานกว่า 20 ปี ซึ่งล่าสุดเขากลับมาอยู่บ้านกับแม่ได้ประมาณ 2 ปี และไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เพราะกำลังใจจากแม่ ที่ไม่เคยทอดทิ้ง
รวมทั้งคนในชุมชน ไม่รังเกียจ และพร้อมให้โอกาสเขากลับคืนสู่ชุมชน โดยการจ้างงานที่มองว่าเขาพอจะทำได้ เช่น การทำความสะอาด การแพ็กสินค้า แม้จะได้ค่าแรงไม่มาก แต่ก็ทำให้เขาพอมีรายได้เลี้ยงแม่และตนเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือความภาคภูมิใจในตัวเอง
เหมือนว่าเขาได้ตายจากเราไปแล้ว แต่ตอนนี้เหมือนเขากลับมาใหม่ เป็นชีวิตใหม่ของเขา และของเราด้วย ลูกจะดีจะชั่วอย่างไร ก็ตัดไม่ขาด เราก็ต้องโทษตัวเราเองด้วย เราเลี้ยงเขาไม่ดี
อสม. เยี่ยมบ้าน เปิดใจ-ให้โอกาส
นางธนพร อิษฎานนท์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
นางธนพร อิษฎานนท์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ระบุว่า ทุกสัปดาห์ทีม อสม.จะไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยจากยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดกลับมาอยู่ที่บ้าน เพื่อให้กำลังใจไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยว ถูกทอดทิ้งและต้องการสร้างความเชื่อมั่นรวมทั้งทีม อสม.ก็ยังช่วยสอดส่องดูแลว่าผู้ป่วยจะไม่กลับเข้าไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนวังวนเดิม
สิ่งที่เราแนะนำ เขาทำตาม ลูกบ้านให้โอกาส เขาคือผู้ป่วย พยายามบอกให้คนในชุมชนรับทราบเขาคือผู้ป่วย และต้องการโอกาส เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างโอกาสให้เขา จากวันนั้นถึงวันนี้ 2 ปี ที่เขาไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีกเลย
โปรตุเกสโมเดล ต้นแบบแก้ปัญหายาเสพติด
การปรับเปลี่ยนกฎหมายยาเสพติด ให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วย ไม่มีโทษทางอาญา และได้รับการบำบัด คืนสู่ชุมชน ไม่กลับไปเสพซ้ำอีก โมเดลนี้เป็นความพยายามของภาครัฐที่ศึกษาต้นแบบจากโปรตุเกสโมเดล ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบให้กับหลายประเทศทั่วโลกในการปฏิรูปนโยบายยาเสพติด เพราะสถิติการจับกุม ผู้ต้องขัง ผู้ใช้ยาเสพติด ผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาเสพติดลดลง ที่ผ่านมานโยบายปราบปรามแบบถอนรากถอนโคนยังพบว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ยาเสพติดลดลง
แต่นโยบายการที่ลดทอนความเป็นอาชญากรรมของผู้เสพไม่ได้มีหลักประกันความสำเร็จทั้งหมด แต่อย่างน้อยแนวทางนี้ อาจจะช่วยให้ผู้เสพอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างที่ควรจะเป็น ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจตั้งแต่ต้นทาง ควบคู่กับนโยบายการป้องกันด้วย
นายนัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ระบุว่า ผู้ป่วยจากยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดและกลับมาอยู่ในสังคม ควรได้รับโอกาสจากคนในสังคม รวมทั้งผู้ป่วยก็ควรได้รู้จักตนเอง มีแรงบันดาลใจ และควรกำหนดเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนของตัวเอง และต้องดึงศักยภาพออกมา ซึ่งเชื่อว่าทุกคนมีความดีและสามารถเปลี่ยนแปลงได้
นายนัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)
อ่านข่าว : เปิดกระบวนการบำบัด-ฟื้นฟู ลดกลับไปเสพซ้ำ
สึนามิ “ยาเสพติด” ทะลักรอบด้าน พิบัติภัย “ไทย-อาเซียน”
จับตา "เอโทมีเดท" สารตั้งต้น ส่วนผสม "ยาเสพติดประดิษฐ์ใหม่"