แมงเม่าบินเข้าโครงการกู้เงินเลี้ยงโคขุน
เป็นหนี้ 2 ล้าน เพราะรวมกลุ่มกู้เงินมาเลี้ยงโคขุน เราเคยเลี้ยงวัวแบบชาวบ้านทั่วไป พอมีโครงการล้านละร้อยเงิน กู้ดอกเบี้ยต่ำก็เลยกู้มาเลี้ยง ไม่คิดว่าจะเจ๊งแบบนี้
วินัย พัดพรม ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนวังหิน กล่าวด้วยความผิดหวัง

วินัยระบุว่า เลี้ยงวัวแล้วเจ๊ง เป็นหนี้หลักล้าน แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ยังเป็นความหวังเดียว ในการแก้ปัญหาให้กับผู้เลี้ยงโคขุนวังหิน บ้านสร้างปะอาว ต.บ่อแก้ว อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ
พวกเขาได้ส่งข้อมูลปัญหาให้กับ เครือข่ายเกษตรกรรักสันติและวิสาหกิจชุมชนผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ที่รวบรวมรายชื่อและยอดหนี้ของเกษตรกร ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งแก้ปัญหา
โดยขอให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ซื้อหนี้สินของเกษตรกรจากสถาบันการเงิน เพื่อให้เกษตรกรสามารถผ่อนชำระได้ โดยไม่ถูกฟ้องร้องยึดทรัพย์

2 ปีก่อน พวกเขาเข้าร่วมโครงการล้านละร้อย รัฐบาลยุคนั้น มีโครงการให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ในอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.01 ต่อปี หรือล้านละร้อย และมอบหมายให้กรมปศุสัตว์สนับสนุนการเลี้ยงโคขุนของเกษตรกร
พร้อมนำบริษัทเอกชนมาทำข้อตกลงขายอาหารโค และเข้ารับซื้อโคขุนทั้งหมดจากเกษตรกรส่งขายต่างประเทศ แต่มีทั้งกลุ่มที่ประสบผลสำเร็จ และกลุ่มที่ล้มเหลว

เกษตรกรส่วนหนึ่งบอกว่า ในขั้นตอนการทำสัญญา ไม่ใช่ทุกกลุ่มที่กู้เงินแล้วจะได้ดอกเบี้ยต่ำ
พวกเขาตั้งคำถามว่า สาเหตุที่ล้มเหลวเป็นเพราะพวกเขาขาดความรู้และประสบการณ์ในการเลี้ยงโคขุน หรือยังมีสาเหตุอื่น อย่างกรณีที่โครงการกำหนดให้ต้องซื้อวัวจากเอกชน ซึ่งนำวัวที่อาจไม่มีคุณภาพมามอบให้ รวมทั้งอาหารที่เอกชนขายให้เกษตรกร มีคุณภาพจริงหรือไม่
ช่วงปี 2563-2564 ประเทศไทยสามารถส่งออกโคขุนไปยังประเทศเวียดนามได้ ก่อนจะเจอปัญหาสารเร่งเนื้อแดง ช่วงปลายปี 2565 ทำให้เวียดนามระงับการนำเข้าโคขุนจากไทย แม้ปัจจุบันจะสามารถส่งออกได้ แต่ก็มีข้อจำกัด ระเบียบที่เข้มงวด ส่งออกได้น้อยลง ราคาวัวในประเทศตกต่ำ จนถึงปัจจุบัน
ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อต้นน้ำ ต.ศรีสำราญ อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ แม้เคยเป็นกลุ่มเลี้ยงโคขุนที่ประสบผลสำเร็จ ได้รับรางวัลระดับประเทศ เคยขายโคขุนได้กำไร แต่ปัจจุบันพวกเขาหยุดเลี้ยง และทยอยขายวัวบางส่วนใช้หนี้ ธ.ก.ส.

มีเกษตรกรหลายคนที่เผชิญปัญหาขาดทุนจากการเลี้ยงโคขุน นิติพงษ์ ธัญธรศิรกุล เกษตรกรผู้เลี้ยงโค จ.ศรีสะเกษ เป็นอีก 1 คนที่ตัดสินหยุดเลี้ยงโคขุน หลังส่งออกไม่ได้ ราคาตกต่ำ
หากเกษตรกรที่ไม่เคยเลี้ยงวัว หรือไม่มีประสบการณ์เลี้ยงโคขุน แล้วหวังจะประสบผลสำเร็จจากอาชีพนี้ต้องคิดทบทวนดีๆ ไม่เช่นนั้นจะเป็นเหมือนแมงเม่าบินเข้ากองไฟ
เลี้ยงโคขุนเอาเงินต้องไม่เริ่มด้วยการเป็นหนี้
ท่ามกลางวิกฤตราคาโคเนื้อตกต่ำ เกษตรกรหลายคนเป็นหนี้สินจากการกู้เงินมาเลี้ยงวัว แต่ยังมีเกษตรกรกลุ่มหนึ่ง รวมกลุ่มเลี้ยงโคขุนเกรดพรีเมียม มีตลาดรองรับชัดเจน ราคารับซื้อที่แน่นอนตามคุณภาพเนื้อ พวกเขาย้ำถึงปัจจัยความสำเร็จข้อหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจคือ
การเริ่มต้นเลี้ยงวัว ต้องเริ่มจากทุนที่เกษตรกรมี ค่อยๆ เรียนรู้ ไม่ใช่เริ่มกู้เงินมาเลี้ยงวัว แต่เป็นการเลี้ยงวัวเพื่อเอาเงิน
โคขุนเกรดพรีเมียม ขุนระยะยาว 10-12 เดือนถูกนำมารวมไว้ที่คอกกลางของเครือข่ายเกษตรกรฟาร์มโคขุนอัมรีฟาร์ม ต.ปราสาท อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ เพื่อเตรียมส่งขายให้กับสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด จ.นครปฐม วันส่งโคขุน คือวันแห่งความสุข เต็มไปด้วยรอยยิ้มของเกษตรกร

พวกเขาบอกว่า แนวทางสำคัญในการเลี้ยงโคขุนของกลุ่ม คือจะไม่ให้เกษตรกรกู้เงินมาลงทุนเลี้ยงโคขุน แต่จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนจากการที่เคยเลี้ยงวัวแบบพื้นบ้าน ใช้ทุนที่มีทำคอกง่ายๆ ปลูกแปลงหญ้า ทำกากมันหมักยีสต์สาโท ผสมอาหารข้น เพื่อลดต้นทุน เรียนรู้จากการเลี้ยง 1-2 ตัวก่อน เมื่อสำเร็จจึงค่อยๆขยายคอก เพิ่มจำนวนโคที่จะนำมาขุน

ในช่วงที่ราคาโคเนื้อตกต่ำแบบนี้ ถือเป็นโอกาสทองที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนพรีเมียมที่ไปเลือกซื้อโคตามตลาดนัดโคกระบือ สายพันธุ์ชาโรเล่ แองกัส และบราห์มัน เลือดสูง ซึ่งช่วงนี้ราคาถูกมากตัวประมาณ 15,000 บาท นำมาขุน 10 เดือน หักต้นทุนได้กำไรตัวละกว่า 20,000-30,000 บาท
เครือข่ายเกษตรกรฟาร์มโคขุนอัมรีฟาร์ม จ.ศรีสะเกษ มีสมาชิกกว่า มีสมาชิกกว่า 120 ครอบครัว มีเงินหมุนเวียนในกลุ่มและชุมชุมกว่า 40 ล้านบาทต่อปี เริ่มเลี้ยงโคขุน
ตั้งแต่ปี 2560 วัวที่เลี้ยงอย่างปราณีต จากความตั้งใจของพวกเขา กลายเป็นเนื้อพรีเมี่ยม ที่เป็นที่รู้จักในตลาดภายในประเทศ ภายใต้แบรนด์แมกซ์บีฟ เป็นการเลี้ยงวัวที่มีตลาดนำชัดเจน สร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้กับเกษตรกร

โครงการโคแสนล้านต้องไม่ใช่โคแสนสาหัส
ภาพตัดต่อลิซ่าแบกวัว พร้อมข้อความว่า "ความหวังเดียวของพี่น้องเกษตรกรชาววัวตอนนี้" ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ท่ามกลางกระแสที่เรียกได้ว่าแทงใจดำของคนเลี้ยงวัว ที่เจอปัญหาราคาวัวตกต่ำ
เพราะกระแสที่ลิซ่า หยิบจับสิ่งใด สิ่งนั้นก็มักจะมีราคา หากมาจับวัวบ้าง ราคาวัวอาจเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้

ขณะที่ข้อมูลการเปิดสูตรเลี้ยงวัวเงินล้าน โครงการโคแสนล้าน ก็ถูกวิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ ว่าแทบเป็นไปไม่ได้ คนเลี้ยงวัวตัวจริงบอกว่า การเลี้ยงวัวไม่ได้รวยทุกคน มีปัญหาที่ต้องจัดการ มีทั้งคนประสบผลสำเร็จ และก็มีคนขาดทุน

ส่วนความหวังการส่งออกวัวมีชีวิตขายให้จีน คนในวงการส่งออกวัวก็มองว่ายังเป็นไปได้ยาก

แม้จะมีกระแสที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการโคแสนล้าน ดูเหมือนว่า รัฐบาลจะมั่นใจว่า โครงการนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ให้อยู่ดีกินดี มีรายได้ดี
โครงการโคแสนล้าน เป็นโครงการที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ผลักดันเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ก่อนที่จะมาเป็น รมว.สาธารณสุข
สำหรับความคืบหน้า "โครงการโคแสนล้าน" คณะทำงานได้เริ่มประชุมเดินหน้าโครงการ และพยายามปิดช่องโหว่ปัญหาที่เคยเกิดกับโครงการส่งเสริมเลี้ยงวัวในอดีต
มีการกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ เช่นการรับซื้อวัวต้องพิจารณาซื้อในพื้นที่ก่อนการซื้อผ่านผู้ประกอบรายใหญ่ ที่สำคัญจะต้องวางแผนด้านการตลาดให้กับเกษตรกร

ซึ่งหลังจากที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการ "โครงการโคแสนล้าน” นำร่อง งบประมาณ 5 พันล้านบาท ได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ หรือ สทบ. รับไปตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดและงบประมาณ จากนั้นจึงจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป
"โครงการโคแสนล้าน" ยังถูกพูดในเวที สานเสวนาเรื่อง “รวมพลังโคเนื้อไทยก้าวข้ามวิกฤต” ที่จัดขึ้นในงานวันเนื้อไทย ที่ จ.นครราชสีมา 1-3 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นกับคนเลี้ยงวัว

เรื่องราคาวัวตกต่ำไม่ใช่แค่ปัญหาเดียว แต่ในการเลี้ยงโคขุนก็เจอปัญหาต้นทุนการเลี้ยง โดยเฉพาะค่าอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูง

หลายภาคส่วนตั้งคำถามกับนโยบายของภาครัฐว่า มาถูกทางแล้วหรือไม่ รวมทั้งงบประมาณที่ใช้ไปกับโครงการส่งเสริมการเลี้ยงวัว ก็ควรที่จะแก้ปัญหาที่เกิดกับเกษตรกรในตอนนี้ได้จริง เพราะหลายโครงการที่ผ่านมามีบทเรียนความล้มเหลว ที่ต้องทบทวนก่อนทำโครงการใหม่
โครงการโคอีสานเขียว กลายเป็นโคพลาสติก โครงการโคบาลบูรพา มีปัญหามากมาย ปัจจุบันโคบาลชายแดนใต้ก็มีปัญหาอยู่เนืองๆ ถ้าจะมีโครงการแบบนี้ขอเถอะครับ อย่าเอาวัวจากภายนอกประเทศเข้ามา ให้เกษตรกรได้นำวัวในประเทศมาเลี้ยง
นายปรีชา บัวทองจันทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าว
ด้านนายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม อดีตผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ที่ปัจจุบันเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ดูแลโครงการโคแสนล้าน ระบุว่า
แม้หลายภาคส่วนจะกังวลว่า ท่ามกลางราคาโคเนื้อตกต่ำ ทำไมรัฐบาลต้องทำโครงการส่งเสริมเลี้ยงโคอีก
แต่ขอยืนยันว่า โครงการนี้เป็นการส่งเสริมเลี้ยงโคต้นน้ำเพศเมีย โครงการนี้ใช้งบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท นำร่องกับกองทุนหมู่บ้านเกรดเอ จากจำนวนกองทุนหมู่บ้านทั้งหมด 79,000 กองทุน
โดยกองทุนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับงบประมาณ 1 ล้านบาท มีสมาชิกเข้าร่วม 20 ราย รายละ 50,000 บาท จะซื้อวัววัยเจริญพันธุ์มาเลี้ยง และปรับปรุงด้วยโคเนื้อพันธุ์ดี ให้ได้ลูกวัวคุณภาพ เกษตรกรที่เข้าโครงการสามารถจับมือกับเครือข่ายเกษตรกรที่มีพ่อพันธุ์หรือน้ำเชื้อโคเนื้อพันธุ์ดี จากนั้นใช้เวลา 2-3 ปี ลูกวัวจากโครงการจะเป็นผลผลิตที่เข้าสู่ตลาด เน้นตลาดเขียงเนื้อชุมชน หรือเนื้อสำหรับอาหารอีสาน ลาบก้อย แต่ในอนาคตสามารถยกระดับสู่การเลี้ยงโคขุนพรีเมียมได้

นายวิวัฒน์ ไชยชอุ่ม ยังระบุว่า มีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน ที่แสดงความกังวลต่อคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติโครงการนี้ ทั้งสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้ง ธกส. ที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กทบ.ต้องดูเรื่องความเสี่ยงของโครงการให้กับเกษตรกร ช่วยดูเรื่องตลาด ขีดเส้นใต้ หรือย้ำ คำว่า ตลาด
ผมได้เข้ามาช่วย กทบ.และแจ้งผู้บริหารว่า จะต้องทำเรื่องการตลาดเพื่อรองรับโคเนื้อ ซึ่งเป็นผลผลิตของโครงการโคแสนล้าน นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จะรออีก 2-3 ปีค่อยทำตลาดไม่ได้ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติต้องวางแผนการตลาดให้ชัดเจน
คนเลี้ยงสิ้นหวังยุคฟองสบู่แตกของการเลี้ยงวัว
ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อกว่า 1,400,000 ครัวเรือน มีโคเนื้อกว่า 9,000,000 ตัว หลายภาคส่วนมองว่า เข้าสู่ยุคฟองสบู่แตกของการเลี้ยงโค เป็นช่วงที่มีโคจำนวนมากแต่ขายไม่ได้ราคาดี
ขณะที่การส่งออกโคมีชีวิตยังส่งออกได้น้อย สภาพที่เกิดขึ้นก็ถือว่ามีปัญหามากพอแล้ว แต่กลับพบว่า ยังต้องเผชิญกับปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อเถื่อนอีกด้วย
นายไพบูลย์ ใจเด็ด อุปนายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โคเนื้อราคาตกต่ำคือ เนื้อเถื่อน หรือเนื้อกล่องที่ลักลอบนำเข้าประเทศไทย ได้ทำลายตลาดของผู้เลี้ยงโคเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นโคเนื้อทั่วไป โคพื้นเมือง และโคพันธุ์ผสม รวมทั้งตลาดโคขุนด้วย ตอนนี้เกษตรกรแทบหายใจไม่ออกแล้ว เพราะราคาโคเนื้อตกต่ำ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการนำเข้าวัวจากประเทศเมียนมาร์ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคระบาดในสัตว์ ก่อนหน้านี้ก็โรคลัมปีสกิน เราสูญเสียงบประมาณไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อที่จะแก้ปัญหา แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้

ลำดับเหตุการณ์ และสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับอาชีพเลี้ยงโคเนื้อ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
เริ่มจากปี 2563 แม้จะเป็นช่วงโควิด -19 แพร่ระบาด พบว่า ราคาโคเนื้อปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคอีสานมีผู้ที่นำเงินเก็บไปซื้อโคมาเลี้ยง อีกทั้งการส่งออกโคขุนไปเวียดนามได้มากขึ้น ก็ทำให้เกษตรกรขายวัวได้ราคาดี
ปี 2564 พบการระบาดของโรคลัมปีสกิน แต่ราคาวัวก็ยังไม่ตกต่ำ
กระทั่ง ปลาย 2565 เวียดนามตรวจพบการใช้สารเร่งเนื้อแดงในโคขุนของไทย นำไปสู่การระงับการนำเข้า ราคาโคเนื้อเริ่มตกต่ำ

ปี 2566 พบการลักลอบน้ำเข้าเนื้อเถื่อน ยิ่งฉุดให้ราคาโคเนื้อตกต่ำ สวนทางกับราคาเนื้อหน้าเขียงที่ยังไม่ปรับลดตาม แม้จะมีความพยายามเรียกร้องให้แก้ปัญหา

ล่าสุดปี 2567 ราคาโคต้นน้ำอายุประมาณ 6 เดือน - 1 ปี ปัจจุบันราคาอยู่ที่ประมาณตัวละ 3,000-5,000 บาท เท่านั้น หรือเฉลี่ย กิโลกรัมละ 70 บาท ส่วนราคาเนื้อในท้องตลาดกิโลกรัมละ 270-300 บาท
เกษตรกรในภาคอีสานหลายคนตั้งใจเลี้ยงวัว เพื่อที่จะขายวัวเป็นค่าเทอมส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย แต่ราคากลับตกต่ำ วัวตัวเมียเป็นแม่พันธุ์สายพันธุ์ผสมบราห์มัน ซื้อเมื่อ 3 ปีก่อน ราคา 40,000 บาท ปัจจุบันขายทั้งแม่พันธุ์ พร้อมลูกอีก 2 ตัว ได้ราคาไม่ถึง 30,000 บาท
ตอนนี้เกษตรกรทั่วประเทศหมดหวังกับอาชีพเลี้ยงวัว
เรียบเรียง : พลอยไพฑูรย์ ธุระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคอีสาน