แม่ร้องหมอ รพ.ย่านคลองหนึ่ง ทำคลอดจนลูกแขนขวาผิดปกติ

อาชญากรรม
2 ก.ค. 67
14:59
169
Logo Thai PBS
แม่ร้องหมอ รพ.ย่านคลองหนึ่ง ทำคลอดจนลูกแขนขวาผิดปกติ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม่ร้อง สธ.กรณีหมอโรงพยาบาลย่านคลองหนึ่ง จ.ปทุมธานี ให้คลอดธรรมชาติทั้งที่ขอให้ผ่าคลอด จนทำให้ลูกแขนขวาผิดปกติไม่สามารถขยับได้

วันนี้ (2 ก.ค.2567) นางปัทมา แม่ของเด็กหญิงวัย 10 เดือน เข้าพบนายกองตรีธนกฤต จิตรอารีรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ช่วยเหลือ กรณีหมอของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี ให้คลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ แต่ผิดพลาดทำให้เส้นประสาทที่แขนขวาของลูกขาด จนแขนพิการผิดปกติ

นางปัทมา เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเดือน ส.ค.2566 ได้ตั้งท้องลูกคนที่ 4 เมื่อถึงกำหนดคลอดจึงไปที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในพื้นที่คลองหนึ่ง จ.ปทุมธานี ซึ่งก่อนคลอดได้แจ้งกับพยาบาลว่าต้องการผ่าคลอด เนื่องจากตนเองมีอายุมากถึง 46 ปี และลูกคนก่อนหน้านี้มีภาวะคลอดยาก จึงกลัวว่าลูกคนนี้อาจได้รับอันตราย แต่หมอแจ้งกลับว่าอายุน้อย ยังสามารถคลอดด้วยวิถีธรรมชาติได้

ก่อนเข้าห้องผ่าตัดพยาบาลนำเอกสารยินยอมผ่าคลอดมาให้เซ็น แต่ระหว่างที่อยู่ในห้องผ่าตัด หมอกลับใช้วิธีคลอดธรรมชาติและพยายามดึงลูกออกมา จากนั้นพยาบาลได้นำลูกเข้ารักษาที่ห้องไอซียู และเมื่อเข้าไปเยี่ยมพบรอยช้ำหลายจุดตามร่างกายของลูก โดยเฉพาะบริเวณแขนขวาที่ไม่สามารถขยับได้

กระทั่งวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้พาลูกไปตรวจแขนขวาที่โรงพยาบาลเดิม หมอแจ้งว่าลูกต้องเข้ารับการผ่าตัดเส้นประสาทที่แขนขวาครั้งที่ 2 เพราะอาการไม่ดีขึ้น ส่วนทางโรงพยาบาลได้เข้ามาพูดคุยขอให้ลดค่าเสียหายจากที่เคยเรียกร้องไป จากจำนวน 10 ล้านบาทเหลือ 5 ล้านบาท

นายกองตรีธนกฤต เปิดเผยว่า โรงพยาบาลที่เกิดเหตุไม่ได้สังกัดอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข แต่ได้สั่งการให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และแพทยสภาเข้าไปตรวจสอบว่าหมอที่ทำการผ่าคลอดได้ทำตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ พร้อมเชิญตัวแทนโรงพยาบาลเข้ามาพูดคุยเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งหลังจากนี้จะนำตัวเด็กไปตรวจที่โรงพยาบาลประสาทวิทยา เพื่อดูว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นมาจากการกระทำของหมอหรือความผิดปกติตั้งแต่ในครรภ์

ขณะที่นายแพทย์ประกิจ สาระเทพ ผู้อำนวยการกองตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปกติการคลอดลูกหากแม่ไม่มีประวัติเคยผ่าคลอด หรือไม่มีภาวะเสี่ยง หมอจะแนะนำให้คลอดด้วยวิธีธรรมชาติ แต่กรณีนี้เกิดจากภาวะที่ไม่สมดุลกันระหว่างขนาดเชิงกรานของแม่และขนาดตัวของลูก ซึ่งหากมีภาวะแทรกซ้อนที่บ่งชี้ว่าการคลอดผิดปกติหรือไม่ หมอจะพิจารณาเปลี่ยนแปลงวิธีการคลอด แต่หากผู้ป่วยยืนยันว่าจะผ่าคลอดแพทย์ต้องดำเนินการตามความต้องการ

อ่านข่าว

กรุงไทยร่วมกับ สปสช.ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 7 กลุ่มเสี่ยง

รู้จัก! ปรากฏการณ์ rain bomb ฝนตกไม่ลืมหูลืมตา

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ปรับขึ้นค่าโดยสาร เป็น 17 - 45 บ. มีผลพรุ่งนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง