ปีนี้จะรอดหรือจมบาดาล ไทยจะต้องจับตาพายุที่จะก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกในเวลานี้ ว่าจะมากกว่า 2 ลูกหรือไม่ แต่สำหรับพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก คงหนีไม่พ้น ยกของไว้ที่สูงไว้เลยไม่ต้องรอ เพราะบางพื้นที่ระดับน้ำใกล้เคียงปี 2554
ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ไปจนถึงเดือนตุลาคมนั้น มักจะพบการก่อตัวของพายุอยู่เสมอ หลังจากนี้เราจะเห็นการก่อตัวของพายุมากขึ้น เวลานี้อุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเริ่มเย็นลงแล้ว
หลังจากได้รับผลกระทบโลกเดือด อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น เมื่อน้ำทะเลจากที่เคยร้อน ๆ มาปะทะกับน้ำทะเลเย็น ๆ จะทำให้ทะเลปั่นป่วนได้ และยิ่งทำให้ก่อตัวเป็นพายุได้ง่าย
โดยปกติแล้วในมหาสมุทรแปซิฟิกจะเกิดพายุ 15 ลูก และโอกาสจะเข้าไทยประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น คาดว่าฤดูฝนปีนี้ไทย จะเจอกับพายุ 1-2 ลูก
แม้พายุจะคาดเดาไม่ได้ เพราะมีหลายปัจจัย แต่ที่ชัดเจนคือหน่วยงานด้านน้ำเตือนตรงกันว่า ปีนี้แทบทุกจังหวัดของไทย จะเจอฝนตกหนักมากกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะตอนบนของประเทศและภาคใต้ที่ต้องเตรียมรับมือในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ให้ดี
ส่วนภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ เตือนพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากยกของขึ้นที่สูง เพราะปีนี้คาดว่าน้ำท่วม ใกล้เคียงปี 2564 และ 2565 แต่ความรุนแรง บางพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น อ.บางบาล อ. ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา จะถูกน้ำท่วมสูงมากกว่า ปี 2554 ซึ่งเกิดจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลง กายภาพแม่น้ำถูกบีบให้เล็กลง จากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม และป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ ทำให้น้ำทั้งหมดถูกบีบ บังคับให้ไหลลงแม่น้ำ
แม้น้ำจะไม่ท่วมเท่าปี 2554 แต่กลไกการรับมือน้ำท่วมของหน่วยงานยังไม่ต่างไปจากเดิม คือ สิ่งที่ ที่ปรึกษาด้านน้ำ ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กังวลใจ วันนี้ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาและท่าจีน
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเดิม ๆ เช่น กรณีชาวบ้านฟ้องร้องกรมชลฯ เพราะพื้นที่แก้มลิงยังเป็นปัญหา ทำให้กรมชลฯ ถูกฟ้องแทบทุกปี กระบวนการผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ 11 ทุ่งขาดการมีส่วนร่วม
ขณะที่อีก 2 วัน เขื่อนเจ้าพระยา ที่ จ.ชัยนาท เตรียมปรับอัตราการระบายน้ำเพิ่มเป็น 1,000 ลบ.ม./วินาที แต่แผนนี้ถูกขอให้ทบทวนกลางวงประชุม เพราะปีนี้ฝนไม่ตกทิ้งช่วงเขื่อนภูมิพลน้ำน้อยไม่จะเป็นต้องระบายน้ำมาเพิ่ม หากมีพายุเข้ามาในปลายเดือนสิงหาคมก็ค่อยปรับแผน เพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด
ถ้าถามว่าปีน้ำจะท่วมไหม คงต้องตอบว่าท่วมแน่ แต่ไม่เท่าปี 54 แต่การเตือนภัยให้รับมือตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือแม้แต่การเตรียมทุ่งรับน้ำไว้ให้ใช้ได้จริง ก็จะลดความเสียหาย และความขัดแย้งการจัดการน้ำที่เกิดขึ้นทุกปีให้ลดน้อยลงได้
อ่านข่าว :
ชป.วางแนวทางผันน้ำเลี่ยงเมืองตราด ลดระบายน้ำผ่านเมืองตราด
พบศพ "ไกด์" ถูกน้ำป่าซัดติดถ้ำน้ำทะลุ สุราษฎร์ฯ
สภาพอากาศวันนี้ เตือน "เหนือ - ตะวันออก - ใต้" ฝนตกหนักบางแห่ง