วันนี้ (19 มิ.ย.2567) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยกรณีพบเด็กนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ร้อยเอ็ด ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มก้อนว่า ได้รับรายงานจาก นพ.สุรเดชช ชวะเดช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบเด็กนักเรียนป่วยด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่พร้อมกันจำนวน 20 คน
วันนี้จึงส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนโรค จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ลงพื้นที่สอบสวนโรคและค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม พบว่าช่วงวันที่ 17-18 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีเด็กนักเรียนที่มีอาการป่วยขาดเรียนอีก 35 คน จาก 2 ห้องเรียน ผู้ปกครองได้พาไปรักษาที่คลินิกเอกชน
แพทย์แจ้งว่าป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ บางส่วนเข้ารับการรักษาที่รพ.สุวรรณภูมิตรวจด้วย Test kit พบไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A 8 คน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นพ.โอภาส กล่าวว่า กำชับให้ สสจ.ร้อยเอ็ดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือน-12 ปีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ผู้ป่วยธาลัสซีเมียและผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องผู้ป่วยโรคอ้วน และผู้พิการทางสมอง
นอกจากนี้ แนะนำประชาชนหากมีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ควรรีบเข้ารับการรักษา เน้นมาตรการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณคนหนาแน่น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเดินหายใจ จัด Big Cleaning Day ในโรงเรียน สถานที่ทำงาน โรงงาน เรือนจำ ฯลฯ เพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงการแพร่กระจายโรค
อ่านข่าว ขยายถึงสิ้นปีฉีดฟรี! วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผู้ประกันตน ม.33-ม.39
ส่งตัวอย่างเชื้อตรวจ-ประวัติไม่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ด้านนพ.สุรเดชช กล่าวว่า ทีมปฏิบัติการสอบสวนโรคได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคในโรงเรียนที่พบเด็กป่วย โดย 1.คัดกรองนักเรียนทุกชั้นเรียน ค้นหา ครูและนักเรียนที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เพื่อหาอุบัติการณ์เกิดโรค
นอกจากนี้ยังเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยที่ยังมีอาการ เพื่อตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งอยู่ระหว่างส่งไปยังสถาบันบำราศนราดูร และสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อคัดกรองการติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 10 คน ผลเป็นลบทุกราย สอบถามประวัติการรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ พบว่าเด็กนักเรียนไม่มีประวัติได้รับวัคซีน
อ่านข่าว กรมวิทย์ฯ พบไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) ระบาดในไทยมากสุด
นอกจากนี้ ได้แนะนำให้โรงเรียนจัดเตรียมจุดล้างมือ โดยเฉพาะในห้องน้ำและโรงอาหาร พร้อมทั้งอธิบายวิธีการล้างมือ และกระตุ้นให้เด็กนักเรียนล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำหลังสัมผัสวัสดุสิ่งของต่างๆ ให้จัดการเรียนการสอนในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
งดเปิดเครื่องปรับอากาศขณะอยู่ในช่วงการระบาดหรือมีเด็กป่วยจำนวนมาก,ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสร่วม เช่น ราวบันได เครื่องคอมพิวเตอร์ ตู้น้ำดื่ม เป็นประจำ ด้วยน้ำและสบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดให้ถี่ขึ้น ทั้งช่วงก่อนเข้าเรียน พักกลางวัน และหลังเลิกเรียนให้เด็กนักเรียนใช้แก้วน้ำ ช้อน ส้อมส่วนตัว และคัดกรองเด็กที่มีอาการป่วยทุกเช้า หากพบเด็กป่วย ให้แจ้งครูอนามัยเพื่อสอบถามข้อมูลการเจ็บป่วยและส่งรักษาที่โรงพยาบาล
อ่านข่าวอื่นๆ
สะพัด "บิ๊กต่อ" หวน สตช. - "บิ๊กโจ๊ก" ยังไร้สรุปอุทธรณ์คำสั่งให้ออกฯ