วันที่ (11 ก.ค.2567) ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึง สถานการณ์ประชากรไทย ว่า สถิติการเกิดย้อนหลัง 10 ปีของกรมการปกครอง พบว่า จำนวนการเกิดทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่ในปี 2557 มีเด็กเกิด 770,000 คน เหลือ 510,000 คนในปี 2566 ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุไทยในปี 2567 มีมากกว่า 13 ล้านคน

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ในขณะที่จำนวนการเกิดของเด็กลดน้อยลง แต่ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายสำคัญทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม ในอนาคต สวนทางกับสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้นทุกวัน ขณะนี้มีคนอายุเกิน 60 ปีประมาณ 20 % ของจำนวนประชากรทั้งหมด
และมั่นใจว่าอีกไม่กี่ปีผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นถึง 30% และมีแนวโน้มจะมีอายุยืนยาวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคนที่อายุถึงร้อยปีก็จะเพิ่มขึ้นเร็วเช่นกัน ขณะเดียวกันจำนวนเด็กก็เกิดน้อยลงทุกขณะ เพราะมุมมองของคนเปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ต้องการที่จะมีลูก ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

ดร.สมชัย มองว่า มีหลายสาเหตุที่คนไทยไม่อยากมีลูก ในด้านเศรษฐกิจ พบว่าต้นทุนในการเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพต้องมีค่าใช้จ่ายที่ แพง มากขึ้นเรื่อยๆ และจะยิ่งแพงมากขึ้นต่อไปอีก ถ้าพ่อ-แม่มีความคาดหวังต่อลูกสูง เช่น ลูกจะต้องเรียนหนังสือในโรงเรียนชั้นดี หรือเรียนโรงเรียนนานาชาติ จะต้องเรียนพิเศษ ต้องมีความสามารถพิเศษ เล่นเปียโนได้เป็นต้น พวกนี้เป็นต้นทุนของการเลี้ยงดูทั้งสิ้น ซึ่งสาเหตุนี้ทำให้คู่สามีภรรยาที่ประเมินว่าตัวเองไม่พร้อมที่จะเลี้ยงลูกให้โตขึ้นมาตามที่คาดหวังเอาไว้ได้เลือกที่จะไม่มีลูกไปเลย

“ความเครียดอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนที่จะมีลูก รู้สึกว่าต้องทำงานหนักขึ้น ในภาวะเศรษฐกิจโตช้าแบบนี้ คนทำงานพยายามกดดันตัวเองให้ทำงานมากขึ้น และการเลี้ยงลูกโดยเฉพาะช่วงต้นๆ ต้องใช้พลังงานมาก ซึ่งคนที่มีลูกจะต้องสามารถรับแรงกดดันได้ เป็นเรื่องที่เขารู้สึกว่าไม่พร้อม”ดร.สมชัยระบุ
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เกี่ยวกับโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มีปู่ย่าตายายพี่ป้าน้าอาช่วยเลี้ยงเด็กได้ แต่ปัจจุบันครอบครัวเป็นครอบครัวขนาดเล็กลง ความช่วยเหลือดังกล่าวจึงน้อยลง
มีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากอิสระในชีวิต อยากไปเที่ยว อยากจะลองเรื่องใหม่ๆ อยากเปลี่ยนงานใหม่ไปได้เรื่อยๆ ถ้ามีลูกก็จะรู้สึกว่าการทำแบบนั้นมีอิสระน้อยลง ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่อยากมีลูก
เช่นเดียวกับสภาพของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในปัจจุบัน ที่เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่คู่สามีภรรยาบางคู่คิดว่า สังคมไทยอาจจะไม่ใช่สังคมที่น่าอยู่อีกต่อไป
ตัวเขาเองยังไม่อยากอยู่ เขาคิดไปเผื่อลูกว่าถ้าลูกเกิดมา ลูกก็อาจจะไม่อยากอยู่เช่นกัน ดังนั้นเขาจึงรู้สึกว่าถ้ามีลูกจะรู้สึกผิดกับลูก จึงไม่มีลูกดีกว่า
อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาให้คนยอมมีลูกไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างที่ในหลายประเทศได้ออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้คนมีลูกแล้วแต่ผลตอบรับไม่เป็นไปตามเป้ามากนัก เช่น ในสิงคโปร์ ได้สนับสนุนเงินจำนวนมากถึง 6 หลักและให้สวัสดิการอื่นๆ บางประเทศอนุญาตให้แม่ลาคลอดได้นานถึง 6-12 เดือน หรือเปิดโอกาสให้พ่อใช้สิทธิลาคลอดแทนแม่ได้

ดร.สมชัย มองว่า บางมาตรการซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ดี ก็อาจจะตอบโจทย์ให้คนตัดสินใจมีลูกได้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การพัฒนาระบบการศึกษา ให้โรงเรียนทุกแห่งมีคุณภาพที่ดีรวมถึงโรงเรียนรัฐที่ ไม่ดังด้วย เพราะจะทำให้พ่อแม่รู้สึกมั่นใจว่าถ้ามีลูกๆจะได้รับการศึกษาที่ดีโดยไม่ต้องจ่ายแพง
ขณะเดียวกันควรสนับสนุนให้พ่อแม่ มีความสามารถในการเลี้ยงลูกระหว่างการทำงาน ด้วยการตั้งศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพในหน่วยงานหรือบริษัท เพื่อให้พ่อแม่นำลูกมาทำงานได้และฝากไว้กับศูนย์เด็กเล็กและเมื่อเลิกงานก็กลับบ้านพร้อมกัน หรือมีสถานรับเลี้ยงเด็กคุณภาพสูงใกล้ที่บ้านหรือที่ทำงาน รวมทั้งการส่งเสริมทักษะการเลี้ยงเด็กให้กับพ่อแม่ หรือคนเลี้ยงอย่างปู่ย่าตายายใน ครอบครัวแหว่งกลางที่มีช่องว่างระหว่างวัยของผู้เลี้ยงดู คือปู่ย่าตายาย กับตัวเด็กค่อนข้างมาก เพื่อให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม
ดร.สมชัย กล่าวอีกว่า วิกฤตเด็กเกิดน้อย และ สังคมสูงวัย ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหา ขาดแคลน วัยแรงงานรวมทั้งฐานะการคลังของภาครัฐทั้งรายได้และรายจ่าย ซึ่งสัดส่วนของกลุ่มวัยแรงงานลดลงอย่างรวดเร็วตามโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ยกเว้นว่าจะมีการปรับเรื่องของแนวคิดบางอย่าง เช่น ให้ผู้สูงวัยทำงานมากขึ้น

ภาคเอกชนวันนี้หลายแห่งมีอายุงานถึงแค่ 55 ปีเท่านั้น และแม้แต่ราชการที่ให้เกษียณตอน 60 ปี จะต้องมีการขยายอายุให้มากขึ้น ต้องส่งเสริมให้ผู้สูงวัยยังคงมีกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงาน หรือเรื่องอื่นๆไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นภาระของสังคมได้
ขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น ทั้งสองประเด็นนี้เป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อกันอย่างแยกไม่ออก ในด้านสังคม เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น การส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการให้บริการทางสาธารณสุขก็ย่อมมากขึ้นตามสัดส่วนของผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันเมื่อมีกลุ่มผู้สูงอายุที่ ป่วยติดเตียง มากขึ้น หมายความว่า วัยแรงงานที่มีน้อยลงอยู่แล้ว ยิ่งขาดแคลนมากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้บางส่วนต้องลดการทำงานลงเพื่อเอาเวลาไปดูแลผู้สูงอายุที่ติดเตียงด้วย
ส่งผลให้ภาครัฐจะต้องแบกรับรายจ่ายการดูแลผู้สูงวัยมากขึ้น ขณะที่ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะต่ำลงอย่างรวดเร็ว เพราะขาดแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยคุณภาพแรงงานก็เป็นอีกปัญหาที่สำคัญ
ในอนาคตปัญหาขาดแคลนแรงงานจะเกิดเป็นวงกว้าง เมื่อก่อนเราขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือในบางอุตสาหกรรม แต่พอเด็กเกิดน้อยในอนาคตแรงงานที่ไร้ฝีมือ หรือแรงงานทักษะต่ำก็คงจะขาดแคลนเช่นกัน ซึ่งสถานการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงที่ไทยเปิดประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 ที่หาคนทำงานไม่ได้

ทั้งนี้ ในหลายประเทศทั่วโลกต่างก็เผชิญกับปัญหานี้เช่นเดียวกันและพยายามคิดค้นมาตรการต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยการเปิดรับผู้อพยพย้ายถิ่นเข้ามาเติมประชากรในวัยแรงงาน ซึ่งไทยจะต้องคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังเช่นเดียวกัน
ตอนนี้ไทยมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านราวๆ 3 ล้านคน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และต่อไปเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านดีขึ้น คนของเขาคงไม่อยากจะมาทำงานในไทย ตัวเลข 3 ล้านคนในตอนนี้ อาจจะไม่เพิ่มขึ้นแล้ว ดีไม่ดีอาจจะลดลงด้วยซ้ำ
ดังนั้นประเทศไทยมีความจำเป็นต้องมีนโยบายเชิงรุกในการจูงใจให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้มากขึ้น เช่น การให้ผลประโยชน์ที่มากขึ้น สวัสดิการที่ดีขึ้น มีเรื่องของการเพิ่มทักษะ เพราะแม้ว่าจะเข้ามาในฐานะแรงงานไร้ฝีมือ แต่ถ้าคนเหล่านี้มีศักยภาพพอ ภาครัฐ หรือเอกชนสามารถฝึกทักษะให้จนกระทั่งขึ้นมาเป็นแรงงานมีฝีมือและเป็นกำลังสำคัญให้กับไทยได้ในอนาคต
ดร.สมชัย ย้ำว่า มาตรการดังกล่าวเป็นเรื่องที่หลายประเทศดำเนินการอยู่ทั่วไป แต่ในส่วนของไทยจะต้องมีการพิจารณาในเรื่องของรายละเอียดต่อไป อย่างแคนาดา เปิดรับเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือ มีคุณภาพสูง และมีระบบคัดกรองแบบ Scoring คนที่จะมายื่นขอสัญชาติจะต้องถูกประเมิน ว่าจบการศึกษาอะไร มีทักษะในการทำงานอย่างไร โครงสร้างครอบครัวเป็นอย่างไร ซึ่งหากใครได้รับการประเมินและมีคะแนนที่สูงคนนั้นก็มีโอกาสที่จะได้รับสัญชาติก่อนคนที่ได้คะแนนต่ำ

โดยที่ไทยสามารถใช้วิธีการเดียวกันนี้กับแรงงานมีฝีมือได้ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องคิดไปถึงแรงงานระดับล่างด้วยว่าจะจูงใจแรงงานระดับล่างด้วยการให้สัญชาติด้วยหรือไม่ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากกว่ากลุ่มแรงงานที่มีฝีมือ และจะต้องออกนโยบายเสริมเพื่ออุดช่องว่างต่างๆที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ไทยจะต้องมีนโยบายเสริมมาก ไม่ใช่รับเข้ามาแล้วเป็นปัญหาของสังคม มาก่ออาชญากรรม หรือมารับสวัสดิการอย่างเดียว ทำงานไม่ค่อยเก่ง ฝีมือไม่ดี ดังนั้นถ้าจะให้สัญชาติจะต้องมีนโยบายเสริม เช่น จะต้องมีนโยบายในเรื่องของการฝึกทักษะที่ดีเพื่อให้แน่ใจว่าเขามีทักษะที่ดีแน่ๆ ซึ่งถ้าทำได้ก็จะดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
เป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐต้องวางมาตรการให้ชัดเจน และต้องดำเนินการควบคู่กันไปในหลายมาตรการ ที่สำคัญต้องเริ่มขยับในทันทีก่อนที่สถานการณ์จะล่วงเลยไปจนไม่สามารถแก้ไขอะไรได้
อ่านข่าว:
ราคาทอง เปิดตลาดเช้านี้ ลบ 50 บาท ตลาดตอบรับเฟดลดดอกเบี้ย
ส่องเกมยื้อประมูลข้าว 10 ปี "วีเอท" ส่อวืด "มะลิเก่า" 15,000 ตัน
คลังถอยไม่ใช้เงิน ธ.ก.ส.แจกดิจิทัลวอลเล็ต หั่นงบเหลือ 4.5 แสนล้าน