ปัดฝุ่น 34 ปี "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ชาวบ้านห่วงกระทบชุมชน-ป่าไม้

สิ่งแวดล้อม
2 ก.ย. 67
20:02
2,190
Logo Thai PBS
ปัดฝุ่น 34 ปี "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ชาวบ้านห่วงกระทบชุมชน-ป่าไม้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

การสร้างเขื่อน เป็นวิธีคิดที่มาจากการบริหารจัดการน้ำที่ว่า น้ำเหนือมีแม่น้ำ 4 สายหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน ซึ่งแม่น้ำ 3 สายหลัก ปิง วัง และ น่าน ซึ่งมีเขื่อนอยู่แล้ว แต่ "แม่น้ำยม" เป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไม่มีเขื่อน ทำให้การบริหารจัดการน้ำทำได้ยาก

ในปีนี้ "น้ำยม" เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมหนัก ตั้งแต่พะเยา แพร่ และ สุโขทัย จึงไม่แปลกที่จะพูดถึง "เขื่อน" ที่จะใช้ชะลอน้ำ นั่นคือเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ผลักดันมานานเกือบ 40 ปี

ถ้าไม่นับเรื่องการเมือง คำถามสำคัญ คือ วันนี้ถ้ามี "เขื่อนแก่งเสือเต้น" น้ำจะไม่ท่วมจริงหรือไม่

"ปลอดประสพ" ชี้ "เขื่อนแก่งเสือเต้น" แก้น้ำท่วม

นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ้างว่า ช่วงนี้สุโขทัยจะมีมวลน้ำ เกือบ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จะช่วยเก็บกักน้ำได้กว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มีมวลน้ำไปยังพื้นที่ท้ายน้ำ ประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งชลประทานสามารถพร่องไปส่วนอื่นได้

ทั้งนี้อ้างว่าไม่ได้ดันเรื่องนี้แบบสุดซอย แต่อยากให้ศึกษาใหม่ ซึ่งอาจจะขยับแนว หรือลดขนาดโครงการหรือไม่

เมื่อเรื่องนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่าง นายปลอดประสพ จึงเสนอให้สำรวจความคิดเห็นทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ทำโพล 100% ในพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก ประมาณ 10 กว่าล้านคน 

"เขื่อนแก่งเสือเต้น" ไม่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม

ขณะที่ ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ระบุว่าการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม

ปริมาณน้ำท่า ลุ่มน้ำยมจะมีปริมาณน้ำท่าประมาณ 4,143 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ ซึ่งสามารถจุน้ำได้ประมาณ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร และลุ่มน้ำยมจาก จ.พะเยา จนถึงพิจิตร มีลำน้ำสาขาถึง 19 ลำน้ำสาขา ซึ่งไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอ

และหากมีน้ำเยอะในพื้นที่ท้ายเขื่อน (ลุ่มน้ำยมมี 19 ลุ่มน้ำสาขา) ก็ทำให้น้ำท่วมพื้นที่ท้ายน้ำอยู่ดี

ต่อให้มีแก่งเสือเต้น น้ำก็ยังท่วมสุโขทัย เพราะตำแหน่งที่จะสร้างจะเป็นน้ำที่ลงสุโขทัยแค่ 10%

ในฐานะที่ ผศ.สิตางศุ์ เป็นนักวิชาการที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ก่อนปี 2554 เชื่อว่า มีเหตุผลเดียวที่รัฐบาลเลือกปัดฝุ่นโครงการนี้

รัฐบาลเพื่อไทยกลับมา ก็ยกโครงการเก่าๆ ขึ้นมา ประกอบกับน้ำท่วมสุโขทัย ไม่น่าแปลกใจที่แก่งเสื้อเต้นจะถูกหยิบยกขึ้นมาอีก และจะพูดตลอดไป 

มูลนิธิสืบฯ ชี้ "สร้างเขื่อน" ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาน้ำท่วม

นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่คัดค้านเรื่องนี้ ประธานมูลนิธิสืบฯ เห็นว่า การสร้างเขื่อนไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาน้ำท่วม ถ้าภาครัฐ บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ จะมีประสิทธิภาพกว่า

เช่น การขยายพื้นที่โครงการส่งน้ำฯ ยมน่าน ,การตัดยอดน้ำที่คลองหกบาท ,การเพิ่มพื้นที่รับน้ำทั้งในคลองสาขาและทุ่งรับน้ำ เป็นต้น

แต่การไม่ได้พัฒนาจุดเหล่านี้ เช่น การระบายน้ำคลองหกบาท ผันเข้า คลองระบายน้ำยมน่าน และแม่น้ำยมสายเก่า ทำให้คันดินแตกมากกว่า 5 จุด เพราะไม่ได้พัฒนาให้มีศักยภาพรับน้ำเท่าที่ควร 

ถ้าลงทุนกับโครงการเหล่านี้ จะคุ้มค่ากว่าการลงทุนกับเขื่อนในผืนป่าหลายหมื่นล้านบาท

ทั้ง ผศ.สิตางศุ์ และมูลนิธิสืบฯ เห็นตรงกัน ในประเด็นที่ว่า "มีวิธีการอื่น" ที่ใช้บริหารจัดการลุ่มน้ำยม ได้ดีกว่าการสร้างเขื่อน

ซึ่งหลายโครงการกรมชลประทานได้ทำอยู่แล้ว หากกรมชลประธานเลือกที่จะพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ จะไม่จำเป็นต้องรอเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งอาจใช้เวลาศึกษาใหม่ 3-5 ปี และอาจใช้เวลาก่อสร้างอีกกว่า 10 ปี

ถก ครม.ยังไร้วาระ "เขื่อนแก่งเสือเต้น" 2 แสนล้านบาท

ในวันพรุ่งนี้ (3 ก.ย.) เวลา 10.00 น.ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ยังคงเรียก ครม.ถกตามปกติ แต่ยังไม่พบวาระแห่งชาติ เรื่องการผลักดันงบประมาณ 2 แสนล้านบาท ทบทวนโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

แต่หลังจากนายภูมิธรรม เวชยชัย ประกาศจะรื้อฟื้นโครงการ "ก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น" ขึ้นมา ก็ทำให้ชาวบ้าน ใน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่เคยถูกกำหนดให้ก่อสร้างเขื่อนออกมาคัดค้านทันที

ก่อสร้างเขื่อน กระทบกับวิถีชีวิต-ป่าไม้

ชาวบ้าน ใน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จับกลุ่มพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ หลังจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ประกาศจะฟื้นโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ขึ้นมาผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ในลุ่มแม่น้ำยม

นายเส็ง ขวัญยืน อดีตกำนัน ต.สะเอียบ เชื่อว่า โครงการก่อสร้างเขื่อน ยังคงกระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน คือบ้านแม่เต้น,ดอนแก้ว,ดอนชัย และบ้านดอนชัยสักทอง รวมแล้วมากกว่า 2,000 ครอบครัว รวมถึงผืนป่าสักทอง ที่ต้องเสียหายอีก 30,000-40,000 ไร่

ส่วนที่ จ.สุโขทัย อ.สวรรคโลก ที่หมู่ 6 ต.คลองกระจง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำในแม่น้ำยม ซัดกระสอบทราย คันกั้นน้ำชั่วคราวพัง รวมกว่า 100 หลังคาเรือน และสวนกล้วย ที่เป็นแหล่งขายใบตองแปลงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งทบทวน ฟื้นโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ถูกผลักดัน ตั้งแต่ปี 2523 และหลังเผชิญการต่อต้านของคนในพื้นที่ ก็ถูกแขวนไว้ มาในปี 2555 รัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หยิบขึ้นมาทบทวน-ศึกษาอีกครั้ง ซึ่งยังคงมีแรงต้านจากภาคประชาชน แต่ก็เกิดเหตุยึดอำนาจรัฐประหาร ทำให้ต้องชะลอออกไปอีกครั้ง

อ่านข่าว : 

ปลุกผี "แก่งเสือเต้น" 30 ปี แก้น้ำท่วมสุโขทัย

อัปเดต "แลนด์บริดจ์" เตรียมชง ครม. อนุมัติร่าง พ.ร.บ. SEC ในปีนี้

จนท.เร่งฟื้นฟูดินสไลด์ภูเก็ต สั่งหยุดกิจกรรมบนพระใหญ่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง