ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คืน "พระเจ้าตอง" หลังถูกโจรกรรม 36 ปีกลับวัดศรีปิงเมือง

ไลฟ์สไตล์
6 ธ.ค. 67
12:45
842
Logo Thai PBS
คืน "พระเจ้าตอง" หลังถูกโจรกรรม 36 ปีกลับวัดศรีปิงเมือง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมศิลปากร ทวงคืน "พระเจ้าตอง" วัตถุโบราณศิลปะล้านนาช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 พระคู่วัดศรีปิงเมือง จ.พะเยา หลังถูกโจรกรรม 36 ปี หลังประกาศประมูลที่ยุโรป หลักฐานเดียวภาพถ่ายปี 28 พบทาสีทับองค์พระ

วันนี้ (6 ธ.ค.2567)  น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีส่งมอบ "พระเจ้าตอง" กลับคืนสู่ จ.พะเยา พร้อมด้วยคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

น.ส.สุดาวรรณ กล่าวว่า ถือเป็นข่าวดีที่ประเทศไทยไทยได้รับคืน "พระเจ้าตอง" โบราณวัตถุชิ้นสำคัญกลับคืนสู่แหล่งกำเนิดในครั้งนี้ โดยเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ชาวพะเยาให้ความเคารพศรัทธา ยังถือเป็นโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าและเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ

หลังจากเสร็จสิ้นพิธีรับมอบจะอัญเชิญพระเจ้าตอง กลับไปประดิษฐาน ณ วัดศรีปิงเมือง จ.พะเยา เพื่อเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวพะเยา

“พระเจ้าตอง” หรือ “หลวงพ่อลอ” พระพุทธรูปสำคัญของชาว จ.พะเยา
วัดศรีปิงเมือง ขึ้นทะเบียนศิลปโบราณวัตถุ เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2529

“พระเจ้าตอง” หรือ “หลวงพ่อลอ” พระพุทธรูปสำคัญของชาว จ.พะเยา วัดศรีปิงเมือง ขึ้นทะเบียนศิลปโบราณวัตถุ เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2529

พระเจ้าตองถูกโจรกรรม 36 ปี

"พระเจ้าตอง" หรือ "หลวงพ่อลอ" เป็นพระพุทธรูปสำคัญของชาว จ.พะเยา เดิมประดิษฐาน ณ วัดศรีปิงเมือง หมู่ 1 บ้านเวียงลอ หล่อด้วยสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 78 ซม. สูง 110 ซม.

เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัยเข้ามาผสมผสาน ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 และนิยมสร้างอย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

จนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนศิลปโบราณวัตถุ และพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของวัดวาอาราม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2529 จากนั้นปลายปี 2531 "พระเจ้าตอง" ถูกโจรกรรมไปจากวัดศรีปิงเมือง และไม่พบเบาะแสอีก  

หลักฐานภาพถ่ายพระเจ้าตอง พระพุทธรูปศิลปะล้านนา มีเพียงหลักฐานเดียวภาพถ่ายปี 2528 พบว่าพระพุทธรูปองค์นี้เคยถูกทาทับด้วยสี

หลักฐานภาพถ่ายพระเจ้าตอง พระพุทธรูปศิลปะล้านนา มีเพียงหลักฐานเดียวภาพถ่ายปี 2528 พบว่าพระพุทธรูปองค์นี้เคยถูกทาทับด้วยสี

หลักฐานเดียวภาพถ่ายปี 28 พบทาสีทับองค์พระ

จนกระทั่งในเดือน ส.ค.2567 กรมศิลปากร ได้รับการประสานจากนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) มีผู้ให้ข้อมูลว่าพบพระพุทธรูป ที่มีพุทธศิลป์ใกล้เคียงกับ "พระเจ้าตอง" พระพุทธรูปจากวัดศรีปิงเมืองที่ถูกโจรกรรมไปกว่า 36 ปี ปรากฏอยู่ในสถานประมูลโบราณวัตถุในยุโรป

โดยให้รายละเอียดเป็นภาพถ่าย และข้อมูลในเชิงลึก จึงเป็นช่องทางสำคัญในการประสานงานกับผู้ครอบครองและสามารถนำพระพุทธรูปกลับคืนสู่ประเทศไทยได้ในที่สุด

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เมื่อกรมศิลปากรได้รับพระพุทธรูปในวันที่ 24 ต.ค.2567 จึงได้ทำการตรวจพิสูจน์ โดยใช้ภาพถ่ายและข้อมูล "พระเจ้าตอง" ที่ฝ่ายทะเบียน กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้บันทึกไว้ตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งเป็นหลักฐานเดียวในการนำมาพิจารณารูปแบบศิลปะ และรูปพรรณต่าง ๆ พบว่าตรงกัน นอกจากนี้ยังได้ทำการตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ พบว่าพระพุทธรูปองค์นี้เคยถูกทาทับด้วยสี

อ่านข่าวอื่นๆ

ราชทัณฑ์แจงยิบปมพักโทษ "เสี่ยเปี๋ยง" เข้าเกณฑ์ป่วยร้ายแรง

ศธ.เผยผลสอบข้อเท็จจริง "ครูเบญ" คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ - จนท.ประมาทเลินเล่อปมประกาศชื่อผิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง