วันนี้ (18 ก.ค.2567) ภาพของ หยู บัลลังก์ จอมเตะดาวรุ่ง เทควันโดทีมชาติไทย ยืนคู่กับหอไอเฟล พร้อมกับสัญลักษณ์โอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 หรือจะเป็นดาวเด่น อย่าง เทสนิส ภานิภัค บนป้ายอิเล็กทรอนิกส์ รายงานสภาพการจราจร หรือ ภาพของ บาส เดชาพล นักกีฬาแบดมินตัน ที่อยู่บนอาคารห้างสรรพสินค้ากลางกรุง เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการโปรโมตทำการตลาดของเอกชนผู้ถือลิขสิทธิ์ในไทย และยังจับมือกับฟรีทีวีบางช่องเตรียมถ่ายทอดสดตลอดการแข่งขัน

ก่อนหน้านี้มีการแถลงข่าวบริษัทแพลนบี อีเลฟเว่น ผู้ร่วมบริหารสิทธิการถ่ายทอดสดการแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 และสิทธิบริหารงานทางการตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ร่วมกับ เดนท์สุ อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้รับสิทธิจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล มาแล้ว

นำมาสู่มติอย่างเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง ของ บอร์ด กสทช. เมื่อวานนี้ (17 ก.ค.) นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานบอร์ด กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดไม่เห็นชอบในการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อจัดหาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 และการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 17 ตามที่การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ขอรับการสนับสนุน จากกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กองทุน กทปส. จำนวน 435 ล้านบาท
เนื่องจากเห็นว่า การซื้อลิขลิทธิ์ถ่ายทอดครั้งนี้ ได้มีเอกชนได้ไปซื้อสิทธิมาแล้ว ก็เป็นเรื่องที่เอกชนผู้ได้ลิขสิทธิ์ จะนำสิทธิไปบริหารจัดการทางด้านการตลาดเพื่อหารายได้เอง แต่เอกชนก็ต้องปฏิบัติตามกฎ Must Have ที่ต้องนำมาถ่ายทอดสดออกฟรีทีวีด้วย และชี้แจงเหตุผล คือ การไม่อนุมัติเงิน กทปส.ต้องไม่กระทบการถ่ายทอด ตามกฎ Must Have และกฎ Must Carry

เพราะข้อเท็จจริงเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า บริษัท แพลน บี ได้ร่วมกันดำเนินการกับผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน จำนวน 4 ช่อง และได้มีการขายสิทธิในการออกอากาศให้กับ 2 ค่ายมือถือ เพื่อนำไปออกอากาศในกล่อง IPTV แล้ว 2 ค่ายนี้ก็ส่งหนังสือขออนุญาตออกอากาศกับ กสทช.แล้ว ดังนั้น ประชาชนมีทางเลือกเข้าถึงได้
ในทางตรงข้าม ถ้าอนุมัติเงินจะเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดที่ดำเนินอยู่แล้ว เพราะจะบังคับให้ต้องออกอากาศทุกช่องทีวี ทุกช่องทาง ขณะเดียวกับ กองทุน กทปส.ที่ผู้รับใบอนุญาตทุกรายมีหน้าที่ส่งเงินกองทุน แต่นำไปสนับสนุนเฉพาะบางช่องของ กกท.จะเอื้อประโยชน์ให้เอกชน และไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบกิจการทั้งระบบ
ที่สำคัญ การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกม และการแข่งขันพาราลิมปิกเกม เป็นหน้าที่และภารกิจหลักของ กกท. และกองทุนพัฒนาการกีฬาฯ ที่กำหนดไว้ชัดเจน ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 และถ้าจะอ้างว่าไม่กำหนดในแผนงาน กกท. หรือ กองทุนพัฒนาการกีฬาฯ ฟังไม่ขึ้น เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะจัดทุก ๆ 4 ปี

มีรายงานด้วยว่าการขอเงินสนับสนุนครั้งนี้ กกท.ขอในครั้งแรก 800 ล้านบาท ต่อมาได้ลดวงเงินเหลือ 435 ล้านบาท ทำให้บอร์ดบางคนมีความสงสัยถึงวงเงินที่ลดลง ซึ่งทาง กกท. ได้ชี้แจงว่า จากการเจรจากับเอกชนในหลายภาคส่วนรวมถึงช่องทีวีเห็นว่าจะสามารถออกเงินได้ส่วนหนึ่ง และขอให้ภาครัฐสนับสนุนเหลือวงเงิน 435 ล้านบาท เนื่องจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ของ กกท.ขาดสภาพคล่อง มีงบประมาณไม่เพียงพอ
อ่านข่าวอื่น :
ย้อนอดีต "ความภาคภูมิใจ" ทัพนักกีฬาไทยคว้าชัย "โอลิมปิก"
เรื่องน่ารู้ "ปารีสเกมส์ 2024" ฝรั่งเศสเจ้าภาพโอลิมปิก ครั้งที่ 3 ในรอบ 100 ปี