ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฆาตกรรม "ปืน VS คนไทย" ช่องว่างกฎหมาย "ซื้อง่าย-ขายคล่อง"

อาชญากรรม
27 พ.ย. 67
16:06
3,321
Logo Thai PBS
ฆาตกรรม "ปืน VS คนไทย" ช่องว่างกฎหมาย "ซื้อง่าย-ขายคล่อง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ไม่เพียงสร้างความโศกสลดต่อครอบครัวผู้สูญเสียเท่านั้น เฉพาะในรอบเดือน พ.ย.2567 ที่กำลังจะผ่านพ้น มีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นอย่างมากมาย คดีล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ ช่วงเช้าตรู่ วันที่ 27 พ.ย. เมื่อ นายสามารถ ผู้ก่อเหตุ ใช้อาวุธปืนบุกยิง ชาวบ้าน 3 คน จนเสียชีวิต เหตุเกิดภายในบ้านหลังหนึ่ง พื้นที่ ต.โนนม่วง อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู 

และหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เพียง 2 วัน ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ปรากฏข่าว ชายใช้อาวุธปืนบุกยิงบุคคลภายในครอบครัวหนึ่ง เหตุเกิดในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ รวมทั้งหมด 4 คน อีกทั้งยังมีเด็กหญิงอายุเพียง 8 ขวบ ได้รับบาดเจ็บสาหัส

ภาพความรุนแรงดังกล่าว ไม่ใช่เหตุการณ์แรก ๆ ที่มีการใช้อาวุธปืนในพื้นที่สาธารณะ ทำร้ายผู้อื่นจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต แต่ในห้วงระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ยังปรากฏเหตุการณ์สำคัญที่มีการใช้อาวุธปืนจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต เช่น คดีกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจังหวัดหนองบัวลำภู เหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า จ.นครราชสีมา และเหตุเยาวชนกราดยิงในห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองย่านปทุมวัน ถือเป็นภาพสะท้อนการเข้าถึงอาวุธปืนของบุคคลทั่วไป หรือแม้กระทั่งเยาวชน ที่สามารถครอบครองและนำไปใช้ก่อเหตุอาชญากรรมได้อย่างง่ายดาย

มัจจุราชเงียบ 10 ล้านกระบอก อยู่ในมือใคร 

แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลจะออกคำสั่งห้ามการออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว (แบบ ป.12) เป็นการชั่วคราว กำหนดระยะเวลา 1 ปี โดยเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 19 ธ.ค.2567 โดยให้เหตุผลว่าเป็นการป้องกันไม่ให้มีการนำอาวุธปืนมาก่อเหตุสร้างความไม่สงบให้แก่ประชาชน

แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า มาตรการดังกล่าว ไม่ได้มีผลใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากมาตรการนี้จะบังคับใช้ได้เฉพาะกับคนที่มีทุนเข้าถึงอาวุธ ซึ่งมีจำนวนไม่มาก อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

ผศ.ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล นักอาชญาวิทยา อดีตประธานหลักสูตรอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า กฎหมายไทยมีช่องว่าง โดยปกติแล้วการเข้าถึงอาวุธปืนถูกกฎหมาย ต้องมีกระบวนการยื่นคำขอและตรวจสอบที่เข้มงวด การจะครอบครองได้ ผู้ที่ยื่นคำขอจะต้องมีเหตุผลรวมถึงมีฐานะเนื่องจากอาวุธปืนมีราคาแพง

แต่ปัจจุบันกลับพบว่าอาวุธปืน มีหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะปืนเถื่อนที่เป็นปืนบีบีกันดัดแปลง , ปืนไทยประดิษฐ์ , ปืนปากกา รวมถึงเครื่องกระสุน ที่ไม่มีการลงทะเบียน เพราะขั้นตอนการประกอบปืนเถื่อนทำได้ง่ายมาก โรงกลึงทั่วไปสามารถทำได้ ทำให้ปืนเถื่อนมีราคาถูกและเข้าถึงง่าย คนทั่วไปสามารถซื้อและนำไปก่อเหตุอาชญากรรมได้ อีกทั้งยังเป็นช่องโหว่การตรวจสอบจากตำรวจ

นอกจากนี้ประเทศไทย ไม่มีนโยบายการครอบครองปืนที่ชัดเจน เน้นผลการจับกุมแบบตัวเลข เพื่อโชว์ผลงาน แต่ไม่นำข้อมูลไปทำเป็นสถิติเพื่อปราบปรามอย่างจริงจัง ผศ.ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ มองว่า เกิดจากความไม่ชัดเจนในนโยบายการครอบครองปืน (Gun Policy) เพราะจะเห็นได้ว่าขณะนี้ประเทศไทยมีเพียงพระราชบัญญัติหรือข้อกำหนดทางกฎหมาย

แตกต่างจากประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายในด้านการปราบปรามก็ไม่มีข้อมูลการใช้อาวุธปืนการก่อเหตุอาชญากรรมในระดับประเทศ

“เนื่องจากในบางประเทศที่มีการระบุพื้นที่การใช้อาวุธปืนเป็นโซนสีแดง สีเหลือง และสีเขียว เพื่อนำมาวิเคราะห์แนวโน้มการก่อเหตุอาชญากรรม ที่ผ่านมามีเพียงปฏิบัติการจับกุม ที่เน้นไปแต่การโชว์ตัวเลขผลงานการจับกุมเพียงเท่านั้นแต่ไม่ได้นำข้อมูลมาเพื่อใช้ในการสกัดจับหรือเข้มงวดปราบปรามอย่างจริงจัง ส่วนตัวจึงมองว่าไทยควรมีนโยบายการครอบครองปืนโดยเฉพาะ เพื่อควบคุมและติดตามการใช้อาวุธปืน-เครื่องกระสุนในประเทศ” นักอาชญาวิทยา คนเดิม ย้ำ

กฎหมายล้าหลัง สกัดขายปืนออนไลน์ทำยาก

ข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ World population review ระบุข้อมูลที่น่าตกใจว่า พลเรือนคนไทยมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง มากถึง 10.3 ล้านกระบอก คิดเป็นสัดส่วน 15.41% ของประชากรไทย 66,090,000 คน นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศที่มีการครอบครองปืนมากที่สุดในอาเซียน และอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก

ขณะที่จำนวนปืนที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศไทย จำนวนนี้พบว่ามีปืน 5 ล้านกระบอก หรือคิดเป็นร้อยละ 50 เป็นปืนเถื่อน หรือปืนที่อยู่นอกระบบ

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า การปราบปรามอาวุธปืน มีช่องว่าง 2 ประเด็น ข้อแรกคือการเข้าถึงอาวุธปืนที่สามารถซื้อได้ผ่านช่องทางออนไลน์ เพียงแค่เปิดแอปพลิเคชันขายของออนไลน์ ก็จะพบการโพสต์ขายอาวุธปืนและกระสุนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังราคาถูก ทำให้คนทั่วไปรวมถึงเยาวชน มีไว้ในครอบครอง จนนำไปสู่การก่อเหตุอาชญากรรม ตั้งแต่ระดับเล็ก ๆ ไปจนถึงเหตุการณ์รุนแรง

นอกจากนี้ยังมี ช่องว่างทางกฎหมาย เช่นหากเข้าไปดูข้อกฎหมายในพระราชบัญญัติอาวุธปืนจะพบว่าค่อนข้างล้าหลัง ไม่ครอบคลุมการป้องกันและปราบปรามตามสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งประเด็นนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่เพียงเฉพาะจากตำรวจเท่านั้น

“กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้มงวดสกัดกั้นตั้งแต่กระบวนการต้นทาง เช่น การบล็อคร้านค้า อาวุธลักษณะนี้ ควบคู่กับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ”

ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ยืนยันว่า ที่ผ่านมาตำรวจได้เข้มงวดปราบปรามอาวุธอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่า การตรวจจับเป็นการทำงานที่ปลายทางส่วนนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ใช่เฉพาะตำรวจ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ช่วยสกัดกั้นร้านค้าหรือผู้ค้าที่มีการโพสต์ขายผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นการป้องกันประชาชนและเยาวชนเข้าถึง ควบคู่กับการส่งข้อมูลดังกล่าวให้ตำรวจตรวจสอบ

รายงานโดย :พลอยพรรณ คล่องแคล่ว ผู้สื่อข่าวอาชญากรรมไทยพีบีเอส และฉัฐพัชร์ สุวรรณยุหะ ถ่ายภาพ

อ่านข่าว

ฝากขัง "พี่สาว" ภรรยาทนายตั้ม ยังปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ทลายเครือข่ายเฮโรอีนข้ามชาติ จับ 3 ผู้ต้องหา-ยึดทรัพย์กว่า 100 ล้าน

จับชาวกัมพูชาลอบตัด "ไม้พะยูง" ป่าห้วยทับทัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง