ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

โพลงเช้อมา "ไร่หมุนเวียน" อยู่ในกฎหมาย เสียงจาก "แก่งกระจาน"

สิ่งแวดล้อม
28 มิ.ย. 67
10:59
628
Logo Thai PBS
โพลงเช้อมา "ไร่หมุนเวียน" อยู่ในกฎหมาย เสียงจาก "แก่งกระจาน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"เราจะไม่ยอมเป็นกะเหรี่ยงแก่งกระจาน...รุ่นสุดท้าย"

กรรณิกา สาลิลา ชาวกะเหรี่ยงห้วยกระซู่ ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.หนอง หญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี กล่าวความตั้งใจของเธอและชาวกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่ง ที่พยายามเดินหน้าต่อสู้ทั้งในทางกฎหมายและในทางวิชาการ เพื่อรักษาสิทธิในการทำกินด้วยรูปแบบ "ไร่หมุนเวียน" ซึ่งเป็นวิถีการทำเกษตรที่ชาวกะเหรี่ยงสืบทอดกันมาตั้งแต่พรรพบุรุษและยังช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ให้อุดมสมบูณ์ต่อเนื่องมายาวนานกว่าร้อยปี

แต่เมื่อกำลังจะมี "กฎหมาย" ที่ตีความได้ว่า "การทำไร่หมุนเวียนเป็นความผิด" ชาวกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง ที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า "โพลงเช้อมา" ซึ่งมีความหมายว่า "วิถีชีวิตที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ" จึงลุกขึ้นมาต่อสู้ เพราะรู้ดีว่าถ้าไม่มีไร่หมุนเวียน ก็ไม่หลงเหลือวิถีความเป็นกะเหรี่ยงอยู่บนแผ่นดินนี้อีกต่อไป หรือมีค่าเท่ากับสูญสิ้นเผ่นพันธุ์

ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ....ทยอยถูกประกาศบังคับใช้ในแต่ละพื้นที่อุทยานแห่งชาติมาเรื่อยๆ และมีผลบังคับใช้ไปแล้วในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง ที่ไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่

สาเหตุสำคัญที่ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีผลอย่างมากกับพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แม้จะถูกนำเสนอว่าเป็นร่างกฎหมายที่ช่วยแก้ไขข้อพิพาทระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่ามานานแล้วกับอุทยานโดยการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ทำกินชั่วคราวเป็นเวลา 20 ปี แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่า เนื้อหาในร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีสาระสำคัญที่ไปจำกัดรูปแบบการทำเกษตรในพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงที่สืบทอดกันมา คือ

  • กรมอุทยานฯจะสำรวจการถือครองที่ดิน จัดทำรายชื่อบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตอุทยาน ฯ พร้อมด้วยจำนวนที่ดินและแผนผังแปลน
  • จากนั้นจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้อาศัยทำกินในเขตอุทยานได้ แต่อยู่ภายใต้เงื่อน
  • ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ ... มิได้มีสิทธิในที่ดิน
  • มีระยะเวลาบังคับใช้ คราวละไม่เกิน 20 ปี
  • บุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชนภายใต้โครงการต้องเป็นผู้ไม่มีที่ดินทำกินตามที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ สำรวจภายใต้กรอบเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 30 มิถุนายน 2541 หรือเป็นไปตามนโยบายทวงคืนผืนป่า ตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 (17 มิ.ย.2557)
  •  จะต้องไม่ละทิ้งการทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัยติดต่อกันเกิน 1 ปี โดยไม่มีเหตุอันควร

เงื่อนไขทั้งหมดนี้มีความหมายที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยงทั้งในพื้นที่ภาคเหนือและในผืนป่าตะวันตกต้องแสดงความกังวล เพราะตีความได้ว่า

  • ให้ทำกินในที่ดินของอุทยานได้เป็นการชั่วคราว ก่อนจะยึดคืน
  • จำกัดพื้นที่ทำกิน
  • ถ้าเข้าร่วมโครงการ เท่ากับถูกบังคับให้ต้องยอมรับว่า เพิ่งมาอยู่ในพื้นที่อุทยานมาก่อนปี 2541 หรือ 2557 ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นชุมชนที่อยู่มาก่อนออกกฎหมายประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ
  •  ต้องทำเกษตรแบบแปลงเดี่ยวเท่านั้น เพราะมีเงื่อนไขว่าต้องทำต่อเนื่องทุกปีในแปลงเดิม ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิมได้อีกต่อไป

"เราต้องการให้ร่างกฎหมาย ระบุให้ชัดเจนว่า เรามีสิทธิทำเกษตรตามวิถีดั้งเดิมของเรา คือ ไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นรูปแบบการทำเกษตรแบบแปลงรวม ต่างจากเงื่อนไขที่กรมอุทยานฯระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา คือ ต้องเป็นสิทธิของรายบุคคล และทุกแปลงต้องทำกินอย่างต่อเนื่องทุกปี ... เพราะเรามั่นใจว่า ไร่หมุนเวียนที่สืบทอดกันมา เป็นการเกษตรที่อนุรักษ์ป่าได้ดีกว่าสิ่งที่อุทยานบอกให้ทำ" กรรณิกา อธิบาย

กรรณิกา สาลิลา ชาวกะเหรี่ยงห้วยกระซู่

กรรณิกา สาลิลา ชาวกะเหรี่ยงห้วยกระซู่

กรรณิกา สาลิลา ชาวกะเหรี่ยงห้วยกระซู่

ดังนั้น ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน จาก อ.หนองหญ้าปล้องในนามกลุ่ม "โพลงเช้อมา" จึงร่วมมือกับกลุ่มนักกฎหมายและนักวิชาการทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับไร่หมุนเวียน ซึ่งได้ผลออกมาว่า ไร่หมุนเวียน เป็นรูปแบบการทำเกษตรที่ช่วยอนุรักษ์ป่าได้ดีกว่ารูปแบบที่กรมอุทยานฯบอกให้ทำ ช่วยรักษาสภาพของดินและป่าต้นน้ำ และยังช่วยดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด หากทำตามวงรอบของการหมุนเวียน คือ จะเวียนแปลงทำไร่ไปเรื่อยๆเพื่อปล่อยให้ป่าฟื้นตัวและจะวนกลับมาทำไร่ในแปลงเดิมทุกๆ 7 ปี ตามภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมา พร้อมท้าให้กรมอุทยานฯ เปิดให้ทดลองเปรียบเทียบว่ารูปแบบไหนช่วยอนุรักษ์ป่าได้ดีกว่ากันระหว่างการทำเกษตรแปลงเดี่ยวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ กับการทำไร่หมุนเวียน

อ่าน อุทยานฯ ห้ามทำไร่หมุนเวียน ผลศึกษาชี้ วิถีเกษตรกะเหรี่ยง "รักษ์ป่า"

นอกจากงานวิจัย ชาวกะเหรี่ยงแก่งจาน 3 ชุมชน คือ ชุมชนห้วยกระซู่, ชุมชนห้วยหินเพลิง และชุมชนสาริกา อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ยังไปยื่นข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ช่วยพิจารณาเพิ่มเติมเงื่อนไข ... การรับรองวิถีการใช้ประโยชน์ด้วยการ "ทำไร่หมุนเวียน" ของชุมชนให้ถือเป็นการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ ... ไว้ในร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรในเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ...โดยให้เหตุผลว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวถือเป็นกฎหมายลำดับรองของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีบทบัญญัติเพิ่มเติมในมาตรา 64 และ 65 ไว้ว่า ให้สำรวจและรับรองวิถีทำกินแบบดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้นจะต้องรับรองวิถีการทำกินดั้งเดิมไว้ด้วย

"เรายื่นข้อเรียกร้องนี้ต่ออุทยานมาตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 เรื่องแรกคือเราขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 64 และ 65 ที่ระบุให้ต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน โดยขอให้ทางอุทยานมาสำรวจพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนและพิจารณารังวัดที่ดินทำเกษตรในรูปแบบแปลงรวมเป็นของชุมชน แต่มาจนถึงวันนี้ก็ยังไม่เคยได้รับการตอบรับ"

"ต่อมาเพื่อมีร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับที่จะเป็นปัญหานี้ออกมา พวกเราได้มีข้อเสนอไปยังกรมอุทยานฯ และกระทรวงให้ปรับปรุงร่างพระราชกฤษฎีกา แต่ก็ยังไม่ได้มีการนำข้อเสนอของพวกเราไปปรับปรุง พวกเราจึงไปยื่นเรื่องกับ กมธ ที่ดิน ให้ตรวจสอบกระบวนการออกกฎหมายนี้ และขอให้ช่วยเสนอให้กรมอุทยานฯ เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การให้สิทธิทำกินในเขตอุทยานว่าต้องมีคำว่า "ไร่หมุนเวียนแปลงรวม" ระบุไว้ในกฎหมายด้วย เพราะในหลักเกณฑ์ที่เขียนมามีเพียงคำว่า ให้สิทธิกับผู้ยากไร้ในแบบเกษตรแปลงเดี่ยวเท่านั้น" กรรณิกา อธิบายเส้นทางการต่อสู้ทางข้อกฎหมายของชาวกัเหรี่ยง 3 ชุมชนในป่าแก่งกระจาน

หลังได้รับข้อร้องเรียนจากชาวกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง คณะกรรมาธิการการที่ดินฯ จึงเชิญผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืชมาให้คำชี้แจง จากนั้นจึงหารือในกรรมาธิการ และออกแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 มีเนื้อหาที่น่าสนใจ คือ กรรมาธิการได้ข้อสรุปว่า ต้องเสนอแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 เกี่ยวกับการระบุถึงนิยามและรายละเอียดของการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งได้ยื่นเป็นข้อเสนอแนะให้กรมอุทยานฯและคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้ว

ในรายงานของคณะกรรมาธิการที่ดิน ฯ อ้างอิงถึงข้อความของ "เล่าฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล" ส.ส.เชื้อสายม้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมาธิการ เปิดเผยไว้ว่า มี 2 ประเด็นใหญ่ที่ได้เสนอให้กรมอุทยานฯ และคณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนกฎหมาย

ประเด็นแรก ขอให้ระบุคำว่า "ไร่หมุนเวียน" ไว้ในกฎหมาย เพื่อให้กฎหมายคุ้มครองพื้นที่การทำไร่หมุนเวียน โดยขอให้เปลี่ยนจากเดิมที่ใช้คำว่า "แปลงรวม" เพราะอาจถูกนำไปตีความเป็นอย่างอื่นได้ นี่เป็นประเด็นที่ชาวกะเหรี่ยงเป็นห่วง

"ผู้แทนจากกรมอุทยานฯ ชี้แจงกับกรรมาธิกาว่า ได้เพิ่มเติมคำว่า "แปลงรวม" ไว้ในร่างพระกฤษฎีกาที่อยู่ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่เรายังขอเสนอให้ระบุคำว่า " ไร่หมุนเวียน" ไส่ไว้ในกฎหมายเลย เพราะถ้าใช้เพียงคำว่า แปลงรวม เมื่อเวลาผ่านไปอาจจะมีผู้ไม่หวังดีนำที่ดินไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นก็ได้ ทั้งที่เราต้องการแปลงรวมไว้ทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิมของเราเท่านั้น" กรรณิกา อธิบายเพิ่ม

ประเด็นที่สอง กรรมาธิการเห็นว่า กรมอุทยานฯ ต้องดำเนินการสำรวจพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศที่ยังมีปัญหาตกหล่นอยู่ให้ครบถ้วน

"การขอให้อุทยานมาวัดที่เดินเป็นแปลงรวม เพราะเราต้องการทำไร่หมุนเวียนร่วมกันในฐานะของชุมชน โดยเราต้องการวางกติกาการจัดการในพื้นที่ไร่หมุนเวียนแปลงรวมกันเอง และพร้อมให้เจ้าหน้าที่เข้ามามีส่วนร่วมดูแลพื้นที่รอบนอกแปลง แต่ปัญหาที่ผ่านมา คือ กรมอุทยานฯ ได้แต่ส่งคนมารับหนังสือ แต่ยังไม่เคยตอบรับข้อเสนอและไม่เคยมาวัดที่เดินแปลงรวมเลย มีแต่ส่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯแก่งกระจานมาวัดและปักหมุดแนวเขตให้เป็นรายบุคคล"

"ครั้งนี้เราได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการ และกรรมาธิการได้เชิญกรมอุทยานฯมาชี้แจงแล้ว โดยมีมติส่งเรื่องไปที่กรมอุทยานฯและคณะกรรมการกฤษฎีกาขอให้แก้ไขเพิ่มเติมในข้อกฎหมายแล้ว งานวิจัยเราก็ทำแล้ว ที่เหลือก็ต้องรอดูว่าทางกรมอุทยานฯและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะตอบรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการอย่างไร ... เราก็ต้องรอ"

"แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ... เราจะไม่ยอมให้ภูมิปัญญาไร่หมุนเวียนถูกทำให้หายไป ... เราต้องการรักษาวิถีที่บรรพบุรุษถ่ายทอดไว้ให้ ... ถ้าไม่มีไร่หมุนเวียน ก็ไม่ต่างจากการสูญเสียจิตวิญญาณของคนกะเหรี่ยงไป ... เราจะไม่ยอมเป็นชาวกะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย" เป็นคำตอบของ กรรณิกา สาลิลา ชาวกะเหรี่ยงจากป่าแก่งกระจาน ต่อคำถามที่ว่า เธอจะทำอย่างไรถ้าร่างหระราชกฤษฎีกาของกรมอุทยานฯยังออกมาในรูปแบบเดิม

รายงานโดย: สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง