ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

TDRI ชี้ เศรษฐกิจไทยโตต่ำสุดในอาเซียน แนะเร่งดึงทุนต่างชาติ

เศรษฐกิจ
26 มิ.ย. 67
15:58
821
Logo Thai PBS
TDRI ชี้ เศรษฐกิจไทยโตต่ำสุดในอาเซียน แนะเร่งดึงทุนต่างชาติ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
TDRI เผย เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน แนะรัฐแก้กฎระเบียบ ลดขั้นตอนการลงทุนเพิ่มความสะดวก ช่วงชิงโอกาสจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ดึงทุนต่างชาติเข้ามา หลังเศรษฐกิจไทยโตต่ำสุดในอาเซียน

วันนี้ (26 มิ.ย.2567) น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงทิศทางของเศรษฐกิจในช่วงกลางปีนี้ว่า ไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยโต 1.5 % เมื่อเทียบกับช่วงกันของปีที่ผ่านมา แม้ว่า ตัวเลขจะดีกว่านักวิเคราะห์คาดกันไว้ว่าจะไม่ถึง 1 % แต่ถือว่าค่อนข้างน้อยสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างไทย

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา ทีดีอาร์ไอ

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา ทีดีอาร์ไอ

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา ทีดีอาร์ไอ

อย่างไรก็ตามมองว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังคาดว่า จะขยายตัวมากกว่าไตรมาส 1 ซึ่งทั้งปีจะขยายตัว 2.5 % เทียบกับปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจโต มาจากการลงทุนของภาครัฐ ที่เม็ดเงินลงสู่ระบบหลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ได้ประกาศไปเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้น

ในขณะที่การส่งออกไทยแม้ว่าหดตัว ในไตรมาสแรก แต่คาดว่าน่าจะได้เห็นมูลค่าการส่งออกที่สูงกว่าปีที่แล้ว 1-2 % เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดหลักของไทยอย่าง สหรัฐฯ ยุโรป ตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศในอาเซียนที่ขยายตัว โดยการส่งออกใน 5 เดือนแรกของปีนี้ได้ขยายตัว 2.6 % จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สงครามการค้าของ 2 มหาอำนาจ

สงครามการค้าของ 2 มหาอำนาจ

สงครามการค้าของ 2 มหาอำนาจ "จีน-สหรัฐ"

น.ส.กิริฎา กล่าวอีกว่า ความท้าทายในครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนจากภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งความไม่สงบในตะวันออกกลาง ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน ความไม่ลงรอยกันของ 2 ยักษ์ใหญ่ ระหว่าง สหรัฐฯกับจีน

สหรัฐฯ กีดกันทางการค้ากับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ มีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในระดับที่สูง อย่างรถEV สหรัฐฯก็ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 100 % และไม่ใช่แค่สหรัฐฯเท่านั้น แต่ภาคีของสหรัฐฯ อย่างยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นก็พยายามจะกีดกันสินค้าจากจีน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจจีน ไม่สามารถที่จะฟื้นได้มากเท่าที่เราคาดเอาไว้ เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจจีนจะโตช้า

ดังนั้นเมื่อจีนไม่สามารถขายสินค้าให้กับตลาดเดิมที่เคยขายได้ จีนจึงหาตลาดอื่นเพื่อระบายสินค้าแทน แน่นอนว่าภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดที่จะมีสินค้าของจีนหลั่งไหลเข้ามามาก ซึ่งเป็นทั้ง ความเสี่ยงและโอกาส ของไทย

ความเสี่ยง คือ สินค้าจากจีนเข้ามาตีตลาดไทยในสินค้าประเภทเดียวกัน ซึ่งสินค้าผลิตในไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาสินค้าที่ถูกกว่าได้ ขณะที่ โอกาส คือการนำวัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วนจากจีนมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าก็จะเกิดประโยชน์

ผอ.นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา ทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยโตน้อยสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของอาเซียน เมื่อไปเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นเดียวกับไทย เช่น อินโดนีเซีย ลาว หรือกัมพูชา ปีนี้คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจมาเลเซียน่าจะขยายตัวเกือบ 5%

น.ส. กิริฎา ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโต นอกจากอานิสงส์เรื่องราคาพลังงานแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมไฮเทค และการผลิต Semiconductor ที่เป็นที่ต้องการของเศรษฐกิจโลกในยุคปัจจุบัน โดยพบว่าที่ผ่านมามีภาคธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่นี้ไปลงทุนที่มาเลเซียค่อนข้างมาก สิ่งเหล่านี้ประเทศไทยยังพัฒนาสู้มาเลเซียไม่ได้

สิ่งที่ไทยควรปรับปรุง คือ กฎระเบียบ ขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆที่เกี่ยวกับธุรกิจ และการลงทุน ให้มีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในระยะสั้น และไม่ต้องใช้งบประมาณ ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งหากไทยทำได้ก็จะสามารถดึงดูดการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่หลายประเทศย้ายฐานการผลิตจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์

ขณะเดียวกันยังต้องเร่งพัฒนาทักษะของแรงงานในประเทศ เพื่อให้ตอบโจทย์กับการลงทุนใหม่ๆที่เน้นทักษะการใช้เครื่องจักร และเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้ง หุ่นยนต์ และระบบ Automation เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คิดว่าสำคัญมากเพราะจะทำให้คนไทยสามารถทำงานกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใหม่ได้

รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล และสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้เร็วและแรงให้มากขึ้น เพื่อดึงดูด Digital Nomad ผู้ที่ทำงานออนไลน์และสามารถทำงานได้ทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ และ Data Center ที่เข้ามาในไทยแล้วหลายบริษัท

อีก 2-3 ปี ระบบเครือข่ายจะเป็น 6G ดังนั้นไทยต้องตามให้ทัน ต้องมีการลงทุนภาครัฐ ซึ่งภาครัฐเองจะต้องเตรียมงบประมาณไว้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆพวกนี้ เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นสถานที่ของธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ๆได้

นอกจากนี้ยังมีประเด็น พลังงาน ที่ภาคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญเพราะ นักลงทุนต่างขาติส่วนใหญ่จะถามว่ามีพลังงานสะอาดให้หรือไม่ เพราะธุรกิจต้องลด Carbon Footprint และบริษัทใหญ่ มี Net Zero เป็นเป้าหมาย จึงต้องการพลังงานสะอาด เป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยจะพัฒนาการผลิตพลังงานสะอาดให้มากขึ้นและเร็วขึ้น ถ้าทำได้แน่นนอนว่าบริษัทขนาดใหญ่ก็อยากจะมาลงทุน

อย่างไรก็ตามการพัฒนาและเดินหน้านโยบายเหล่านี้ไม่ใช่แค่เป็นไปเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังทำให้รายได้และความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นด้วย

 อ่านข่าว:

ราคาทองคำ เปิดตลาดเช้านี้ ร่วง 150 บาท เหตุดอลลาร์แข็งค่า-เฟดอาจปรับดอกเบี้ย

 สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯรอบใหม่ สนค.ชี้โอกาสส่งออกสินค้าไทย

 เลือกตั้งฝรั่งเศส ทำตลาดทองคำผันผวน แนะรอจังหวะเข้าซื้อ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง