วันงดสูบบุหรี่โลก 2567 : ทำลายสมอง ก่อมะเร็ง ร่วมปกป้องเยาวชนจาก "บุหรี่ไฟฟ้า"

ไลฟ์สไตล์
30 พ.ค. 67
14:04
6,289
Logo Thai PBS
วันงดสูบบุหรี่โลก 2567 : ทำลายสมอง ก่อมะเร็ง ร่วมปกป้องเยาวชนจาก "บุหรี่ไฟฟ้า"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
31 พ.ค.ของทุกปีถือเป็น "วันงดสูบบุหรี่โลก" วันสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการเลิกบุหรี่และผลกระทบของยาสูบ WHO กำหนดธีมวันงดสูบบุหรี่โลกปี 2567 คือ ปกป้องเด็กจากการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ ส่วนของไทยคือ "ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า"

ปกป้องเด็กจากการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ

แม้การรณรงค์ลดการใช้ยาสูบสามารถทำได้ดีมาอย่างต่อเนื่อง แต่การเกิดขึ้นของบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์นิโคตินชนิดอื่น ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อเยาวชนและการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก (WHO) และรายงานล่าสุดของ STOP เรื่อง Hooking the Generation แสดงให้เห็นว่าเด็กอายุ 13-15 ปีทั่วโลกประมาณ 37 ล้านคนใช้ยาสูบ และอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นยังสูงกว่าผู้ใหญ่ในหลายประเทศ

การใช้ยาสูบหรือผลิตภัณฑ์นิโคตินอย่างไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะเด็กกับเยาวชน เป็นอันตรายต่อพัฒนาการของสมองไปจนถึงอายุ 25 ปี  

การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวันงดสูบบุหรี่โลกเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเป็นการเน้นย้ำถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาสูบ โดยเฉพาะสำหรับเยาวชน ตลอดจนเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของนโยบายที่มีประสิทธิผลในการลดการบริโภคยาสูบ

ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า

สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าที่ทะลักเข้าสู่ประเทศไทยกำลังเป็นปัญหาใหญ่ คำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลกของประเทศไทยปี 2567 จึงมุ่งเน้นไปถึงเรื่องของ "บุหรี่ไฟฟ้า" ข้อมูลจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.) ระบุว่า  การแก้ปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องใน 2 เรื่อง

  1. การช่วยเหลือผู้ที่ติดบุหรี่อยู่แล้วให้เลิก
  2. การรณรงค์ป้องกันไม่ให้เยาวชนไปเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

จากการสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 2564 พบว่า จากจำนวนประชากร อายุ 15 ปีขึ้นไป ทั้งสิ้น 57 ล้านคน เป็นผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน หรือ ร้อยละ 17.4 โดยกลุ่มอายุ 25-44 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด คือ ร้อยละ 21.0 ข้อมูลผลการสำรวจยังพบว่าร้อยละ 60.8 ของนักสูบหน้าใหม่ เป็นผู้ที่มีอายุ ระหว่าง 15-19 ปี สูงถึง 950,000 คน ซึ่งในจำนวน 10 คนที่ติดบุหรี่ 7 คนจะเลิกไม่ได้ตลอดชีวิต ส่วน 3 คน เลิกได้ แต่จะติดบุหรี่เฉลี่ยกว่า 20 ปี

จำนวนตัวเลขเหล่านี้ยังไม่นับรวมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากกลยุทธ์บริษัทบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงเครือข่ายผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ที่พยายามโฆษณาหลอกล่อเด็กและเยาวชน และที่น่าเป็นห่วงคือ แนวโน้มการสูบบุหรี่กลับสูงขึ้นในกลุ่มเยาวชนและสตรี ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทบุหรี่ได้พัฒนาเทคนิคการตลาด รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด เพื่อหาลูกค้ารายใหม่ จำนวนอย่างน้อย 100,000 คนในแต่ละปี ทดแทนผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบหรือเสียชีวิต

และจากสถิติที่พบว่า เยาวชนกลุ่มอายุ 15-18 ปี หรืออายุน้อยกว่านี้ มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่วงจรการเสพติดบุหรี่ ดังนั้น การป้องกันนักสูบหน้าใหม่จึงเป็นมาตรการที่สำคัญยิ่ง และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีครู ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการปลูกฝังค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่ ทัศนคติที่ถูกต้อง และสร้างการเห็นคุณค่าในตัวเองให้แก่เยาวชน ทำให้เยาวชนยืนยันที่จะไม่สูบบุหรี่ไปตลอดชีวิต

บุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ไฟฟ้า

12 เหตุผลที่ต้องกัน "บุหรี่ไฟฟ้า" ออกจากเด็ก-เยาวชน

  1. บุหรี่ไฟฟ้ามี "นิโคติน" สารเสพติดตัวเดียวกับบุหรี่ธรรมดา จะนำไปสู่การเสพติดนิโคติด "ติดแล้วเลิกยาก" และส่วนใหญ่ร้อยละ 75 จะติดไปตลอดชีวิต
  2. นิโคตินจัดเป็นสารพิษที่ถูกกฎหมายโดยกฎหมายควบคุมยาพิษ (Poison Act) ในหลายประเทศ ในอดีตนิโคตินถูกใช้เป็นยาฆ่าแมลง ปัจจุบันกฎหมายห้ามใช้แล้ว
  3. ในไอบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า มีสารก่อมะเร็ง โลหะหนักและสารเคมีอีกมากมาย ที่ยังไม่รู้ว่าจะส่งผลต่อร่างกายอย่างไรในระยะยาว
  4. บุหรี่ไฟฟ้าทำให้หลอดเลือดตีบ, ตับ, แตก, ตาย อันตรายต่อเนื้อเยื่อของทางเดินหายใจและปอด มีรายงานวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าติดต่อกันเกิดโรค EVALI ปอดอักเสบรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยงในคนอายุน้อย
  5. ควันบุหรี่ไฟฟ้าทั้งมือหนึ่ง มือสองและสาม มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ ทำให้มีความผิดปกติของระบบประสาท เป็นโรคสมาธิสั้น น้ำหนักแรกเกิดน้อย โดยเฉพาะสมองที่กำลังพัฒนาของเด็กและเยาวชนอายุถึง 25 ปี ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงมากกว่าเด็กที่ไม่สูบ 3-4 เท่า
  6. ร้อยละ 53 ของวัยรุ่นไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีภาวะซึมเศร้าเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
  7. บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรหัสพันธุกรรมของเซลล์ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ บุหรี่ไฟฟ้าพบทำให้เกิดมะเร็งปอดในหมูทดลองแล้ว
  8. องค์การอนามัยโลกกำหนดการเสพนิโคตินไว้ว่า เป็นโรคพึ่งพานิโคติน (Nicotine Dependence Disorder) คนที่เลิกเองไม่ได้ต้องได้รับการรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์
  9. นิโคตินมีผลต่อสมองของวัยรุ่น ทำให้พร้อมที่จะรับและติดสิ่งเสพติดชนิดอื่น เช่น แอลกอฮอล์ เฮโรอีน โคเคน กัญชา เพิ่มขึ้นหลายเท่า
  10. เด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบ 2-4 เท่า (Gateway Effect)
  11. WHO ประเมินว่าควันบุหรี่มือสองและสาม คร่าชีวิตเด็กทั่วโลกมากถึง 65,000 คน/ปี การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2564 พบว่าร้อยละ 23.7 ของคนสูบบุหรี่สูบในบ้าน ทำให้เด็กได้รับควันบุหรี่มือสองและสามในบ้าน 
  12. อังเดร คาลานท์ โซพอลอส อดีต CEO บ.ฟิลลิป มอร์ริส ที่ขายบุหรี่ไฟฟ้าพูดว่า นิโคตินเสพติดและอันตราย โดยเฉพาะวัยรุ่น "ผมมีความชัดเจนเกิดขึ้นกับลูก ๆ ของผม อย่าใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่มีนิโคติน"

อันตราย "บุหรี่ไฟฟ้า" ต่อร่างกาย

ระบบหายใจ

  • ระยะสั้น : ทำให้โรคหืดและภูมิแพ้กำเริบ โรคปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับบุหรี่ไฟฟ้า (E-Cigarette or Vaping product use Associated Lung Injury; EVALI)
  • ระยะยาว : ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม สมรรถภาพปอดเสื่อมถอย ปริมาตรปอดลดลงและก่อให้เกิดมะเร็งปอด

ระบบประสาท

ส่งผลต่อระบบประสาทของเด็กและเยาวชนในทุกช่วงอายุ ส่งผลเสียต่อสมาธิ ความจำ การคิด วิเคราะห์ การควบคุมอารมณ์ การพัฒนาระบบประสาทและสมอง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า

หัวใจ

น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารพิษร้ายแรง มีรายงานการกินน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าโดยเข้าใจว่าเป็นขนม ทำให้หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิต ประมาณ 1 ใน 4 ของเด็กที่เสียชีวิต จากโรคไหลตาย (SIDs) ในประเทศอังกฤษมีผู้ปกครองสูบบุหรี่

ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, สสส., WHO

อ่านข่าวเพิ่ม :

ด่วน! " เศรษฐา" ยืนยันจับ "แป้ง นาโหนด" จนมุมที่อินโดนีเซีย

แกะข้อมูลกล่องดำ SQ321 เครื่องเจอ Turbulence - Autopilot ทำงาน

"แป้ง นาโหนด" แกล้งใบ้ ถือพาสปอร์ตปลอม "ทวี" ยันจับได้ขณะเที่ยวบาหลี

“บุหรี่ไฟฟ้า GEN 5” ภัยร้าย เจาะเป้าหมายเด็ก-เยาวชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง