ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สวมสิทธิชาวนา! ปลอมชื่อซื้อ “พันธุ์ข้าว” ราคาถูกไปขายแพง

ภูมิภาค
29 พ.ค. 67
20:18
364
Logo Thai PBS
สวมสิทธิชาวนา! ปลอมชื่อซื้อ “พันธุ์ข้าว” ราคาถูกไปขายแพง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ร้องสอบทุจริต “โครงการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว” ข้าราชการเอี่ยว สวมสิทธิชาวนา ปลอมชื่อซื้อ “พันธุ์ข้าว” ราคาถูกไปขายแพง

ปี 2566 “ไทยพีบีเอส” เปิดประเด็นปัญหาโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว งบประมาณกว่า 1 พันล้านบาท ที่อาจส่อทุจริตใน จ.กาฬสินธุ์ พบเบิกจ่ายเมล็ดพันธุ์เกินสิทธิกว่าที่เกษตรกรได้รับ ล่าสุดโครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ก็ไปพบปัญหาใน จ.บึงกาฬ

เอกสารแบบฟอร์มใบรับเมล็ดพันธุ์ข้าว โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวบึงกาฬ เป็นหลักฐานที่ชาวนากว่า 30 คน ใน ต.ศรีชมภู อ.พรเจริญ นำมาแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ทุกคนอ้างว่า ถูกปลอมลายมือชื่อเซ็นรับเมล็ดพันธุ์ข้าว เมื่อปี 2566 และบางคนที่มีรายชื่อเสียชีวิตแล้ว ส่วนผู้สูงอายุบางคนเซ็นชื่อไม่ได้ ต้องปั๊มลายนิ้วมืออย่างเดียว แต่ที่ในแบบฟอร์มการรับเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับมีลายเซ็น

กลุ่มชาวนาผู้เสียหายต้องการดำเนินคดีกับชายคนหนึ่ง ที่เป็น “ประธานกลุ่มโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวบึงกาฬ” และอ้างว่า ชายคนนี้มีพฤติกรรมทำเอกสารเท็จปลอมรายชื่อชาวนาในพื้นที่ ไปซื้อเมล็ดพันธุ์ในปี 2566

ซึ่งมีโครงการช่วยเหลือชาวนา ให้สามารถซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวน้ำหนัก 25 กิโลกรัม ในราคาถูก กระสอบละประมาณ 100 บาท หลังซื้อมาแล้ว ไม่ได้แจกจ่ายให้ชาวนา แต่นำมาขายกระสอบละ 600-700 บาท ทั้งที่แบบฟอร์มใบรับเมล็ดพันธุ์ข้าว ระบุไว้ชัดเจนว่า “ห้ามนำไปจำหน่าย”

ชาวนาบอกว่า สาเหตุที่ทำให้พวกเขารู้ว่าถูกสวมสิทธิ เพราะว่า พวกเขาอยากเข้าร่วมโครงการซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวราคาถูกในปีนี้ แต่เจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่าพวกเขาได้ใช้สิทธิไปแล้ว

ด้านประธานกลุ่มโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวบึงกาฬ เดินทางมาพบพนักงานสอบสวน และยอมรับว่า ตนได้ปลอมแปลงรายมือชื่อชาวนาจำนวน 30 คน จริง จึงขอเจรจาชดใช้ค่าเสียหาย แต่ชาวนายืนยันว่า ไม่ขอเจรจาชดใช้ค่าเสียหายหรือยินยอมใด ๆ และขอยืนยันจะดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด

นายศรีอุบล อินทิวงษา แกนนำกลุ่มชาวนาที่ถูกสวมสิทธิ โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ระบุว่า ปัญหานี้มีข้าราชการเกี่ยวข้อง และขอให้เร่งตรวจสอบเอาผิด พร้อมคืนสิทธิให้ชาวนาได้เข้าร่วมโครงการโดยเร็ว

ด้านนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่อ้างเป็นประธานกลุ่มโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวบึงกาฬแล้ว

ปัญหานี้สืบเนื่องมาจากกรมการข้าว ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 หรือปีที่ผ่านมา เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมให้ชาวนากว่า 2 แสนครัวเรือน 76 จังหวัด สามารถเข้าถึง และได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีกว่า 58,000 ตัน จากกรมการข้าว งบประมาณกว่า 1 พันล้านบาท

โครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่อง 3 ปี ปีนี้เป็นปีที่ 2 เกษตรกรที่เคยเข้าร่วมโครงการปีที่ผ่านมา ปีนี้จะไม่สามารถเข้าร่วมได้ สำหรับเกษตรกรที่ไปแจ้งความดำเนินคดีประธานศูนย์ข้าวฯ เป็นกลุ่มที่ถูกแอบอ้าง ถูกสวมสิทธิ กรมการข้าวจะเข้าไปดูแลอย่างเร่งด่วนและได้รับสิทธิ์ให้เข้าโครงการในปีนี้

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการสอบวินัยร้ายแรงกับ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวบึงกาฬคนก่อนและกรรมการ ผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 คน

ในปี 2566 ไทยพีบีเอสได้เปิดประเด็นปัญหาโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่อาจส่อทุจริตใน จ.กาฬสินธุ์ พบมีการทำเป็นขบวนการ เริ่มจากกลุ่มตัวแทนเกษตรกร รวบรวมรายชื่อสมาชิก มายื่นขอเข้าร่วมโครงการ ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวราคาถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร และอนุมัติ

กลุ่มตัวแทนเกษตรกร ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว และขนไปขายให้กับเอกชน ที่นำเมล็ดพันธุ์ไปขายต่อในราคาท้องตลาด

ขบวนการนี้ มีทั้งตัวแทนเกษตรกร และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเอกชนที่รับซื้อ มีส่วนรู้เห็น และกระทำความผิดร่วมกัน สะท้อนถึงช่องโหว่การดำเนินโครงการของรัฐ ที่อ้างว่าช่วยเหลือเกษตรกร แต่กลับมีการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการ

ในปี 2566 อธิบดีกรมการข้าว ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โครงการนี้ และมีคำสั่งย้ายผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว 5 แห่ง เพื่อเปิดให้มีการตรวจสอบการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ

ล่าสุด มีคำยืนยันว่า อยู่ระหว่างดำเนินการสอบวินัยร้ายแรงข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวทั้งหมด

รายงาน : พลอยไพฑูรย์ ธุระพันธุ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคอีสาน

อ่านข่าว : อคส.ชี้แจง TOR ประมูลข้าว 10 ปี เปิดให้ผู้สนใจดูข้าว 31 พ.ค.-7 มิ.ย.

กกต.ปรับรูปแบบบัตรเลือก สว.รอบไขว้ ขจัดความสับสน

กทม.ชี้แจงใช้งบ 2.9 ล้านจ้างเอกชนกำหนดอัตลักษณ์ "กทม."

ข่าวที่เกี่ยวข้อง