เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2567 ผู้นำ 3 ชาติยุโรป ได้แก่ ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสเปน ประกาศเตรียมรับรอง "รัฐปาเลสไตน์" โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.นี้เป็นต้นไป
ไซมอน แฮร์ริส นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์, โยนัส กาหร์ สโตระ นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ และเปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน ออกมาประกาศจุดยืนดังกล่าวในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยระบุว่า สนับสนุนแนวทาง 2 รัฐ หรือ two-state solution เพื่อการบ่มเพาะสันติภาพให้เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง
ด้านอิสราเอลตอบโต้ทันควัน โดยกระทรวงการต่างประเทศประกาศเรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำกรุงดับลิน ออสโล และมาดริด กลับประเทศเพื่อหารือ และเตือนว่าทั้ง 3 ชาติจะเผชิญผลกระทบตามมา โดยอิสราเอลจะไม่ยอมอ่อนให้แก่ผู้ที่บ่อนทำลายอธิปไตยและทำให้เสถียรภาพของอิสราเอลตกอยู่ในอันตราย พร้อมประกาศจะเรียกตัวเอกอัครราชทูตทั้ง 3 ชาติเข้าพบ เพื่อให้รับชมวิดีโอของตัวประกันหญิงที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป
เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ออกมาตอบโต้อย่างเกรี้ยวกราด ระบุว่า การรับรองรัฐปาเลสไตน์เป็นเสมือนการตบรางวัลให้การก่อการร้าย และรัฐปาเลสไตน์จะเป็นรัฐแห่งผู้ก่อการร้ายที่จะพยายามก่อเหตุสังหารหมู่เหมือนอย่างที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยอิสราเอลจะไม่ยอมปล่อยผ่านเรื่องนี้
ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ระบุว่า การแก้ปัญหาขัดแย้งในตะวันออกกลางต้องการทางออกทางการเมือง มากกว่าเพียงการรับรองรัฐปาเลสไตน์ในเชิงสัญลักษณ์
ชาติยุโรปรับรอง "รัฐปาเลสไตน์" ส่งแรงกระเพื่อมระดับภูมิภาค
ปัจจุบันมี 140 ประเทศรับรองรัฐปาเลสไตน์ หรือกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสหประชาชาติ แต่ยังไม่มีมหาอำนาจตะวันตกชาติใดรับรอง และยังไม่มีความชัดเจนว่าจุดยืนที่แตกต่างจากทั้ง 3 ชาตินี้จะส่งผลอย่างไรต่อท่าทีของชาติตะวันตกในเรื่องนี้
แต่แม้ว่าการรับรองรัฐปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการในเวทีโลกจะยังไม่ใช่เรื่องง่าย ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของผู้นำทั้ง 3 ประเทศน่าจะส่งแรงกดดันต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป รวมถึงอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี เพื่อให้แสดงท่าทีสนับสนุนในฐานะชาติสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป
ก่อนหน้านี้ มีชาติยุโรปจำนวนหนึ่งที่รับรองรัฐปาเลสไตน์อยู่แล้วตั้งแต่ปี 1988 ได้แก่ ฮังการี, โปแลนด์, โรมาเนีย, สาธารณรัฐเช็ก, สโลวาเกีย, บัลแกเรีย, สวีเดน, ไซปรัส และมอลตา
ขณะที่สหรัฐฯ กับอีกหลายชาติ ระบุว่า จะรับรองรัฐปาเลสไตน์ก็ต่อเมื่อการรับรองแนวทาง 2 รัฐนี้ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อมานานหลายทศวรรษได้ในที่สุด ซึ่งเป็นจุดยืนที่ชาติตะวันตกยึดถือปฏิบัติมานาน เสมือนว่าสถานะรัฐปาเลสไตน์เป็นรางวัลของการบรรลุข้อตกลงสันติภาพ กระทั่งจุดยืนของหลายประเทศเปลี่ยนไปเมื่อไม่นานมานี้
เพียงแต่การรับรองรัฐปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้น ยังเป็นเพียงความเคลื่อนไหวเชิงสัญญะ เมื่อคำถามสำคัญยังไม่มีคำตอบ ทั้งเรื่องพรมแดน เมืองหลว และขั้นตอนต่างๆ ที่อิสราเอลและปาเลสไตน์จะเดินหน้าร่วมกันเพื่อให้เป็นไปตามแนวทาง 2 รัฐได้จริง
อ่านข่าว
นายกฯ อังกฤษประกาศยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ 4 ก.ค.นี้