ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชุบชีวิตคนจน "ผักอินทรีย์แปลงรวม" จ.สุรินทร์ ตามแนวทางบ้าน-วัด-โรงเรียน

สังคม
23 พ.ย. 67
06:30
147
Logo Thai PBS
ชุบชีวิตคนจน "ผักอินทรีย์แปลงรวม" จ.สุรินทร์ ตามแนวทางบ้าน-วัด-โรงเรียน
โครงการปลูกผักอินทรีย์แปลงรวม ต.ยะวึก อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ บนหลักการทรงงานในหลวงรัชกาลที่ 9 และแนวทางบ้าน-วัด-โรงเรียน กับแนวทางบ้าน-วัด-โรงเรียน ตลอดจนการสานพลังความรู้และพลังภาคี ชุบชีวิตคนจน ทำให้คนจนมีความมั่นคงยั่งยืนด้านอาชีพและรายได้
สุรินทร์เมืองรุ่งเรือง เกษตรอินทรีย์

จากคำขวัญปี 2542 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการผลิตของการเกษตร ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีสุขภาพดี และสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับคนสุรินทร์ ที่ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ และสู่โมเดล “ผักอินทรีย์แก้จน” 

จ.สุรินทร์ แบ่งการปกครองออกเป็น 17 อำเภอ 158 ตำบล 2128 หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 172 แห่ง โดยข้อมูลจากปี 2564 เส้นความยากจนของจังหวัดเท่ากับ 2,430 บาท/คน/เดือน สัดส่วนประชากรของ จ.สุรินทร์ ยากจนเป็นอันดับที่ 5 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 347,321 บาท/ครัวเรือน และในปี 2565 มีดัชนีความก้าวหน้าของคน ต่ำสุดในประเทศ

ต.ยะวึก อ.ชุมพลบุรี พื้นที่ปลายแหลม จ.สุรินทร์ ตำบลที่อยู่ในพื้นทุ่งกุลาร้องไห้ มีสภาพเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำมูลไหลผ่านทางตอนใต้ ซึ่งเป็นเส้นแบ่งอาณาเขต ของ ต.ยะวึก และ อ.สะตึก

อ.ชุมพลบุรี มีครัวเรือนยากจนเป้าหมาย 1,033 ครัวเรือน 3,935 คน เป็นครัวเรือนยากจนเป้าหมายในพื้นที่ ต.ยะวึก 250 ครัวเรือน จำนวน 897 คน และได้รับรางวัลหมู่บ้านรักษาศีล ต้นแบบระดับจังหวัด และระดับภูมิภาคปี 2566 ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา และรับจ้างทั่วไป หลังจากว่างเว้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็จะมีการทอผ้าไหม ฐานะประชากรโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลางกึ่งต่ำ

โมเดล “ผักอินทรีย์แก้จน” ต.ยะวึก เริ่มดำเนินโครงการการในช่วงกลางปี 2564 ขับเคลื่อนด้วยกลไกภาคีเครือข่าย บ้าน-วัด-ส่วนราชการ โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน และค้นหาคนจนเป้าหมายจากระบบฐานข้อมูล TPMAP PPPconnext และ Surin Poverty Database

โดยคนจนเป้าหมายส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมคือทำนาเป็นอาชีพหลัก มีรายได้จากการทำนา เบี้ยผู้สูงอายุ และบัตรสวัสดิการคนจน แต่ละครัวเรือนมีผู้สูงอายุและหลานอาศัยอยู่ด้วยกัน ส่วนวัยแรงงานจะไปทำงานในพื้นที่อื่นและส่งเงินกลับบ้านเป็นบางครั้งหรือไม่ส่งเลย 

วิเคราะห์จากข้อมูลและการประชุมระดมสมองในพื้นที่เห็นว่า อาชีพที่เหมาะสมจะพัฒนาและต่อยอดให้คนจนเป้าหมายคือการปลูกผักอินทรีย์ ตามทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 โดยเริ่มจากการให้ความรู้ในการปลูกผักแบบประณีต ตั้งแต่การบริหารจัดการแปลง การเตรียมดิน การหมักดิน ทำปุ๋ยคอกหมัก ทำน้ำหมักชีวภาพ การทำสารชีวภัณฑ์ การเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยว บนพื้นที่ของโรงเรียนบ้านยะวึก(ผจงราษฎร์วิทยาคาร) ร่วมกับภาคีเครือข่าย

จนกระทั่งเปิดเป็น “สวนผักอินทรีย์ พุทธเมตตา” เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2564 ในเมตตาพระพรหมวชิรโมลี อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 เมตตามอบปัจจัยสมทบเบื้องต้นให้ครัวเรือนละ 1,000 บาท และครัวเรือนเหล่านี้แบ่งเงิน 500 บาทมาร่วมกันจัดตั้งเป็นกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แก้จน ชุมชนยะวึก” เมื่อ 13 ส.ค.2564 และเปิดเป็น “ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์แก้จน ชุมชนยะวึก” อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนก.ย.2566

ผศ.ดร.นิศานาถ แก้ววินัด

ผศ.ดร.นิศานาถ แก้ววินัด

ผศ.ดร.นิศานาถ แก้ววินัด

พลังภาคีเครือข่าย สู่ “ผักอินทรีย์แก้จน”

ผศ.ดร.นิศานาถ แก้ววินัด หัวหน้าชุดโครงการวิจัยการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ชุดโครงการวิจัยนี้มุ่งใช้พลังความรู้จากงานวิจัย เชื่อมโยงกับพลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งบ้าน-วัด-โรงเรียน-องค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการกระตุ้นให้คนจนลุกขึ้นต่อสู้เอาชนะความยากจนด้วยตัวเอง 

ครัวเรือนยากจนในโครงการนี้ มีความทรหดอดทน และไม่ท้อแท้ท้อถอย แม้ต้องเผชิญทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ดินเค็ม แต่ก็อดทนต่อสู้ฟันฝ่ามาได้ ด้วยกำลังใจจากคณะสงฆ์นำโดยพระพรหมโมลี อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 และพระราชวิมลโมลี เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากภาคีในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศบาลตำบลยะวึก

"ชาวบ้านมีสงฆ์เป็นที่ยึดเหนี่ยว แม้วันนี้พระพรหมวชิระโมลีจะจากไปแต่สิ่งที่ท่านทิ้งไว้ ยังมีสวนผักพุทธเมตตา สวนผักอินทรีย์แก้จน ที่ต้องสานต่อไปในอนาคตเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตให้ชาวบ้านมีเงินส่งลูกเรียน เพราะท่านมองว่าการศึกษาสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้"

นอกจากนี้กลุ่มปลูกผักมีเงินหมุนเวียนทุกวัน ทำให้ชาวบ้านดีใจ ที่มีคนชื่นชมผัก ซึ่งมากกว่าตัวเงิน ที่ตีเป็นตัวเลขไม่ได้ และสิ่งหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ คือการปลุกสำนึกรักบ้านเกิด ที่จะเป็นตัวเสริมพลัง ลุกขึ้นมาสู้ทำเพื่อบ้านเกิดของตัวเองโดยการปลูกผักพื้นบ้าน โดยเลือกจากที่คนปลูกชอบกิน อย่างน้อยมั่นใจได้ว่าในครัวเรือนมีผักที่ปลอดภัยกิน หลังจากเหลือในครัวเรือนก็แบ่งปัน และจำหน่ายโดย 1 ครัวเรือนจะได้พื้นที่ 6 แปลง และใน 6 แปลงนี้จะปลูกผักไม่เหมือนกัน เพื่อได้มีผักกินที่หลากหลาย และจะหมุนเวียนชนิดผักไปเรื่อยๆ

แต่เดิมคำว่า “จน” ดูเหมือนจะเป็นการตอกย้ำ แต่ตอนนี้ชาวบ้านมีความภูมิใจที่นำชื่อเสียงมาให้หมู่บ้าน ภูมิใจที่คนรู้จัก ภูมิใจที่ได้ปลูกผัก ได้เป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้คนได้กินผักปลอดภัย 

ผศ.ดร.นิศานาถ ยังกล่าวว่านอกเหนือจากแปลงปลูกผักอินทรีย์บ้านยะวึก ยังมีการขยายผลไปทำแปลงปลูกผักสลัด และแปลงปลูกพริก ที่ ต.บึงบัว และ ต.กระเบื้องด้วย

"ครัวเรือนยากจนกลุ่มเป้าหมาย 50 ครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ยปีละ 36,000 บาท มีค่าใช้จ่ายลดลงปีละ 18,000 บาท ขณะเดียวกันกองทุนชุมชน ที่ครัวเรือนยากจนร่วมกันแบ่งปันเงินที่ได้รับมอบจากพระพรหมโมลี มาจัดตั้งขึ้นก็ขยายขนาดเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 24,000 บาท ด้วยเงินสมทบบำรุงแปลงผัก ตามสัญญาประชาคม ที่ครัวเรือนยากจนพร้อมใจกันจ่ายในอัตราแปลงละ 10 บาทต่อเดือน"

อาจารย์ชนกเนตร ชัยวิชา

อาจารย์ชนกเนตร ชัยวิชา

อาจารย์ชนกเนตร ชัยวิชา

เก็บเมล็ดพันธุ์ ลดต้นทุน 50%

ค่าใช้จ่ายมากกว่า 50% ที่หมดไปกับซื้อเมล็ดพันธุ์

อาจารย์ชนกเนตร ชัยวิชา นักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ กล่าวว่า ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ชาวบ้านเก็บเมล็ดพันธุ์เอง แต่ในปัจจุบันมองว่าเป็นความยุ่งยาก บวกกับความไม่เข้าใจวิธีการเก็บ วิธีการจัดการ ทำให้เมล็ดพันธุ์ที่ได้ไม่ได้ลักษณะที่ดีเด่นเหมือนซื้อจากตลาดทั่วไป

เริ่มจากนำเมล็ดพันธุ์ที่เก็บเองมาให้ชาวบ้านเพาะปลูก และร่วมกันทำไปพร้อมกับชาวบ้าน ค่อยๆ ให้ความรู้ตั้งแต่การซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อ แตกต่างจากที่เก็บเกี่ยวเอง ใช้เวลากว่า 2 ปีที่ชาวบ้านเริ่มเห็นความสำคัญของการเก็บเมล็ดพันธุ์เอง

"ทั้งปุ๋ยคอก น้ำหมัก ชาวบ้านสามารถผลิตได้เอง แต่สิ่งที่ต้องซื้อคือเมล็ดพันธุ์ ซึ่งบางครั้งเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาก็ไม่ได้ผลผลิต 100% แต่ในปัจจุบันผักที่ชาวบ้านสามารถเก็บเมล็ดได้เองมีทั้งผักชีจีน ผักชีลาว ผักสลัด"

วสันต์ ชิงชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์

วสันต์ ชิงชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์

วสันต์ ชิงชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์

โมเดลตอบโจทย์คนสุรินทร์

นายวสันต์ ชิงชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่าโมเดลปลูกผักอินทรีย์แก้จน เป็นโมเดลที่ตอบโจทย์คนสุรินทร์และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสุรินทร์ ด้านเกษตรอินทรีย์วิถีรุ่งเรือง ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่ให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันในรูปแบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม ซึ่งจะได้พิจารณาบรรจุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดต่อไป

“ผักอินทรีย์แก้จน โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ที่จะทำให้ยั่งยืนได้ รวมถึงมีผู้นำที่ดี ไม่ว่าพระภิกษุสงฆ์ นอกจากนี้ยังมีภาคีที่ดี ทั้งราชการเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา รวมถึงภาคการเมือง ที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าสู่ความยั่งยืน”

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

“สุรินทร์” ทุนทางสังคมดีติดอันดับประเทศ

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ระบุว่า การขจัดความยากจนมีมานาน แต่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น ยังมีครัวเรือนเปราะบาง ครัวเรือนยากจนที่ตกหล่นในพื้นที่จำนวนมาก ทำให้เกิดคำถามว่าครัวเรือนยากจนจริงๆ อยู่ที่ไหน โครงการแก้จนหลายโครงการเป็นโครงการที่ดี แต่ลงไม่ถึงประชาชนที่ยากจน
จึงเป็นที่มาของแพลตฟอร์มชี้เป้าครอบครัวยากจนในพื้นที่อย่างแม่นยำ

และจะทำอย่างไรให้ประชาชนครัวเรือนยากจน ลุกขึ้นมายืนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการช่วยเหลือในปัจจุบันคือการนำ อาชีพ เงิน ไปให้ และสุดท้ายจะมลายหายไปในช่วงเวลาอันสั้น แต่ไม่ได้ให้ปัญญา ทักษะ ทั้งนี้ต้องไปดูฐานทุน 5 ด้าน

โดย จ.สุรินทร์ มีทุนทางสังคมที่ดีติดอันดับประเทศ มีความเข้มแข็งของระดับสังคม ทั้งทางศาสนา ทางกลไกจังหวัด ทางท้องถิ่น การผนึกกำลังอย่างจริงจัง และใช้ข้อมูลความรู้นำ ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้ และทักษะ ที่ถูกต้อง และส่งผ่านโมเดลแก้จน

โมเดลหนึ่งก็คือ การทำผักปลอดภัย หรือผักอินทรีย์ ซึ่งความแตกต่างจากผักอินทรีย์ทั่วไป คือเป็นครัวเรือนยากจนที่ยังไม่ได้รับโอกาส ไม่มีที่ทางทำกิน รวมถึงไม่มีทรัพยากร จึงเป็นที่มาของการออกแบบความช่วยเหลือ จากท้องถิ่น เจ้าคณะจังหวัด ออกแบบด้านความรู้จากมหาวิทยาลัย และจากภาครัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค จากจึงทำให้เกิดกลุ่มผักอินทรีย์ขึ้นมา

“ในอนาคตอยากให้มีการแบ่งปัน จากกลุ่มต้นแบบ ยังมีกลุ่มอื่นๆ หมู่บ้านอื่นๆ ที่ยังรอความช่วยเหลือ ยังขาดโอกาส”
รามาวดี อินอุไร ประธานชุมชนปลูกผักอินทรีย์แก้จนบ้านยะวึก

รามาวดี อินอุไร ประธานชุมชนปลูกผักอินทรีย์แก้จนบ้านยะวึก

รามาวดี อินอุไร ประธานชุมชนปลูกผักอินทรีย์แก้จนบ้านยะวึก

คนจนได้รับโอกาส หวังเป็นพลังเล็กๆ ช่วยสังคม

น.ส.รามาวดี อินอุไร หรือ พี่ปรีด ประธานชุมชนปลูกผักอินทรีย์แก้จนบ้านยะวึก ซึ่งมีสถานะเป็นครัวเรือนยากจนในโครงการร่วมด้วย บุคคลที่เคยหนีความยากจนไปทำงานโรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออก ก่อนตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด

พี่ปรีด บอกว่าเริ่มเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2564 แต่ต้องเจอทั้งปัญหาโควิด น้ำท่วม ดินกรวด ดินเค็ม น้ำแล้ง หลังผ่านพ้นปัญหาเหล่านั้นมาได้ ก็เริ่มฟื้นกลุ่มเพื่อให้ทุกคนในกลุ่มได้มีรายได้ เพราะทุกคนมาด้วยใจและรับรู้ว่าเป็นคนจนที่ได้รับโอกาส

ขณะเดียวกันกองทุนชุมชน ที่ได้รับเมตตาจากพระพรหมวชิรโมลี มอบเงินขวัญถุงให้ ก็มีส่วนในการช่วยเสริมสภาพคล่องแก่ครัวเรือนยากจนได้มาก โดยครัวเรือนยากจนที่ขัดสน หรือต้องการทำอาชีพเสริม สามารถหยิบยืมไปทำทุนได้คราวละไม่เกิน 500 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย แต่ต้องจ่ายคืนภายในเวลา 1 เดือน

โครงการนี้ มีส่วนอย่างมากในการชุบชีวิตคนจน ทำให้คนจนมีความหวัง มีรายได้มั่นคงในการยังชีพ จากการปลูกผักอินทรีย์ขาย อีกทั้งยังมีรายได้จากการเป็นวิทยากรให้กับคณะที่มาศึกษาดูงานในพื้นที่

ตั้งในอยากให้กลุ่มเล็กๆ พึ่งพาตัวเองได้ และเป็นพลังเล็กๆ ที่ช่วยเหลือสังคม โดยได้กำลังใจจากคณะสงฆ์และหน่วยงานต่างๆ เพราะพวกเราอยากมีชีวิตที่ดี และอยากให้ทุกคนที่สู้เพื่อพวกเราได้ภูมิใจ
จิรารัตน์ อินอุไร

จิรารัตน์ อินอุไร

คนรุ่นใหม่กลับสู่บ้านเกิด

ไม่ใช่เพียงการสร้างอาชีพให้คนในชุมชน แต่ยังสำนึกรักบ้านเกิดให้กับคนที่ต้องไปทำงานยังพื้นที่ห่างไกลต้องการกลับมาประกอบอาชีพที่บ้านเกิด อย่าง “น้องเฟิร์น” น.ส.จิรารัตน์ อินอุไร อายุ 32 ปี เดิมทีน้องเฟิร์นทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ จ.ชลบุรี ตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี เป็นเวลาเกือบ 10 ปี รายได้เกือบ 20,000 บาทต่อเดือน เมื่อประสบปัญหาโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปมาหาสู่ครอบครัวลำบาก บวกกับภาวะความเครียดที่เกิดจากงาน จึงทำให้ตัดสินใจกลับบ้าน จ.สุรินทร์ ด้วยเงินทุน 20,000 บาท

“ความตั้งใจต้องการนำทุนมาเลี้ยงหมู แต่ต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วม และราคาหมูตกต่ำ ทำให้ทุนที่มีอยู่ค่อยๆ หมดไป ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้”

น้องเฟิร์นบอกว่า ครอบครัวมีอาชีพทำนาเป็นหลัก และเลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เริ่มต้นเข้าร่วมโครงการจากการชักชวนของประธานกลุ่มให้ปลูกผักอินทรีย์ แรกๆ ก็เกิดความท้อ อยากกลับไปเป็นลูกจ้างเช่นเดิม แต่สุดท้ายก็ต้องสู้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่อยากกลับมาอยู่บ้านเช่นเดียวกับตัวเอง

ได้แปลงผัก 6 แปลง เลือกปลูกผักที่ชอบกิน โดยเริ่มจากผักคะน้า เหลือก็นำไปขาย 

ส่วนตลาดเป็นร้านค้าชุมชน และร้านค้าใกล้เคียง และรถซาเล้งพ่วง มารับผักไปขายตามชุมชน หรือตลาด นอกจากนี้ยังมีไลฟ์สดขายผักด้วย

ส่วนปุ๋ยก็ใช้ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักที่ทำเอง โดยทางมหาลัยฯ ได้ให้ความรู้ อบรม และยังใช้น้ำหมักกับนาข้าวได้ด้วย ทำให้ต้นทุนปุ๋ยลดลง และยังขายปุ๋ยได้ และพอมาอยู่ในกลุ่มก็มีโอกาสมากขึ้น ในการทำอาชีพเสริม ทั้งหมูแดดเดียว ปลาร้าบอง ซึ่งมีรายได้เฉลี่ย 300 บาท/วัน

ได้กลับมาอยู่บ้าน อยู่กับครอบครัว มีความสุขกับสิ่งที่ทำ และไม่ค่อยป่วยเหมือนตอนทำงานออฟฟิศ และที่สำคัญได้ดูแลพ่อแม่ใกล้ชิด

อ่านข่าว :

ชุบชีวิต "ขยะ" สู่ "แฟชันสุดเก๋" สร้างแบรนด์ท้องถิ่นเพื่อสังคม

น้ำผึ้งชันโรงเสม็ดขาว สุดยอด Superfood ต้านโรคอัลไซเมอร์-มะเร็ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง