จ่อตัดน้ำลง “ทะเลหลวง” ก่อนทะลักเข้า “สุโขทัย”

ภัยพิบัติ
23 ส.ค. 67
14:11
9,327
Logo Thai PBS
จ่อตัดน้ำลง “ทะเลหลวง” ก่อนทะลักเข้า “สุโขทัย”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“ชลประทาน” เตรียมตัดน้ำออกจากแม่น้ำยม ลงทะเลหลวง ก่อนจะถึงประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ เพื่อไม่ให้เข้าตัวเมืองสุโขทัย ขณะที่ในตัวเมืองสวรรคโลก เขตเศรษฐกิจ เทศบาลเตรียมกระสอบทรายป้องกันแล้ว

วันนี้ (23 ส.ค.2567) นายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ได้รับรายงานจากสำนักงานชลประทานที่ 4 ว่า ทางภาคเหนือตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยตอนบนของลุ่มน้ำยมมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ที่ อ.ปง จ.พะเยา ทำให้มีปริมาณน้ำไหลจากลำน้ำสาขาลงสู่แม่น้ำยม ในปริมาณมากตลอดแนว ส่งผลให้ระดับแม่น้ำยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จึงขอให้ อ.ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง เมืองสุโขทัย และกงไกรลาศ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ริมแม่น้ำยมคลองระบายน้ำ แม่ยมสายเก่า คลอง ยม-น่าน ให้เก็บสิ่งของมีค่า เครื่องใช้ไฟฟ้า ยารักษาโรค เครื่องดำรงชีพต่าง ๆ ที่จำเป็น ขึ้นที่สูงโดยด่วน เฝ้าติดตามข้อมูลข่าวสารสภาวะอากาศสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ สุโขทัย ยังได้สั่งการให้ ส่วนราชการเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินให้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนและผู้ประสบภัย โดยด่วน

นายสมชาติ ลิมปะพันธุ์ นายกเทศมนตรีเมืองสวรรคโลก พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ นำเครื่องจักรกล ทราย กระสอบทราย มาทำแนวป้องกัน ตลิ่งแม่น้ำยม กันน้ำจากแม่น้ำยมล้นตลิ่ง กระสอบทราย มาอุดท่อระบายน้ำในจุดที่อาจมีน้ำจากแม่น้ำยมไหลยอดเข้ามา เมื่อระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง เสริมกระสอบทราย รอบบ่อระบายน้ำ และเตรียมเครื่องสูบน้ำ ไว้ระบายน้ำที่ท่วมขัง และจุดเสี่ยงต่าง ๆ ภายในเขตเทศบาลเมืองสวรรคโลก

นายโสภัญญ์ ศรีสว่างวรกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุโขทัย ระบุว่า ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ คือตัวชี้วัดหลักว่า น้ำจะท่วมตัวเมืองสุโขทัยมากน้อยเพียงใด เนื่องจากประตูระบายน้ำแห่งนี้ ทำหน้าที่กันแม่น้ำยม เป็นจุดหน่วงน้ำไว้ เพื่อเบี่ยงออกไปตามคลองต่าง ๆ ต่อไปยังพื้นที่รอบนอก และแก้มลิงที่เตรียมไว้รองรับให้มากที่สุด

และหลังจากประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ก่อนถึงตัวเมือง ก็จะมีคลองส่งน้ำที่แบ่งน้ำออกไปยังทุ่งทะเลหลวงสุโขทัย และแก้มลิงรับน้ำอื่น ๆ อีก เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมือง ซึ่งขณะนี้ยังรักษาระดับที่ 550 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และพยายามให้น้ำผ่านตัวเมืองไม่เกิน 700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

ที่น่าเป็นห่วงคือ ขณะนี้มวลน้ำจาก จ.แพร่ ที่มีปริมาณมากกว่า 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังมาไม่ถึง จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องหาวิธีการป้องกันไม่ให้น้ำไหลผ่านตัวเมืองไม่เกิน 700 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที แต่หากพื้นที่รับน้ำไม่สามารถรับน้ำได้อีก ก็เป็นเรื่องยากที่จะป้องกันไม่ให้น้ำท่วมเขตเศรษฐกิจเมืองสุโขทัย

สำหรับสถานการณ์น้ำยมในขณะนี้ (12.00 น.) ที่สถานีวัดน้ำ Y 14A บ้านแม่สำเหนือ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ระดับน้ำสูง 5.87 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน ในอัตรา 889 ลูกบาศก์เมตร/ วินาที ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ที่ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ระดับน้ำสูง 9.65 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่าน 549 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

ซึ่งกรมชลประทาน ได้เฝ้าระวัง พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ก่อนจะไหลผ่านตัวเมือง ให้อยู่ในอัตรา 540 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ด้วยการผันน้ำส่วนหนึ่ง ผ่านประตูระบายน้ำหกบานลงสู่แม่น้ำน่านและแม่น้ำยมสายเก่า

ก่อนจะผันไปเก็บไว้ ที่พื้นที่ หน่วงน้ำทุ่งบางระกำ ส่วนพื้นที่ด้านท้าย ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์จะใช้คลอง และระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งรับน้ำเข้าไปในเกณฑ์ ที่เหมาะสม เพื่อควบคุมปริมาณ น้ำไหลผ่านสถานี Y.4 หน้าจวนผู้ว่า อ.เมืองสุโขทัย ไม่ให้เกิน 460 ลูกบาศก์เมตร/วินาที หวังลดผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชน ในตัวเมืองสุโขทัยได้

ขณะที่ ชาวบ้านวังหิน หมู่ 1 ต.ปากแคว อ.เมือง จ.สุโขทัย กังวลว่าจะ เกิดเหตุคันดินกั้นน้ำยมในหมู่บ้านพัง น้ำจะล้นทะลักเข้าท่วมเหมือนที่เคยเกิดปีผ่านมา แม้จะมีการเสริมกระสอบทรายขนาดใหญ่ไว้แล้วก็ตาม

ล่าสุดพบคันดินทรุดตัวลงแม่น้ำเป็นทางยาวตลอดแนว เสี่ยงต่อการพังทลาย ขณะที่ อปท.ในพื้นที่เร่งใช้รถบรรทุกขนทรายไปลงไว้ตามจุดต่าง ๆ ตลอดแนวถนนเรียบแม่น้ำยม ไว้ให้ชาวบ้านบรรจุกระสอบป้องกันน้ำท่วม โดยคาดการณ์ว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นในคืนนี้

ด้าน นายเฉลิมพล เอี่ยมสว่าง ชาวบ้านวังหิน ต.ปากแคว อ.เมืองสุโขทัย เดินสำรวจคันดินกั้นแม่น้ำยม บริเวณข้างบ้าน ที่มีเกิดการทรุดตัวลงไปในแม่น้ำแล้วกว่า 1 เมตร และมีทีท่าว่าจะทรุดตัวเพิ่มอีก เกรงว่าหากพังน้ำจะทะลักเข้าท่วมพื้นที่เหมือนปีก่อน

อ่านข่าว : "แพร่" ประเมินพลาด ถูกน้ำจากน่านสมทบ "น้ำยม" สูงเกิน-ท่วมเร็ว

เช็กพิกัดช่วยเหลือน้ำท่วมภาคเหนือ

น้ำท่วมน่าน "บ้านท่าลี่" อ่วม บางจุดน้ำสูง 3 เมตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง