ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมพัฒน์ฯ ชวน เกษตรกร ใช้ ต้นไม้ขอสินเชื่อ ต่อยอดธุรกิจ

เศรษฐกิจ
26 ส.ค. 67
14:00
432
Logo Thai PBS
กรมพัฒน์ฯ ชวน เกษตรกร ใช้ ต้นไม้ขอสินเชื่อ ต่อยอดธุรกิจ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมพัฒน์ฯ ชวนเกษตรกร-ผู้ประกอบการ ใช้ไม้ยืนต้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขอสินเชื่อกับ สถาบันการเงิน หวังช่วยเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อยอดธุรกิจ 10 ปี มีเกษตรกร ใช้ต้นไม้ขอสินเชื่อ 154,470 ต้น มูลค่ารวม 145 ล้านบาท

วันนี้ ( 26 ส.ค.2567) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า เพื่อผลักดันให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น อนุรักษ์ป่าไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว มีรายได้จากการปลูกต้นไม้ และเป็นแหล่งผลิตคาร์บอนเครดิตเพื่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และสามารถนำมาเป็นรายได้เสริมในชุมชนและครอบครัว  

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ประกอบกับปีนี้เป็นปีมหามงคลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชนมายุครบ 72 พรรษา ที่ สืบสาน รักษา ต่อยอด แนวทางการอนุรักษ์ป่าของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่เคยมีพระราชดำรัสไว้ว่าให้คงมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ให้รักษาป่าที่ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ไม่ให้ถูกทำลายต่อไปให้มีการฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายไป

โดยให้มีทั้งไม้ป่าธรรมชาติและไม้ใช้สอย พื้นที่ทำกินของราษฎร ให้การช่วยเหลือด้านการเกษตร สามารถทำกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าและจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ

กรมฯ ลงพื้นที่เพื่อต่อยอดและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้นและอนุรักษ์ป่าไม้เพื่อให้ไทยให้เป็นพื้นที่สีเขียว ช่วยเพิ่มออกซิเจนและโอโซนให้อากาศสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการปลูกไม้ยืนต้นและปลูกป่า

อธิบดีกล่าวว่า กรมฯ ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นสถานบันการเงินที่ดูแล โครงการธนาคารต้นไม้ ในการผลักดัน ให้เกษตรกรนำไม้ยืนต้นที่ปลูกในพื้นที่ของตัวเอง มาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ในการขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส.

โดยเน้นส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าบนที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง และเมื่อต้องการใช้เงินเพื่อต่อยอดทำธุรกิจหรือดำรงชีวิตประจำวันสามารถนำไม้ยืนต้นที่ปลูกมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

นางอรมน กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ที่มีการออกกฎกระทรวงให้สามารถนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ในปี 2561 จนถึงในปัจจุบัน มีการจดทะเบียนไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจทั่วประเทศเพียง 22 จังหวัดและมีผู้นำไม้ยืนต้น มาจดทะเบียนสัญญาเป็นหลักประกันธุรกิจแล้ว

ข้อมูล วันที่ 31 ก.ค.2567 ตั้งแต่ปี2558-ปัจจุบัน มีจำนวนต้นไม้ทีเข้าร่วมโครงการ 154,470 ต้น มูลค่ารวม 145 ล้านบาทแบ่งเป็น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 23,000 ต้น วงเงิน 128 ล้านบาท ธ.ก.ส. 1,482 ต้น วงเงิน 10,738,561.12 บาท และ กลุ่มพิโกไฟแนนซ์ 129,988 ต้น วงเงิน 6,293,891.92 บาท ใน 22 จังหวัดมีจังหวัดภาคเหนือเพียง 4 จังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุทัยธานี และ เชียงราย

อยากให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปเห็นถึงความสำคัญของการปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนปลูกไม้มีค่าเพื่อการออม อนุรักษ์เพิ่มพื้นที่ป่า และเพิ่มแหล่งออกซิเจนให้กับประเทศ

ทั้งนี้ กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี เกษตรกร และประชาชน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้นสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น

ได้แก่ กิจการ เช่น กิจการร้านกาแฟ สิทธิ์เรียกร้อง เช่น สิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝาก สิทธิการเช่า สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง เครื่องจักร รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และ ทรัพย์สินอื่น (ไม้ยืนต้น) ทำให้กลุ่มเป้าหมายสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นต่อยอดทางธุรกิจ ผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ต่อไป

ปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดไม้ยืนต้นเพียง 58 ประเภท แต่ไม้ยืนต้นทุกประเภทสามารถนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อได้ตามข้อตกลงระหว่างผู้รับหลักประกัน (สถาบันการเงิน) กับผู้ให้หลักประกัน (เกษตรกรผู้ปลูกไม้ยืนต้น)

ไม้ยืนต้นที่ปลูก ยังคงอยู่บนพื้นที่ของตนเอง เกษตรกรสามารถนำไม้ยืนต้นนั้นไปต่อยอดสร้างรายได้อื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น เป็นแหล่งผลิตคาร์บอนเครดิตเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ซื้อไปเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจ และสอดรับกับกระแสการดำเนินธุรกิจของโลกอนาคต

สำหรับไม้ยืนต้น ที่จะนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ถ้าเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วถึงปานกลาง รอบตัดฟันสั้น มูลค่าเนื้อไม้ต่ำ เช่น ยูคาลิปตัส สัตตบรรณ กระถินเทพา กระถินณรงค์ ก็จะได้มูลค่าไม่มาก แต่ถ้าเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าเนื้อไม้สูง เช่น ประดู่ ยางนา กระบาก สะตอ มูลค่าก็จะสูงขึ้นตามมา และถ้าเป็นไม้ที่การเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง เช่น สัก พะยูง ชิงชัน จันทน์หอม มะค่าโมง พวกนี้ จะได้มูลค่ามาก

ส่วนเงื่อนไขการเข้าร่วมใช้หลักประกัน จะประเมินเป็นรายต้น เพื่อนำมาประกอบรวมกันเป็นมูลค่าต้นไม้ทั้งหมดบนที่ดินแปลงจำนอง ต้องมีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ด้วยเหตุผล เพื่อให้มีความมั่นใจได้ว่าต้นไม้นั้น ตั้งตัวได้แล้ว และมีโอกาสรอดสูง มีขนาดเส้นรอบวงลำต้น ไม่ต่ำกว่า 3 เซ็นติเมตร ความสูง 130 เมตรจากพื้นดิน 

ต้นไม้มีลำต้นตรงสมส่วน อย่างน้อย 2 เมตรและเป็นต้นไม้ตามโครงการธนาคารต้นไม้ที่มีชื่อพรรณไม้กำหนดในเอกสารราคากลางต้นไม้ของ ธ.ก.ส.  สำหรับในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด (พิโกไฟแนนซ์ พิโกพลัส) จะมีวิธีประเมินมูลค่าต้นไม้ โดยพิจารณาหลักเกณฑ์จากราคาตลาดในท้องถิ่น

 อ่านข่าว:

3 แบงก์รัฐออกมาตรการบรรเทา "ภาระหนี้" จากผู้ประสบภัยน้ำท่วม

Negative Income Tax ภาษีเงินได้ที่ทำให้คนที่ไม่มีรายได้ "ได้เงิน"

“ทองคำ” ไม่เปลี่ยนแปลง “ทองรูปพรรณ” ขายออก 39,628 บาท

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง