วันนี้ (30 ก.ค.2567) นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยคาดว่า ในปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสขึ้นไปแตะระดับ 36.5 ล้านคน และในปี 2568 มีโอกาสเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน
นาย พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย
แม้นักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวได้ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดที่ระดับ 65%-90% แต่ได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักอย่างมาเลเซีย อินเดีย รัสเซีย และเกาหลีใต้ รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป และตะวันออกกลาง ส่งผลให้รายได้รวมจากการท่องเที่ยวในปี 2567-2568 มีมูลค่าราว 2.65-3 ล้านล้านบาท
แม้รายได้จะยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก แต่การกระจายรายได้สู่จังหวัดเมืองรองเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น
โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีสัดส่วนราว 13.4% ของรายได้จากภาคการท่องเที่ยวโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด ที่มีสัดส่วนเพียง 9.2%
สำหรับ 5 เมืองรองยอดฮิต คือ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม เชียงราย จันทบุรี และอุดรธานี มีจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวได้สูงกว่าช่วงก่อนโควิด ที่ระดับ 130%-343% สะท้อนให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมีความสนใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรองมากขึ้น
นายธนา ตุลยกิจวัตร นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนโควิด ที่เน้นท่องเที่ยวแบบ Mass Tourism ไปสู่การท่องเที่ยวแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เกิดเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ ที่มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคการท่องเที่ยวไทยได้กว่า 1.35 แสนล้านบาท
นายธนา ตุลยกิจวัตร นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS
นายธนา กล่าวอีกว่า การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) โดยเฉพาะ Street Food ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 18.1% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ,การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) เช่น เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานกว่า 7.8 แสนคน สร้างรายได้มากถึง 2,880 ล้านบาท ส่วนการท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือมิวสิกวิดีโอ (Film Tourism)
ขณะที่กระแสรักษ์โลก รักษาสุขภาพ รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้เกิดเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่น่าสนใจ คือ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) ซึ่งจากผลสำรวจโดย Booking.com พบว่า 3 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวแบบอย่างยั่งยืนในอีก 12 เดือนข้างหน้า
สุดท้ายกลุ่ม Digital Nomad Tourism เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่เติบโตขึ้นตามกระแส Workcation รูปแบบการทำงานในโลกยุคใหม่ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีการค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่สูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปเกือบเท่าตัว
ขณะที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ที่มีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุ และพฤติกรรมของคนทั่วโลกที่หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น
ด้าน นางสาววีระยา ทองเสือ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ระบุว่า ผู้ประกอบการไทยควรปรับตัว เพื่อคว้าโอกาสจากเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
เช่น ธุรกิจโรงแรมปรับปรุงที่พักให้สอดรับมาตรฐาน Green Hotel หรือเข้าร่วมโครงการ Sustainable Tourism Acceleration Rating (STAR) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวสายรักษ์ธรรมชาติ รวมไปถึงนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร อาจนำหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามาช่วยเสิร์ฟอาหาร เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน
นอกจากนี้ ภาครัฐควรมุ่งเน้นไปเจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพสูง โดยอาจเพิ่มทางเลือกในส่วนของประกันสุขภาพให้กับกลุ่ม Digital Nomad ที่มาขอ Destination Thailand Visa Revealed (DTV) รวมถึงผลักดันให้เกิดกระแสการเดินทางเที่ยวตลอดทั้งปี
โดยเฉพาะในเมืองรอง โดยเชื่อมโยงกับกลุ่ม Wellness Tourism ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่สามารถท่องเที่ยวในวันธรรมดาได้ และเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงสร้างระบบด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวไทยมากขึ้น
อ่านข่าว:
“ราคาทอง” ร่วง 100 บาท ตลาดจับตาประชุมธนาคารกลางทั่วโลก