ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ดินเนอร์หรูพรรคร่วม “เพื่อไทย-เพื่อใคร”

การเมือง
22 ต.ค. 67
15:40
67
Logo Thai PBS
ดินเนอร์หรูพรรคร่วม “เพื่อไทย-เพื่อใคร”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล ณ โรงแรมโรสวูด ที่มีชื่อ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร คุณากร พี่สาวของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าของ บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น มีแกนนำจากพรรคร่วมรัฐบาลไปร่วมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

มีเมนูอาหาร อย่างหอยเป๋าฮื้อ กับคาเวียร์ หอยเชลล์ฮอกไกโด สลัดวอลนัท ซอสหัวหอม กระเพาะปลา ไก่ดำ เห็ดโมเรล กุ้งล็อบสเตอร์ ไข่ตุ๋น ปลาหิมะนึ่งกับทรัฟเฟิล ผลไม้ตามฤดูกาล และแครมบรูว์เล ของหวานสไตล์ฝรั่งเศส

อิ่มหมีพีมัน ขณะที่ผู้คนโดยทั่วไป เจอกับปัญหาค่าครองชีพ สินค้ามีราคาแพงมานานก่อนหน้านี้แล้วจนแทบขยับตัวอะไรไม่ได้ แม้ส่วนหนึ่งจะได้รับแจกเงิน 1 หมื่นบาทชุดแรก แต่ส่วนใหญ่น่าจะใช้จ่ายเกือบเกลี้ยงแล้ว

หลายครอบครัวในภาคเหนือและอีสาน ยังจมอยู่กับความทุกข์จากน้ำป่าและดินโคลนที่ไหลเข้าถล่มบ้านเรือน ส่วนคนไทยใน 3-4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งต่างผิดหวังอย่างรุนแรง เพราะคดีตากใบที่มีคนตายจาก 2 เหตุการณ์ต่อเนื่องกันรวม 85 ศพ คดีกำลังจะหมดอายุความ

นักวิชาการ ม.บูรพา อย่าง รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว จึงมีความเห็นว่า เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความแตกต่างที่ไม่ทัดเทียมกันชัดเจน เมื่อเทียบระหว่างนักการเมืองที่เป็นผู้บริหารประเทศ กับประชาชนทั่วไป

ขณะที่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เรื่องรายงานของกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งยังไม่ผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนฯ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากประธานในที่ประชุมสั่งปิดประชุมเสียก่อน ถูกนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โยนไปเป็นเรื่องของสภาฯ ไม่เกี่ยวกับฝ่ายบริหาร

โดยบอกว่า เป็นเรื่องเซนซิทีฟ (ละเอียดอ่อน) และเป็นเรื่องปกติธรรมดา (พรรคร่วมรัฐบาล) ที่จะเห็นตรงกันหรือไม่ และไม่ตรงกัน จึงขอไม่ชี้แจงมากกว่านี้ แต่ทั้งเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเข้าสู่สภาผู้แทนฯ แล้ว จะให้เป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาล หรือให้เอกสิทธิ์แต่ละพรรคนั้น นายกฯบอกว่า ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทั้งเรื่องนิรโทษกรรม จะพ่วงความผิดคดีมาตรา 112 หรือไม่ หรือประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ ต่างเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทย ไม่ยอมแสดงจุดยืนชัดเจนมาตั้งแต่ต้น และเป็นเรื่องที่ไม่ตรงปก กับเมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 จึงเป็นที่มาของทางออกโดยยื้อเวลาตั้งกรรมธิการวิสามัญศึกษา เพื่อใช้เป็นเหตุผลและข้ออ้าง เรื่องไม่ตรงกับเมื่อตอนหาเสียงเลือกตั้ง จะได้ไม่เสียหน้า

เท่ากับต้องคาราคาซังต่อไป ตราบใดที่ยังเจรจากับพรรคอันดับ 2 แต่มีอำนาจการต่อรองไม่ธรรมดาอย่างพรรคภูมิใจไทย ที่ถูกมองว่ามีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับวุฒิสภา ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ต้องอาศัยพึ่งพาสำหรับการขับเคลื่อนและบริหารประเทศ ทั้งในด้านการผลักดันร่างกฎหมายสำคัญ และเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการเจรจาต่อรองในเชิงการเมืองควบคู่กันไป อาทิ การให้ความเห็นชอบกรรมกรในองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ หรือ การเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างกฎหมาย อย่างที่เกิดขึ้นกับ ร่าง พ.ร.ป.ประชามติ ที่วุฒิสภา วีโต้ ไม่เห็นขอบตามร่างของสภาผู้แทนฯ ต้องไปตั้งกรรมาธิการร่วมในที่สุด

ไม่นับรวมอีก 2 เรื่องสำคัญ คือคำร้องของนักร้องเรียน กล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร และ 6 พรรคร่วมรัฐบาล กรณีครอบงำชี้นำตามมาตรา 28 และ 29 พ.ร.ป.พรรคการเมือง โดยเฉพาะกรณีไปประชุมหารือร่วมกันที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อเสนอชื่อนายกฯคนใหม่แทนนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งกกต.โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง รับคำร้องไว้แล้ว

อีกเรื่องคือกรณีตากใบ ที่เหตุการณ์จะครบรอบ 20 ปี ในวันที่ 25 ต.ค.2567 นี้ เท่ากับคดีจะขาดอายุความด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่และสำคัญต่อรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ในเรื่องความศรัทธาหรือรู้สึกเชื่อมั่นต่อความเป็นธรรมจากรัฐบาล รวมทั้งการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบด้วย และข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากหลายภาคส่วน ยังคงถูกละเลย

ไม่เพียงเท่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า จะส่งผลถึงคะแนนนิยมต่อพรรคประชาชาติ ที่เป็น “แชมป์เก่า” 2 สมัยซ้อนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย

ดินเนอร์หรูพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยบรรยากาศที่ชื่นมื่น ยืนเรียงพร้อมรอยยิ้มระหว่างแถลงข่าว จึงยิ่งดูคล้ายตอกย้ำความเจ็บปวดของคนพื้นที่ให้เพิ่มขึ้นโดยปริยาย

แต่รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับความมั่นคงของตนเองเป็นสำคัญ

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : อังคณาชี้รัฐรับผิดชอบ "ตากใบ" อาจเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เปิดเอกสาร “กรมป่าไม้” อนุญาตให้ “ไร่เชิญตะวัน” ใช้ที่ดินป่าสงวนฯ

จับตาพายุโซนร้อน "จ่ามี" เคลื่อนตัวใกล้เวียดนาม อาจกระทบไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง