ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ส่องเบื้องลึก “คดีตากใบ” ปริศนา “ดองสำนวน” 19 ปี

อาชญากรรม
19 ก.ย. 67
16:06
2,719
Logo Thai PBS
ส่องเบื้องลึก “คดีตากใบ” ปริศนา “ดองสำนวน” 19 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ถึงขณะนี้ “คดีตากใบ” กำลังเดินมาสู่จุดที่มีการฟ้องผู้ต้องหา 2 ชุด

ชุดแรกคือประชาชนญาติผู้เสียชีวิตฟ้องเองกับศาลนราธิวาส

ซึ่งผู้ต้องหาชุดนี้ ที่ศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2567 มี 7 คน ประกอบด้วย พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5

พล.ต.ท.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และเป็นอดีต สว. พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ยศขณะนั้น ในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อดีต สว. พ.ต.อ.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีต ผกก.สภ.ตากใบ ในขณะนั้น

นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายวิชม ทองสงค์ ในเวลานั้น เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

ชุดที่ 2 ที่ล่าสุด อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องเมื่อ 12 ก.ย.2567 (เผยแพร่ 18 ก.ย.) มี 8 คน นำโดย พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ผู้ต้องหาที่ 1(ซึ่งเป็นคนเดียวที่มีรายชื่อถูกสั่งฟ้องทั้งสองชุด) ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส ผู้ต้องหาที่ 2 นายวิษณุ เลิศสงคราม ผู้ต้องหาที่ 3 ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสาร

ผู้ต้องหาที่ 4 นายปิติ ญาณแก้ว ผู้ต้องหาที่ 5 พ.จ.ต.รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 6 พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ต้องหาที่ 7 ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 8 ซึ่งผู้ต้องชุดนี้เกี่ยวข้องกับการขนย้ายผู้เสียชีวิต ไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี นำโดยผู้บัญชาการ และพลขับ

ซึ่งผู้ต้องหาชุดที่ 2 นี้ เป็นชุดที่พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี เคยทำสำนวนวิสามัญฆาตกรรม ก่อนมีความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง” โดยอ้างว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ก่อนส่งสำนวนการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ที่ถูกควบคุมตัวทั้ง 78 คน ให้พนักงานอัยการปัตตานี เมื่อปี 2547

ต่อมามีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามขั้นตอน แต่ระหว่างนั้น การไต่สวนถูกโอนสำนวนไปที่ศาลจังหวัดสงขลา และในปี 2548 ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งว่า ผู้ตายทั้ง 78 คน มีเหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ “ขาดอากาศหายใจ” ระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ก่อนที่พนักงานอัยการ จะส่งเอกสารพร้อมถ้อยคำสำนวน คืนให้กับพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก เพื่อส่งสำนวนวิสามัญฆาตกรรม ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณา มีความเห็นแย้งกับพนักงานสอบสวนและคำสั่งฟ้องหรือไม่

แต่หลังอัยการสูงสุดได้รับสำนวนวิสามัญฆาตกรรม และสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลาจาก พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วได้มีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในหลายประเด็น และกำหนดให้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมภายในวันที่ 31 ก.ค.2567

ตัวเลขห้วงเวลาดังกล่าว กลายเป็นปมคำถามสำคัญว่า ทำไมกระบวนการยุติธรรม จึงมาเริ่มต้นในช่วงที่คดีใกล้จะหมดอายุความ

และกว่าจะมีคำสั่งฟ้องโดยอัยการสูงสุด ก็มีการขยับจากภาคประชาชนมาก่อน เพราะหลังจากญาติผู้เสียชีวิต พยายามเคลื่อนไหวขอฟ้องตรงกับศาลจังหวัดนราธิวาส ก็ได้ส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงอัยการสูงสุดให้เร่งรัดคดี เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2567

ทว่าต่อมา วันที่ 2 ก.ค.2567 สำนักงานคดีอัยการสูงสุด มีหนังสือตอบกลับประชาชน (หนังสือเลขที่ อส 0031.3/348) โดยมีคำสั่งยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งเป็นบริบทที่แปลก เพราะที่ผ่านมา หนังสือประเภทนี้มักใช้เป็นคำสั่งยุติการสอบสวน กลับมาใช้คำสั่งยุติกับการร้องขอความเป็นธรรมของประชาชน

แต่ท้ายที่สุดอัยการสูงสุด ก็มีความเห็นแย้งพนักงานสอบสวน ให้สั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ในคดีตากใบ ข้อหาร่วมกันเจตนาฆ่า โดยมีคำวินิจฉัยว่า แม้จำเลยทั้ง 8 คน จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียง 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมกว่าพันคน อันเป็นการแออัดเกินกว่าวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงคำสั่งเมื่อ 12 ก.ค.2567 เท่ากับระยะเวลา 19 ปี ที่สำนวนถูกดองไว้ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่มันเกิดขึ้นในขณะที่คดีจะหมดสิ้นอายุความ ในอีกประมาณ 1 เดือน ซึ่งยังมีขั้นตอนที่อัยการสูงสุดให้ความเห็นส่งไปให้อัยการจังหวัดปัตตานี และทางอัยการจังหวัดปัตตานี ต้องส่งเรื่องไปยังพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก ติดตามต้องหาทั้งหมดมารับทราบข้อกล่าวหา

หากไม่นำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลได้ทันตามกรอบเวลา จะถือว่าคดีสิ้นสุดลง ขาดอายุความคดีอาญา 20 ปี ไม่สามารถดำเนินคดีได้อีก ในขณะที่มีข่าวว่า ผู้ต้องหาบางรายเดินทางไปต่างประเทศ โดยอ้างว่าไปรักษาตัว

ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อการสั่งฟ้องเกิดขึ้นล่าช้า ผู้ต้องหาส่วนใหญ่มีอายุมากแล้ว จึงมีปัญหาสุขภาพได้ จึงต้องย้อนถามว่า เหตุของการฟ้องที่ล่าช้าเกิดจากอะไร

คดีตากใบ และกระบวนการยุติธรรมล่าช้า เป็นหนึ่งในคดีที่พิสูจน์ให้เห็นว่า นโยบายความมั่นคงของรัฐ-อำนาจรัฐในขณะนั้น มีผลต่อกระบวนการยุติธรรม มีคนตายถึง 78 ศพในคราวเดียวกัน ผ่านมาเกือบ 20 ปี ยังเอาผิดใครไม่ได้เลย

และรอให้อัยการสูงสุดในฐานะทนายแผ่นดิน ทำความเห็นแย้งพนักงานสอบสวนและมีคำสั่งฟ้องก็ต้องใช้เวลาถึง 19 ปี และหมิ่นเหม่ที่ผู้ต้องหาจะหลุดรอดด้วยอายุความ

แม้แต่โฆษกอัยการสูงสุดปัจจุบัน ก็ไม่สามารถตอบได้ว่า ต้นตอปัญหาของความยุติธรรมที่ล่าช้าคืออะไร จึงโยนปมนี้ไปให้ทางตำรวจ อ้างว่าไม่สามารถเข้าไปเร่งรัดสำนวนได้

ต้องถามไปทางตำรวจว่ามีเหตุผลใด จึงดึงสำนวนไว้นานขนาดนี้ เกี่ยวพันกับการเปลี่ยนรัฐบาลหรือไม่ และนี่ยังไม่นับถึงการสิ้นสุดในทางคดี ที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ทั้งหมดนี้ยังเป็นปริศนาหลุมดำในหัวใจของชาวบ้าน ญาติผู้สูญเสียในคดีตากใบทุกคน

วิเคราะห์ : ณรรธราวุธ เมืองสุข บรรณาธิการข่าว ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : อัยการสูงสุด สั่งฟ้อง 8 ผู้ต้องหาคดีตากใบ

ศาลนราธิวาสออกหมายจับ 6 จำเลยคดีตากใบ หลังไม่มาตามนัด

เช็ก 64 จังหวัดเสี่ยง "พายุซูลิก" ถล่ม 19-23 ก.ย.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง