เปิดจุดรับตัวอย่าง "ทุเรียน" หาการปนเปื้อน​ "แคดเมียม"

เศรษฐกิจ
2 ก.ย. 67
18:55
944
Logo Thai PBS
เปิดจุดรับตัวอย่าง "ทุเรียน" หาการปนเปื้อน​ "แคดเมียม"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมวิชาการเกษตร​เปิดจุดรับตัวอย่างทุเรียนหาการปนเปื้อน "​แคดเมียม" มีผู้ประกอบการนำตัวอย่างมาให้ตรวจสอบกว่า​ 60 ตัวอย่าง พร้อมขอให้เร่งตรวจสอบเพราะตลาดปลายตรวจเข้มงวดทำให้ล่าช้า กระทบผลผลิต​

วันนี้ (2 ก.ย.2567) เป็นวันแรก​ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดให้ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน​ ต้องนำส่งตัวอย่างทุเรียนให้ห้องปฎิบัติการตรวจสอบเพื่อหาการปนเปื้อนของแคดเมียม​ หลังจีนตรวจพบทุเรียนไทยมีการปนเปื้อน

​ผู้สื่อข่ายรายงานบรรยากาศที่ตลาดมรกต ตลาดกลางผักและผลไม้ จ.ชุมพร​ มีผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ​ หรือ ล้ง​ นำตัวอย่างทุเรียนมาตรวจสอบหาการปนเปื้อนแคดเมียม​ในเนื้อทุเรียน โดยมีห้องปฎิบัติการ​จากกรุงเทพฯ​ ปทุมธานี ​สุราษฎร์ธานี​และสงขลา​ มาตั้งจุดรับ​ตัวอย่าง ซึ่งผู้ส่งออกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ​เอง​ อัตราค่าบริการอยู่ที่​ 1200 บาทต่อ​ 1 ตัวอย่าง หรือ​ 1 ตู้​คอนเทนเนอร์/ชิปเมนต์ มีผู้ประกอบการกว่า​ 30 ราย​นำตัวอย่างมาให้ตรวจสอบกว่า​ 60 ตัวอย่าง

ขั้นตอน​การตรวจสอบทุเรียน เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจะสุ่มตัวอย่างทุเรียน​ 5 ลูก ​จากนั้นนำตัวอย่างมาบรรจุลงกล่อง​ ปิดเทปกาวและเซ็นชื่อ ผู้ประกอบการต้องนำตัวอย่างไปจุดตรวจเองและชำระค่าบริการ ซึ่งการตรวจวิเคราะห์ใช้เวลา​ภายใน 72 ชั่วโมง โดยจะมีการรายงานผลไปยังผู้ประกอบการและกรมวิชาการเกษตร

อ่านข่าว : จีนพบทุเรียนไทยปนเปื้อนแคดเมียม กรมวิชาการเกษตรเร่งหาสาเหตุ

น.ส.อรุณรัตน์​ ยังสุข​ เจ้าของ​ล้งสุริยา​ 388 จ.ชุมพร​ ระบุว่า​ ขณะนี้ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการตรวจพบทุเรียนไทยปนเปื้อนแคดเมียม และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบสาเหตุ​ เพราะเริ่มส่งกระทบต่อการส่งออก​ที่ปลายทางมีการตรวจเข้มงวดและใช้เวลาตรวจนานขึ้น​ ทำให้ผลผลิต​เสียหาย​

ขณะที่ น.ส.ฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 (สวพ.7)​ กรมวิชาการเกษตร​ ​ระบุว่า​ การขอความร่วมมือผู้ส่งออกนำส่งตัวอย่างทุเรียนมาตรวจสอบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ส่งออก​และตลาดส่งออกหลัก​ หลังจากจีนมีการแจ้งเตือนพบทุเรียนไทยปนเปื้อนแคดเมียมในเนื้อทุเรียน​เกินค่ามาตรฐาน​ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร​ได้สั่งปิดล้งที่พบการปนเปื้อนไปแล้ว​ โดยพบล้งส่วนใหญ่อยู่ใน จ.ชุมพร​

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร​ได้เก็บตัวอย่างตรวจสอบจากผลผลิตทุเรียน​ ใบ​ น้ำ​ ดิน​ ปัจจัยการผลิต​ มาตรวจสอบ ส่วนใหญ่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่​ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม​ แต่ก็มีบางล้ง​ที่ตรวจพบแคดเมียมเกินค่ามาตรฐาน​ ซึ่งพบจากการใช้สารชุบขมิ้นป้ายขั้ว​ ซึ่งได้ระงับการส่งออกแล้ว​

สำหรับตัวอย่างทุเรียนที่ผู้ส่งออกนำมาตรวจสอบ​ หากตรวจพบ​แคดเมียมเกินค่ามาตรฐาน​ ล้งจะต้องพิจารณาว่าจะระงับการส่งออกเองหรือไม่​ หากตัดสินใจส่งออกแล้วจีนตรวจพบภายหลัง​ กรมวิชาการเกษตรจะระงับการส่งออกและไม่สามารถกลับมาส่งอีกได้อีก​ ทั้งนี้ได้กำหนดให้ผู้ส่งออกส่งตัวอย่างทุเรียนได้ตั้งแต่วันที่​ 2-16 ก.ย.นี้​ โดยจะนำผลตรวจสอบไปยืนยันกับจีน

ด้านนาย​ธเนศ สร้างถาวร ผู้จัดการทั่วไป ตลาดมรกต ตลาดกลางผักและผลไม้ จ.ชุมพร เสนอให้รัฐตั้งห้องปฎิบัติการตรวจสอบหาสารตกค้างในพื้นที่แหล่งผลิตและแหล่งส่งออกหลัก ​เช่น​ ชุมพร​ จันทบุรี​ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ และเห็นว่าควรมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง​เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภค​ ผู้ค้า​และตลาดปลายทาง

พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาทุเรียนที่ส่งออกจาก จ.ชุมพร​ ไม่พบปัญหาทุเรียนปนเปื้อนแคดเมียมมาก่อน​ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งหาคำตอบว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากสาเหตุใด​ เพราะหลายฝ่ายเริ่มกังวล​

สำหรับราคารับซื้อทุเรียนเกรด​ AB ที่ จ.ชุมพร​ รับซื้อที่กิโลกรัม​ละ​ 120-125 บาท​, เกรด C 85 บาท​และเกรด​ D 75 บาท

อ่านข่าว

ศาลสั่ง "วิน โพรเสส" ชดใช้ 1.7 พันล้านฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ธปท.-หน่วยงาน ยกร่างกฎหมายคืนเงินผู้ถูกหลอกโอนเงิน 100%

ไขปม "หมาดุ-ก้าวร้าว" แนะวิธีเอาตัวรอดเมื่อถูกกัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง