Negative Income Tax หรือ NIT ได้รับการเสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง "มิลตัน ฟรีดแมน" เจ้าของประโยคที่โด่งดัง "โลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี ๆ" หรือ "There's no such thing as a free lunch" เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์
จุดประสงค์เพื่อแทนที่ระบบสวัสดิการแบบดั้งเดิมที่ซับซ้อน ด้วยระบบที่ง่ายกว่าและส่งเสริมการทำงานมากขึ้น
แนวคิดของ Negative Income Tax (NIT) ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้อย่างไม่เท่าเทียมกัน ฟรีดแมน มองว่าคนที่ทำงานแต่มีรายได้น้อยก็ควรได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐ เริ่มจากการกำหนดระดับรายได้พื้นฐานขั้นต่ำ หากบุคคลใดมีรายได้น้อยกว่าระดับนี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยส่วนที่ขาด เพื่อให้รายได้ของพวกเขาเพิ่มขึ้นไปถึงระดับขั้นต่ำนี้
หลักการของ NIT
- รัฐกำหนดระดับรายได้พื้นฐาน "ขั้นต่ำ" ที่เหมาะสมต่อการการดำรงชีวิต เช่น 10,000 บาท/เดือน (ตัวเลขสมมติ)
- หากบุคคลมีรายได้น้อยกว่าระดับนี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้ เพื่อให้รายได้ของบุคคลนั้นถึงระดับที่กำหนด เช่น หากบุคคลมีรายได้ 7,000 บาท/เดือน รัฐบาลอาจจ่ายเพิ่ม 3,000 บาท เพื่อให้รายได้รวมเป็น 10,000 บาท
- เมื่อรายได้ของบุคคลเพิ่มขึ้น การชดเชยจากรัฐบาลจะลดลงตามสัดส่วน จนกระทั่งรายได้ถึงระดับที่กำหนดและไม่ต้องการการชดเชยอีกต่อไป
ข้อดีของ NIT
- ลดความยากจน เพราะมีการสนับสนุนรายได้พื้นฐานให้ผู้ที่มีรายได้น้อย เพื่อให้มีมาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำที่เพียงพอ โดยไม่ต้องพึ่งพาสวัสดิการอื่น ๆ ของรัฐ
- กระตุ้นแรงจูงใจในการทำงาน NIT ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้คนทำงานมากขึ้น แม้จะมีรายได้น้อยก็ยังได้รับการชดเชยจากรัฐบาล ซึ่งต่างจากระบบสวัสดิการบางประเภทที่การทำงานเพิ่ม อาจทำให้สูญเสียสิทธิ์ในการรับสวัสดิการ
- ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการให้ความช่วยเหลือที่เป็นกลาง ไม่แบ่งแยก หรือสร้างภาพลักษณ์ในแง่ลบต่อผู้ที่ได้รับการสนับสนุน เนื่องจากทุกคนสามารถได้รับการชดเชยตามรายได้ของตนเอง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคม โดยทำให้คนที่มีรายได้น้อยสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ซึ่งช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน
- NIT สามารถปรับระดับการชดเชยตามสภาวะเศรษฐกิจและระดับรายได้ของประชาชน ทำให้ระบบสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าระบบสวัสดิการที่เป็นแบบคงที่ นอกจากนี้ NIT ยังสามารถนำไปปรับใช้ในประเทศต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา แต่ต้องออกแบบให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศ
ข้อเสียของ NIT
- ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลสูงขึ้น เพราะระบบ NIT ทำให้รัฐบาลต้องหาเงินจำนวนมากในการจ่ายชดเชยรายได้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะในช่วงแรกของการนำระบบมาใช้ ซึ่งอาจเป็นภาระทางการคลังอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด
- เกิดความเสี่ยงลดแรงจูงใจในการทำงาน แม้ว่า NIT จะถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้คนทำงาน แต่บางคนอาจรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องทำงานหนักหรือทำงานเพิ่ม เพราะรู้ว่ารัฐบาลจะชดเชยรายได้ให้ ซึ่งอาจส่งผลให้มีผู้คนลดชั่วโมงการทำงานหรือเลือกที่จะไม่ทำงานเลยก็ได้
- การบริหารจัดการที่ซับซ้อน การกำหนดระดับรายได้ขั้นต่ำและการจัดการระบบชดเชยต้องการการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเป็นเรื่องซับซ้อนและยากต่อการดำเนินการ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่มีระบบภาษีและการจัดการสวัสดิการที่เข้มแข็ง
- "เดอะ แบก" กลุ่มคนทำงานที่เสียภาษี จะกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากระบบ NIT มากที่สุด เพราะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ต้องจ่ายภาษีเท่าเดิม หรือ อาจถูกรัฐตั้งอัตราภาษีที่มากกว่าเดิม เพราะต้องใช้เงินจ่ายชดเชยให้ผู้ที่มีรายได้น้อย ทำให้บั่นทองแรงจูงใจในการทำงานหรือการลงทุน
- แม้ว่ามีการคาดหวังว่า NIT จะช่วยลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ แต่ผลกระทบที่แท้จริงอาจไม่ตรงตามที่คาดหวัง ผลลัพธ์อาจแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ
- ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม หากรัฐต้องใช้จ่ายเงินในจำนวนมหาศาลเพื่อสนับสนุน NIT อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น การเพิ่มหนี้สาธารณะ หรือการเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจมีความไม่เสถียรได้
- การกำหนดระดับรายได้ขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับ NIT เป็นเรื่องท้าทาย หากกำหนดต่ำเกินไป อาจไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาความยากจน แต่ถ้ากำหนดสูงเกินไป อาจเป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล
ประเทศใดบ้างที่ใช้ NIT
แนวคิด NIT ถูกนำเสนอและวิจารณ์กันในวงการเศรษฐศาสตร์มาหลายทศวรรษ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีประเทศใดที่นำระบบ NIT มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็มีบางประเทศที่ได้ทดลองใช้แนวคิดนี้ในบางพื้นที่หรือในบางกรณีเฉพาะ
สหรัฐอเมริกา
ช่วงทศวรรษ 1960-1970 มีการทดลองโครงการ NIT ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา ผลการทดลองพบว่า มีประชาชนเริ่มลดชั่วโมงการทำงานของตัวเองลง สื่อถึงผู้คนเริ่มรู้ว่า ทำงานน้อย ๆ ก็ได้เพราะมีเงินชดเชยจากรัฐเข้าช่วย จึงเป็นประเด็นที่ทำให้โครงการนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในวงกว้าง
แคนาดา
ในทศวรรษ 1970 แคนาดามีการทดลองโครงการคล้าย NIT ที่เรียกว่า "Mincome" ในเมือง Dauphin ซึ่งก็ได้รับผลการทดลองที่คล้ายกับของสหรัฐฯ คือมีการลดชั่วโมงการทำงานลงเล็กน้อย แต่ในขณะเดียวกันก็มีกำไรทางสังคมในด้านสุขภาพและการศึกษา
ฟินแลนด์
ในปี 2017-2018 รัฐบาลฟินแลนด์ได้ทำการทดลองให้เงินสนับสนุนพื้นฐาน (Universal Basic Income หรือ UBI) กับประชาชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่ใช่ NIT โดยตรง แต่มีความคล้ายคลึงในแง่ของการให้รายได้พื้นฐานแก่ประชาชนโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสวัสดิการที่ซับซ้อน
เนเธอร์แลนด์
เมือง Utrecht ในประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับรายได้พื้นฐานในปี 2017 โดยมุ่งเน้นไปที่การให้รายได้พื้นฐานที่แน่นอนโดยไม่คำนึงถึงรายได้ที่มีอยู่เดิม เพื่อศึกษาเรื่องพฤติกรรมการทำงานและความเป็นอยู่ของประชาชน
สหราชอาณาจักร
มีโครงการที่คล้ายกับแนวคิด NIT เช่น Working Tax Credit และ Universal Credit ซึ่งเป็นการสนับสนุนรายได้ให้กับผู้ที่ทำงานแต่มีรายได้ต่ำ แม้จะไม่ใช่ NIT ในรูปแบบเต็มที่ แต่ก็เป็นความพยายามที่จะสร้างสวัสดิการที่ตอบสนองต่อรายได้ของประชาชน
บราซิล
Bolsa Família เป็นโครงการที่จ่ายเงินสนับสนุนให้กับครอบครัวที่มีรายได้น้อย โดยมีเงื่อนไขว่าต้องส่งลูก ๆ ไปเรียนหนังสือและรับการฉีดวัคซีนครบถ้วน แม้โครงการนี้จะไม่ใช่ NIT แต่ก็มีจุดมุ่งหมายในการลดความยากจนและสร้างโอกาสทางการศึกษาที่คล้ายคลึงกับเป้าหมายของ NIT
อิตาลี
ในปี 2019 อิตาลีได้เริ่มโครงการ "Reddito di Cittadinanza" ซึ่งเป็นระบบช่วยเหลือทางการเงินให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยโดยมีเงื่อนไขว่าผู้รับจะต้องหางานทำอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ใช่ NIT โดยตรง แต่มีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนรายได้และการกระตุ้นการทำงาน
ประเทศแบบไหนที่เหมาะกับ NIT
NIT อาจเหมาะกับประเทศที่มีระบบภาษีที่มีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจที่มั่นคง ความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง เสถียรภาพทางการเมือง และสังคมที่ยอมรับการปฏิรูปสวัสดิการ หากเงื่อนไขเหล่านี้พร้อม NIT อาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดความยากจนและส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม
- ประเทศที่มีระบบจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ทำให้รัฐสามารถนำรายได้จากภาษีไปสนับสนุน NIT ได้อย่างเหมาะสม ช่วยให้สามารถจัดสรรงบประมาณในการจ่ายเงินชดเชยได้อย่างยั่งยืน
- กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีโครงสร้างเศรษฐกิจและทรัพยากรเพียงพอสามารถสนับสนุน NIT ได้ง่ายกว่า เนื่องจากมีรายได้จากภาษีมีสูง
- ประเทศกำลังพัฒนา NIT อาจช่วยแก้ปัญหาความยากจน ส่งเสริมการทำงาน หากมีระบบภาษีและสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพมากพอ
- ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง NIT อาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชากรที่ยากจน
- ประเทศที่มีสังคมและการเมืองที่มั่นคง หากประเทศมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง โอกาสที่ NIT จะถูกนำมาใช้และรักษาไว้ได้ในระยะยาวก็มีมากขึ้น แต่ก็ต้องทำให้สังคมเข้าใจ เชื่อมั่น และยอมรับแนวคิด NIT ด้วย
- ประเทศที่ต้องการปฏิรูประบบสวัสดิการที่ซับซ้อนและไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชากร NIT อาจถูกใช้เป็นทางเลือกในการปรับปรุงหรือแทนที่ระบบเดิม
ย้อนกลับไปวรรคทองของบิดาแห่ง NIT "มิลตัน ฟรีดแมน" โลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี ๆ ซึ่งก็เป็นจริง เพราะเงินชดเชยที่รัฐต้องหามาจ่าย ย่อมต้องแลกมาด้วยคำถามตัวโต ๆ ของ "เดอะ แบก" ชนชั้นที่จ่ายภาษีเงินได้ เพื่อให้คนอื่นได้เงินที่ตัวเองทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย
อ่านข่าวอื่น :
"ทักษิณ" มั่นใจรัฐบาลแพทองธาร ไม่มีรัฐประหาร 100%
3 องค์กรธุรกิจนัดพบ "แพทองธาร" ถกปัญหาเร่งช่วย SMEs
"ทักษิณ" โชว์วิชั่นแก้หนี้-ฟื้นเศรษฐกิจ เฉลยดิจิทัลวอลเล็ตใครได้บ้าง