เป็นหนึ่งใน 3 เหตุการณ์ความรุนแรง และท้าทายความรุนแรง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในปี 2547 ปีเดียว ตั้งแต่การปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ต้นเดือนมกราคม ได้อาวุธปืน 413 กระบอก และเชื่อว่า ถูกนำไปใช้ก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้
ตามด้วยเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ และพื้นที่ใกล้เคียง จ.ปัตตานี วันที่ 28 เมษายน มีผู้เสียชีวิต 108 ราย และกว่า 30 รายในมัสยิดกรือเซะ และเหตุการณ์ที่ตากใบ
เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ครั้งแรก และเป็นที่มาของคำว่า "โจรกระจอก" รวมทั้งความคุกรุ่นรุนแรงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ 3-4 จังหวัดชายแดนใต้
สำหรับเหตุการณ์ตากใบ เริ่มจากชาวบ้านไม่พอใจ ที่ตำรวจจับกุมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. ต.พร่อน อ.ตากใบ รวม 6 คน ด้วยเชื่อว่า มีส่วนรู้เห็นกับการถูกปล้นปืนโดยกองกำลังติดอาวุธ จึงรวมตัวเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว โดยมีประชาชนในพื้นที่ทยอยมาเรื่อย ๆ จนเกิดเหตุวุ่นวาย
นำไปสู่การสลายชุมนุม และควบคุมตัวขึ้นรถยีเอ็มซีโดยทหาร ไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี และนำไปสู่การสูญเสียรอบ 2 เกิดขึ้นซ้ำอีก
เมื่อเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ และภาครัฐย่อมตระหนักดีว่าเป็นประมาท และละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงได้รับการเยียวยาในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมทั้งสิ้น 641 ล้านบาท ทั้งผู้เสียชีวิต ทุพพลภาพ บาดเจ็บ พิการ และผู้ถูกควบคุมดำเนินคดี
แต่ในด้านคดีอาญา ก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการ จะว่าไปแล้วถือว่า ค่อนข้างจะล่าช้า หวุดหวิดจวนจะสิ้นอายุความคดี
คดีแรกอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 8 คน เมื่อกลางเดือน ก.ย.2567 ที่ผ่านมา มีผู้ต้องหา 8 คน นำโดย พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 (ผบ.พล.ร.5) ซึ่งเป็นผู้สั่งสลายการชุมนุม ที่เหลือเป็นระดับพลขับและผู้ควบคุมขบวนรถ สูงสุดระดับยศนายพัน
ส่วนอีกคดีที่จะหมดอายุความ 25 ตุลาคม เป็นคดีที่ฟ้องโดยประชาชนที่เป็นญาติผู้ตาย และผู้สูญเสีย ศาลจังหวัดนราธิวาส เพิ่งประทับรับฟ้องเมื่อ 23 ส.ค.2567 ก่อนนัดสอบคำให้การครั้งแรก วันที่ 12 ก.ย.2567 แต่จำเลยทั้ง 7 คนไม่มีใครปรากฏตัวต่อศาลเลย
ศาลจึงมีคำสั่งออกหมายจับรวม 6 คน ล้วนแล้วแต่เป็นระดับบิ๊ก ทั้งนายทหารและนายตำรวจระดับยศนายพลทั้งสิ้น รวมทั้ง พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า เพื่อนร่วมรุ่นของนายทักษิณ
พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช.ภาค 9) และนายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รอง ผอ.กอ.สส.จชต.) และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
ก่อนที่ล่าสุด พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาค 4 ปัจจุบันเป็น สส.เพื่อไทย จะโดนศาลอนุมัติออกหมายจับอีก 1 คน ศาลนัดสอบคำให้การอีกครั้ง 15 ต.ค.2567 ก่อนคดีจะหมดอายุความแค่ 10 วัน
มีแนวโน้มสูงที่ผู้ต้องหาในคดีทั้งหมดจะ “ไม่ไปตามนัด” เพราะถือเป็นแทคติก (ชั้นเชิง) พิเศษ ที่มักจะถูกบรรดาคนระดับบิ๊ก ๆ ที่มีเส้นสาย บารมี และพวกพ้อง จะนำมาใช้โดยการยื้อเวลากระทั่งขาดอายุความ ภายใต้การช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ ของเจ้าหน้าที่รัฐหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
อย่างกรณี “ป๋าเหนาะ” นายเสนาะ เทียนทอง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เคยมีมติเสียงข้างมากยกฟ้อง คดีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เนื่องจาก ป.ป.ช.ฝั่งโจทก์ ไม่ได้นำตัวจำเลยไปส่งศาลตามกำหนดเวลา ทำให้ขาดอายุความ เมื่อปี 2553
ล่าสุด กรณีนายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีต รมว.วัฒนธรรม ในฐานะอดีตนายกฯ เมืองพัทยา ในคดีออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารให้แก่บริษัท บาลีฮาย จำกัด โครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ 2.มีคำสั่งยกฟ้อง เพราะคดีขาดอายุความ
คดีตากใบที่กำลังจะหมดอายุความ จึงมีคำถามใหญ่ๆ ไปถึงเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะตำรวจ เหตุใดจึงอุ้ยอ้าย ขาดความฟิต ที่จะติดตามบรรดา สว.หรือผู้สูงวัยเหล่านี้ ซึ่งอายุ 70-80 กันแล้วได้
และไม่ต้องสงสัย เมื่อคดีขาดอายุความ คงจะได้เห็นคนระดับบิ๊กเหล่านี้ โผล่ปรากฏตัวทำภารกิจโดยปกติต่อไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สะท้อนและยืนยัน “ค่าของคน” ระหว่างคนจนกับคนรวย ไม่เท่ากันจริง ๆ
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : เด็กหญิง 14 ปี บาดเจ็บเหตุไฟไหม้รถบัส อาการดีขึ้น กินอาหารได้
น้ำท่วมเชียงใหม่ ปรับ 12 ขบวนรถไฟสายเหนือจอดสถานีลำปาง
ด่วนที่สุด! เขื่อนเจ้าพระยาปรับระบายน้ำ 2,400 ลบ.ม.ต่อวินาที