วันนี้ ( 27 มิ.ย.2567 ) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมฯได้ วิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งในภาพรวมและเชิงลึกในรายธุรกิจ พบว่า กลุ่มธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม เครื่องประดับ ยานยนต์ ธนาคาร และพลังงาน สามารถสร้างรายได้สูงสุดจากทุกกลุ่มธุรกิจ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ รองลงมาเป็นกลุ่มขายส่งขายปลีกนาฬิกาและเครื่องประดับ ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากผลประกอบการของร้านขายทอง และลำดับที่ 3 คือ ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ
อันดับที่ 4 กลุ่มยานยนต์ ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการขยายตัวของธุรกิจว่ายังมีโอกาสเติบโตและยังเกาะกลุ่มสร้างรายได้ที่ต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกัน อันดับที่ 5 ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆสำหรับยานยนต์ซึ่งไม่ได้จัดประเภทไว้ อันดับที่ 6 ธุรกิจขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถนั่งส่วนบุคคลฯ
ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ ครองอันดับ 7 ที่มีสร้างรายได้สูงจากการเก็บดอกเบี้ยจากสินเชื่อต่างๆและรายได้อื่นๆ อันดับที่ 8 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อันดับที่ 9 ธุรกิจในกลุ่มที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงและพลังงานที่ยังคงสร้างรายสูง แม้ว่าจะมีปัจจัยการเข้ามาแบ่งตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า แต่การใช้พลังงานเชื้อเพลิงยังคงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตในด้านต่างๆโดยเฉพาะรถยนต์สันดาปที่ยังคงเป็นพาหนะส่วนใหญ่ของประเทศ และอันดับที่ 10 ธุรกิจขายส่งเชื้อเพลิงเหลว
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลรายได้สูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ยังคงเป็นธุรกิจที่เคยติด 10 อันดับมาก่อน โดยเฉพาะ 3 อันดับแรกที่ครองแชมป์อยู่ในอันดับเดิม ส่วนใหญ่อยู่ในทิศทางที่เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะในกลุ่มของของปิโตรเลียมและน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปัจจัยด้านราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นและผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นซึ่งมีทางเลือกในการใช้พลังงานอาจทำให้ส่งผลกระทบบางส่วนต่อรายได้ของธุรกิจกลุ่มนี้
นางอรมน กล่าวอีกว่า ส่วนภาพรวมการลงทุนของต่างชาติ พบว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 317 ราย
โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 85 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 232 ราย เม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 71,702 ล้านบาท มีการจ้างงานคนไทย 1,212 คน
ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรกคือ ญี่ปุ่น เงินลงทุนรวม 40,214 ล้านบาท, สิงคโปร์ เงินลงทุน 5,189 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา มีเงินลงทุน 1,196 ล้านบาท, จีน เงินลงทุน 5,485 ล้านบาท และ ฮ่องกง เงินลงทุน 12,048 ล้านบาท
ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ พบว่า มีจำนวน 99 ราย คิดเป็น 31% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย มูลค่าลงทุน 18,224 ล้านบาท เป็นนักลงทุนจาก ญี่ปุ่น 31 ราย ลงทุน 3,523 ล้านบาท ,จีน 19 ราย ลงทุน 1,803 ล้านบาท ,ฮ่องกง 11 ราย ลงทุน 5,005 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 38 ราย ลงทุน 7,893 ล้านบาท
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับการจดทะเบียนจัดตั้งปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) มีจำนวน 39,032 ราย มีอัตราการจัดตั้งลดลงเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค. 66) คาดว่าเป็นผลจากมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ เช่น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเพื่อการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า เสถียรภาพทางการเมือง และความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้การคาดการณ์ยอดจดทะเบียนธุรกิจ ทั้งปี 2567 มีอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน (ปี 2566)ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้คาดการณ์ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในครึ่งปีแรกของปี 2567 อยู่ที่ 44,000 - 47,000 ราย
อ่านข่าว:
TDRI ชี้ เศรษฐกิจไทยโตต่ำสุดในอาเซียน แนะเร่งดึงทุนต่างชาติ
ทองคำเช้านี้ ร่วงอีก 150 บาท นักลงทุนจับตาดีเบต "ไบเดน-ทรัมป์"
ตลาด Art Toyไทยรุ่ง “กรมพัฒน์” ชี้ กลุ่ม Kidult แห่ซื้อเก็งกำไร