วันนี้ (2 ก.ย.2567) ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทานเปิดถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ข้อมูลการระบายน้ำเมื่อวันที่ 1 ก.ย. สถานีวัดน้ำ C2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,485 ลบ.ม.ต่อวินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณน้ำทางตอนบน และฝนที่ตกในพื้นที่ ก่อนจะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น
กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในปริมาณที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้ส่งกระทบต่อพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว พร้อมควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตรา 1,399 ลบ.ม.ต่อวินาที เร่งระบายน้ำทางตอนบนลงสู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด
เขื่อนเจ้าพระยาปรับการระบายน้ำสูงสุด 1,399 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลพื้นที่นอกคันกั้นน้ำเพิ่มสูง 50 ซม.-1.5 เมตร
พื้นที่นอกคันกั้นน้ำเพิ่มสูง 50 ซม.-1.5 เมตร
สำหรับพื้นที่อาจได้รับผลกระทบบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีก 50 ซม.ถึง 1.5 เมตร
ส่วนที่สถานีวัดน้ำ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยในอัตรา 1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที จากอิทธิพลของสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงวันที่ 30 ส.ค.-5 ก.ย.นี้อาจจะส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกทม.บางพื้นที่ ยกตัวสูงขึ้น แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำป่าสัก 160 ลบ.ม.ต่อวินาที ไหลผ่านเขื่อนพระรามหก 226 ลบ.ม.ต่อวินาที ก่อนไหลมาบรรจบที่แม่น้ำเจ้าพรยา บริเวณสถานีบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 1,365 ลบ.ม.ต่อวินาที
อ่านข่าว สภาพอากาศวันนี้ ไทยมีฝนเพิ่มขึ้น ตกหนักบางแห่ง ระวังน้ำท่วมฉับพลัน
สมใจ คำศรี ชาวบ้าน หมู่ 5 ต.หัวเวียงได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา
ชาวบ้าน "หัวเวียง" ขนของหนีน้ำท้ายเขื่อน
ไทยพีบีเอสสำรวจความเดือดร้อนของชาวบ้าน หมู่ที่ 5 ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เริ่มได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ชาวบ้าน เร่งขนของขึ้นที่สูง หลังระดับน้ำเพิ่มสูงต่อเนื่อง
จนทำให้ถนนเส้นทางหลักเข้าหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 ต.หัวเวียง จมน้ำไปแล้ว รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ชาวบ้านต้องใช้เรือในการสัญจรเข้าออกหมู่บ้านเป็นหลัก
นางสมใจ คำศรี อายุ 59 ปี ชาวบ้านหมู่ 5 ต.หัวเวียง กำลังพายเรือเข้าบ้าน เล่าว่า ปีนี้รีบเก็บขนย้ายเข้าของไว้ที่สูงได้ทัน เนื่องจากฟังประกาศจากเทศบาล
ปีนี้น้ำมาเร็วแล้วขึ้นไว้มาเพียงแค่ 3 คืน ขึ้นสูงเป็น 1 เมตร ทำให้ถนนทางเข้าหมู่บ้านตัดขาด รถเล็กรถใหญ่ใช้สัญจรไปมาได้ต้องใช้เรืออย่างเดียว
พร้อมชี้ร่องรอยให้ดูคราบน้ำของเมื่อปี 2566 ซึ่งห่วงว่าน้ำจะมากกว่าที่แล้ว เนื่องจากน้ำทางเหนือยังมีอีกเยอะ หวั่นใจกลัวระดับน้ำจะสูงกว่าปีที่แล้ว ซึ่งหากระดับน้ำสูงกว่าปีที่แล้ว คงต้องย้ายออกไปเช่าหอพักอยู่แทนเพราะเก็บของหนุนขึ้นที่สูงแล้วก็อาจจะหนีไม่พ้นน้ำ
4 เขื่อนหลักปริมาณน้ำ 57%
ปัจจุบัน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,209 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 57% ของความจุอ่างรวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 10,662 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ได้ปรับลดการระบายน้ำ เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ
อ่านข่าว เร่งซ่อมถนนสาย 195 ศรีสำโรง-สุโขทัย ถูกกระแสน้ำซัดขาด
กทม.-ตะวันออกเตรียมรับฝนระลอกใหม่
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงต้นเดือนก.ย.นี้ จะมีปริมาณฝนตกเพิ่ม ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคกลาง ซึ่งอาจจะส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น จึงยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป
เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบนประเทศไทยและอ่าวไทยตอนบน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน
ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กทม.และปริมณฑล และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในภาคตะวันออก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนปริมาณฝนตกสะสม 24 ชม.ที่ผ่านมา สูงสุด 3 ลำดับ
- อ.บุณฑริก จ.อุบลราชบุรี ปริมาณฝน 159.5 มม.
- อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ปริมาณฝน 136.7 มม.
- อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ปริมาณฝน 124 มม.
อ่านข่าว
เอาผิด 2 นักท่องเที่ยว นั่งชิลตกปลาในอุทยานฯ เขาใหญ่