นับตั้งแต่ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี "แพทองธาร ชินวัตร" และพรรคเพื่อไทย ถูกนักการเมือง และนักร้องทางการเมือง ยื่นเรื่องต่อองค์กรอิสระต่าง ๆ ตรวจสอบการกระทำที่ส่อผิดในกฎหมายเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561
และจนถึงวันนี้ (17 ก.ย.2567) พบว่ามีการยื่นคำร้องให้ตรวจสอบนายกฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 14 คำร้องแล้ว ยังไม่รวมคำร้องล่าสุดของ คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ร้อง ครม.แพทองธาร ผิดเงื่อนไขเข้าบริหารประเทศ แถลงนโยบายขัดรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ขัดต่อมาตรา 62 วรรคหนึ่ง
ทั้งนี้ หากนับเฉพาะคำร้อง ของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐคนเดียวก็มีถึง 6 ร้อง ขณะที่กลุ่มนิติชน-เชิดชูธรรม ได้ยื่นคำร้องจำนวน 5 คำร้อง, บุคคลนิรนามอีก 6 คำร้อง, นพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว, สนธิญา สวัสดี ฯลฯ
ยืมดาบฆ่าคน กลศึก สยบศัตรูการเมือง
ยืมดาบฆ่าคน ไม่ต้องลงมือเอง ถือเป็นกลยุทธ์รูปแบบหนึ่ง ในการกำจัดศัตรูทางการเมือง ไม่ต้องเสียกำลังรบ ไพร่พล ขอเพียงมีมือกฎหมายเก่ง ๆ ก็สามารถ "สอย" ฝ่ายตรงข้ามให้ร่วงจากสนามการเมืองได้ และสนามรบการเมืองไทย ก็ถูกอาวุธพุ่งเข้าใส่ไม่ยั้ง ผ่านการใช้วิธีการร้องเรียน หรือยื่นคำร้อง ต่อหน่วยงานหลัก ๆ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานป้องกันและปราบการการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานอัยการสูงสุด
ข้อมูลในยุทธจักรนักร้องเรียน ระบุว่า ผู้ยื่นคำร้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีหลายคน ทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ ที่จัดอยู่ในขาประจำ และยังพบอีกว่า คำร้องที่ยื่นไปก็มีหลายประเภท เช่น คำร้องที่ไม่มีการระบุตัวตน เหมือนบัตรสนเท่ห์ และคำร้องและเรื่องที่ร้อง ปรากฏชัดเจน ตัวผู้ร้อง เรื่องที่ร้อง ที่มา-ที่ไป มีหลักฐานเอกสารประกอบ ทั้งเอกสารข่าว หลักฐานราชการ คลิป เช่น ทำผิดกฎหมายข้อบังคับ กฎระเบียบ หรือข้อห้าม เชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงอย่างไร ผิดกฎระเบียบ กฎหมายข้อบังคับตาม รธน.หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ในอดีตมีข้อมูลระบุว่า นักร้องส่วนใหญ่ มักจะได้รับค่าตอบแทน หากคำร้องดังกล่าวได้รับการประทับรับฟ้องจากหน่วยงานที่เข้าไปยื่น แสดงว่า คำร้องผ่านการกลั่นกรอง มีการเสนอข่าวจากสื่อ ว่ากันว่า ราคาค่าเขียนคำร้องและค่าตัวที่จะต้องจ่ายให้ผู้เข้ายื่นคำร้อง ราคาจะอยู่ที่ 200,000 บาท กลุ่มนี้ถือเป็นมืออาชีพ มีทีมกฎหมาย ตรวจสอบคำร้องก่อนยื่น มีเป้าหมายชัดเจน ค่าดำเนินการจะถูกหรือแพง ขึ้นอยู่กับ ความยากง่ายและผลสัมฤทธิ์ทางคดี
และหากคำร้องของผู้ร้องที่หวังผลทางการเมือง ได้รับการพิจารณา ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกับผู้ถูกร้อง เป็นคดีนำขึ้นสู่การตรวจสอบ วินิจฉัย เช่น ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ยุบพรรคการเมือง ห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิต จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับ ตัวเลขที่ได้รับค่าตอบแทนสูงถึง 7 หลัก
"นักร้องเรียนมืออาชีพ มีทั้ง นักร้องอุดมการณ์ นักร้องอิสระ และนักร้องมีสังกัด พวกมีค่ายมีสังกัด จะมีเป้าหมายชัด ทำงานให้เข้าตา มีรางวัล อาจได้เป็นตำแหน่ง หรืออามิสสินจ้าง แต่การร้องเรียนหรือการยื่นคำร้อง ก็ใช่ว่าจะไม่ถูกตรวจสอบกลับ และผู้ร้องอาจถูกดำเนินคดีในข้อหา ร้องเท็จ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง และเจอข้อหาหมิ่นประมาทได้ หากผู้ถูกร้อง ไม่มีความผิด"
"สนธิญา" หนึ่งในยุทธจักรนักร้องทุกสีเสื้อการเมือง
"ถ้าให้นิยามตัวเอง ผมว่า ตัวเองเป็นคนมีอุดมการณ์ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ทำงานตรวจสอบมาตั้งแต่ 2550 เราไปยื่นฟ้องเขา ก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง เพราะหากเรื่องที่ฟ้องเป็นเท็จ ผู้เสียหายที่ถูกเราร้อง ก็ใช้สิทธิตามกฎหมาย ฟ้องกลับเราได้ เช่นกัน ผมก็ถูกฟ้องกลับมา 7-8 คดีแล้ว เวลาจะทำอะไรก็ต้องระวัง โดยเฉพาะเรื่องการฟ้องเท็จ เพราะโทษตามกฎหมายพรรคการเมือง การฝ่าฝืนมาตรา 101 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
สนธิญา สวัสดี บอกว่า เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มเข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานอัยการสูงสุด ขอให้ตรวจสอบความซื่อสัตย์สุจริตและการฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายเดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข รวมถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จากกรณีที่นายกฯ แต่งตั้งให้ทั้ง 2 คนเป็นรัฐมนตรี
การยื่นเรื่องร้องเรียน ไม่เคยถูกใครจ้างมา ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร แต่ห่วงนายกฯ ตอนนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ตนเองพิจารณาข้อมูลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่หัวหน้าพรรคต่าง ๆ ไปพบทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้า และเรื่องสนามกอล์ฟอัลไพน์ ที่ หรือเรื่องอื่น ๆ ที่อาจจะมายื่นเรื่องร้องสอบในอนาคต
"เรื่องการรับงาน หรือการจ้างวาน สำหรับผม ไม่มี ผมทำตามอุดมการณ์ เราไม่เคยมีเรื่องแบบนี้ แล้วชีวิตส่วนตัวไม่ได้เดือดร้อนอะไร ภรรยาเป็นครู ลูกก็เรียนจบแล้ว แต่เมื่อเราเห็นอะไรที่ไม่ถูกต้อง ก็ต้องใช้สิทธิตามตามที่กฎหมายเปิดช่อง แล้วที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกับใคร สำหรับเข้ายื่นหนังสือร้องเรียน ที่มีชื่อปรากฏในสื่อ บางคนเคยเห็นหน้า แต่ไม่ได้รู้จักสนิทสนมกัน คนร้องส่วนใหญ่ที่เห็น แม้จะมีแต่คนหน้าเดิมก็จริง แต่ถ้าเขาไม่ทำ แล้วใครจะทำ"
ส่วนเรื่องการจ้างงาน หรือรับจ้างร้องเรียน สนธิญา เชื่อว่า ในอดีตอาจบ้างมี แต่ปัจจุบัน ไม่น่าจะมีแล้ว เพราะยุคนี้สามารถตรวจสอบได้ง่าย สำหรับผู้ร้องหรือนักร้องในสังกัดพรรคการเมือง ถือเป็นหน้าที่ของเขาก็ทำไป เราไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกัน
"ธีรยุทธ" กระบี่มือกฎหมายร้องยุบพรรคก้าวไกล
"ของฟรี ไม่มีในโลก มีหรือคนเราจะทำอะไร โดยไม่หวังผลตอบแทน ผมยืนยันว่า มี หากคำ ๆ นี้ ออกมาจากนักเคลื่อนไหวที่รับค่าจ้าง เขาจะคิดแบบนี้ แต่กับคนทำงานในลักษณะ จิตอาสา หรือสาธารณะ จะเข้าใจว่า คนประเภทนี้มีแน่นอน เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติก็เช่นเดียวกัน คือ สิ่งที่ได้มีเพียงคำชม หรือความปลื้มปิติที่ได้มา และทำกฎหมาย ให้เป็นกฎหมาย ก็แค่นั้น"
ธีรยุทธ สุวรรณเกสร อธิบายว่า มีอาชีพเป็นนักกฎหมายและใช้สิทธิตามหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เช่น การยื่นคำร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล คดีล้มล้างการปกครอง มาตรา 112 ตามมาตรา 49 ระบุชัดเจน เรามีหน้าที่พิทักษ์ ก็มีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญได้ เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยเรื่องในเรื่องที่เป็นคุณกับบ้านเมืองเท่านั้น
คนอื่น ๆ เราไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงว่า เขาจะถูกว่าจ้างหรือมีการเรียกรับผล ประโยชน์จากใคร แต่ถ้าคิดในทางสุจริต คือ ก็ใช้สิทธิ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมายที่มีอยู่และผ่านการศึกษามาอย่างเข้าใจและมั่นใจ
ธีรยุทธ มองว่า การยื่นคำร้อง รัฐบาลแพทองธาร หากแยกเป็นรายคำร้องอาจเห็น ความน่าเบื่อและความฟุ่มเฟือย ว่า ไปรุมกินโต๊ะเขาหรือไม่ แต่หากจับประเด็น 10 กว่าคำร้อง มัดรวมเป็น 1 ก็จะเห็นความเข้มข้นของคำร้องขึ้นมาทันที เพราะเนื้อหาที่แต่ละคนที่เขียนไปในคำร้อง จะมีแง่มุมทางกฎหมายที่ชี้ลงไปตามข้อกฎหมายที่ใช้อาจจะคล้ายคลึงกัน แต่แง่มุมในทางเหตุผล หากทำมาร้อยเรียงต่อเนื่องเชื่อมโยงให้เป็นประโยครวมเป็นก้อนเดียวจะทำให้มีความเข้มข้นสูง
หากเปรียบเทียบก็เหมือนกับการนำสารเคมีต่างชนิดกัน มาผสมรวมกัน อย่างพอเหมาะพอควร ประสิทธิภาพการทำลายล้างมันก็จะสูง
สำหรับคำร้องเรื่อง การทำท่ามินิฮาร์ทในชุดเรื่องแบบปกติขาว ซึ่งนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น แม้ส่วนใหญ่จะมองมากเป็นประเด็นเล็กน้อย แต่ ธีรยุทธ บอกว่า ไม่แน่ สิ่งเล็กๆน้อยที่นำมาร้อง คนอื่นมองแบบนี้ แต่มันอาจกลายเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมา ของผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมาย และเรายังไม่ได้เห็นหลักคิดที่ผู้ร้องใช้
"การทำคำร้อง ผมจะทำคนเดียว ข้อมูลที่นำมาใช้ จากหลายส่วน ประมวลข้อมูลจากสื่อมวลชน นักวิชาการทางกฎหมายและส่วนอื่น ๆ เราก็จะเก็บ ตรงนั้นมาทำงาน แล้วค้นคว้าเพิ่มเติมจากสิ่งที่ท่านเหล่านั้นพูด นั่นคือ ธงที่ศาลนำมาใช้ในคดี กรณี นายเศรษฐา ทวีสิน เรื่องหลักจริยธรรมของวิญญูชน คือ บริษัท สื่อมวล ประชาชน และนักวิชาการ เหตุผลของทุกภาคส่วนที่รับรู้และมองเหมือนกัน คือบรรทัดฐานของวิญญูชน"
ธีรยุทธ ขีดตัวเองว่า เป็นนักกฎหมาย แสดงความคิดเห็นและพูดเฉพาะข้อกฎหมาย และนำข้อเท็จจริงของผู้มีความรู้ต่าง ๆมานำเสนอ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ไม่รีบด่วนปรักปรำผู้ถูกร้องว่า ผิด เพราะกฎหมายออกแบบให้สันนิษฐานมาก่อนว่า ผู้ถูกร้องยังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษา
ยุทธวิธี "ฝุ่นตลบ" ใช้มืออาชีพสร้างความสับสน
ไทกร พลสุวรรณ นักเคลื่อนไหวการเมือง กล่าวถึง การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในประเด็นการเมืองว่า ทั้ง นักร้องอิสระ นักร้องมีค่าย นักร้องรับจ้าง ถือเป็นการใช้ยุทธวิธีทางการเมืองเพื่อสร้างความสับสนอลหม่าน ทำให้ฝุ่นตลบ คู่ต่อสู้จะไม่ทราบว่า อาวุธสังหารที่แท้จริงมาจากเรื่องไหน เรื่องอะไร ทำให้ปัดป้องไม่ทัน
"การเคลื่อนไหว ยื่นคำร้อง เป็นการหวังผลเพื่อให้เกิดกระแสเบี่ยงเบน ให้เกิดการตำหนิ ความเกลียดชัง ดึงสติฝ่ายฎหมายของพรรคเพื่อไทยให้เกิดอารมณ์ ไม่ได้ดูข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับ คือ นายเรืองไกร เป็นนักร้องมีค่าย ที่มากความสามารถ และมีอาวุธครบเครื่อง มีดสั้น มีดดาบ มีดปังตอ ก้อนอิฐ ไม้หน้าสาม เขวี้ยงใส่ได้หมด แล้วแต่ก้อนไหนจะถูก แต่เท่าที่ดูคำร้องทั้งหมด ยังไม่สามารถหยุดนายกฯ จากเพื่อไทยได้"
ไทกร มองว่า มี 2 ประเด็นที่ทำให้นายกฯ อวสานได้ คือ สนามกอล์ฟอัลไพน์ แม้ปัจจุบัน แพทองธาร จะออกจากกรรมการบริษัทฯ ไปแล้วก็ตาม แต่การถือหุ้นตั้งแต่ศาลฎีกาไม่รับฎีกาแล้ว และยังไม่ยอมคืนที่ดินให้วัด ถือว่า สุ่มเสี่ยงมาก และหากเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาดู ที่ดินซื้อจากนายเสนาะ เทียนทอง เมื่อปี 2543 เป็นการซื้อแบบสุจริตก็จริง แต่ภายหลังทราบว่าเป็นที่ดินของวัดแล้ว และยังพยายามใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ยกเลิกการเพิกถอนโฉนด จนทำให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ต้องติดคุก หลังจากไปออกคำสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนด มีการสู้คดีลากยาวตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2563 คดีนี้สิ้นสุดแล้ว สนามกอล์ฟอัลไพน์ ต้องกลับไปเป็นที่ดินวัด แต่เขาไม่ยอมคืน
ส่วนอีกกรณี คือ กรณี กกต. ให้ใบเหลือง นายชาญ พวงเพ็ชร์ ว่าการเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม เพราะคดีนี้ แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เดินทางลงพื้นที่ไปช่วยหาเสียง และกรรมการบริหารพรรคไม่ยับยั้งการกระทำความผิด เป็นเหตุให้ยุบพรรคในข้อ 20 หลักฐานตรงนี้ชัดมาก ส่วนประเด็นอื่น ๆ ยังไม่มีหลักฐานชัดเท่าไหร่
นอกจากนี้ยังมีอีกคำร้องที่น่ากลัว คือ ของคณะนิติไทกรชน-เชิดชูธรรม ที่เอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นตัวประกอบว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไปพบ ทักษิณ ชินวัตร แล้วตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ตรงนี้ถือว่า อันตราย
นักร้องปริศนา กลุ่มแนวร่วมไม่เอา "ทักษิณ"
นอกจากนักร้องอิสระ มีค่าย มีสังกัดแล้ว ปัจจุบันยังมีกลุ่มบุคคลปริศนา ซึ่งในวงการการเมอง ระบุว่า ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่ม 40 สว.เดิม เป็นนักกฎหมายระดมทีมรวมตัวกัน พิจารณาคำร้องต่าง ๆ กลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในซุ้ม "ลุงบ้านป่า" แบบ 100% แต่ถือเป็นแนวร่วมสำคัญที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลและไม่เอา "ทักษิณ ชินวัตร"
ส่วนจะได้รับการสนับสนุน หรือมีคำมั่นสัญญาว่า ล้มรัฐบาลแล้ว และมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ คนเหล่านี้จะเข้าไปทำหน้าที่อย่างใด อย่างหนึ่งหรือไม่ ก็มีโอกาส เขาไม่ได้ยื่นคำร้องเพื่อเอาค้าจ้าง แต่ต้องการทำเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายทางการเมือง เมื่อสำเร็จแล้วก็จะได้ประโยชน์ทางการเมือง คือ ตำแหน่งหรือหน้าที่ พวกนี้เป็นของจริง
สำหรับการรับค่าจ้างร้องเรียน แหล่งข่าวยอมรับว่า ในอดีตมีจริง โดยเฉพาะพวกที่ยื่นคำร้อง เพื่อเรียกรับเงิน เช่น ที่ไปยื่นคำร้องกับ ป.ป.ช. เอาผิดข้าราชการระดับสูง เพื่อให้เขามาเคลียร์ หรือให้พวกที่ถูกร้องมาเคลียร์ เช่น อย่าเพิ่งไปให้การ ช่วยดึงคดี ส่วนใหญ่ฟ้องร้องหน่วยงาน ราชการ ข้าราชการ ระดับอธิบดี กรมต่าง ๆ หรือผู้มีตำแหน่งราชการที่กระทำความผิด ทุจริต ซึ่งการร้องลักษณะนี้จะมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง คือ เมื่อร้องแล้ว ป.ป.ช. เรียกก็ไม่ไปให้การ ส่วนการทำคดีเอกชนและมีการเรียกรับเงินถือเป็นเรื่องปกติ
แหล่งข่าวระบุว่า ในช่วงนี้ หากพลิกดูรายชื่อบุคคลที่ปรากฏ ไม่ว่า จะเป็น นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม, นพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว, สนธิญา สวัสดี, หรือ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร พวกนี้มีอุดมคติสูง ในขณะ "เรืองไกร" ต้องทำเพราะนอกจากจะเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และเคยได้รับตำแหน่งสำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะในฐานะประธานกรรมาธิการงบประมาณ ซึ่งส่วนนี้ได้ประโยชน์ทางการเมืองกว่า การได้รับค่าจ้างอีก คำร้องบางราย เป็นการร้องแบบเอาคืน เช่น ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองหรือองค์กร เป็นต้น
แต่สำหรับการยื่นเรื่องการเมือง กรณีแพทองธาร การยื่นไม่ได้เอาเงิน แต่ คือ การโค่นล้ม เอาจริง ๆ คือ สถานการณ์ร้องเพื่อเอาค่าจ้างไม่น่าจะมี แต่มีการร้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และล้างผลาญกันทางการเมือง
อ่านข่าวเพิ่ม :