ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แกะรอยฟาร์มดัง สวม "สิงโต" เป็น "ลูกเสือโคร่ง"

สิ่งแวดล้อม
18 พ.ค. 67
15:13
371
Logo Thai PBS
แกะรอยฟาร์มดัง สวม "สิงโต" เป็น "ลูกเสือโคร่ง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"ผมไม่ได้เลี้ยงไว้ เขาดีลกันมาเอง ผมเป็นแค่เจ้าของฟาร์ม ไม่ใช่เจ้าของเสือ" เจ้าของฟาร์มแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ตอบคำถามผู้สื่อข่าวสั้น ๆ ขณะเข้ารับทราบข้อกล่าวหากรณีครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง "ลูกเสือโคร่ง" ตัวเมีย วัย 4-6 เดือน โดยอ้างว่า ตนเองไม่ใช่เจ้าของลูกเสือโคร่ง แต่เป็นการดีลกันเองของทีมงานถ่ายภาพยนตร์ในฟาร์มของเขา ซึ่งคนที่ขอยืมเสือตัวดังกล่าวให้ข้อมูลว่าซื้อมาจากชายแดนและไม่ทราบว่าหลุดในพื้นที่บางปะกงได้อย่างไร อีกทั้งในสัญญาการถ่ายทำของกองภาพยนตร์จากต่างประเทศ ระบุเพียงว่า ใช้เฉพาะสิงโตในฟาร์ม และยืนยันว่าสิงโตถูกกฎหมายทุกตัว

เจ้าของฟาร์มเข้าให้ข้อมูล

เจ้าของฟาร์มเข้าให้ข้อมูล

เจ้าของฟาร์มเข้าให้ข้อมูล

ประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจจากสังคม หลังปรากฏข่าวชาวบ้านและเจ้าหน้าที่กู้ภัย ช่วยกันล้อมจับลูกเสือโคร่งที่หลุดภายในซอยบางวัว-บางจาก 7 ในพื้นที่หมู่ 11 ต.บางวัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2567 เวลา 03.30 น. การจับค่อนข้างจับทุลักทุเล มีทั้งจังหวะลูกเสือวิ่งหนี และวิ่งเข้าตะปบ งับขาคนล้อมจับตามวัยซุกซน จนได้แผลกันคนละเล็กคนละน้อย แต่เป็นที่สงสัยว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่ป่าอนุรักษ์ แล้วเสือตัวนี้หลุดมาจากที่ใด

กู้ภัยและชาวบ้านล้อมจับลูกเสือโคร่งหลุดกลางชุมชน

กู้ภัยและชาวบ้านล้อมจับลูกเสือโคร่งหลุดกลางชุมชน

กู้ภัยและชาวบ้านล้อมจับลูกเสือโคร่งหลุดกลางชุมชน

ไม่ถึง 1 ชั่วโมงหลังจับลูกเสือโคร่งสำเร็จ และนำไปลงบันทึกประจำวันที่ สภ.บางปะกง ปรากฏว่าเจ้าของฟาร์มคนดังกล่าว ได้มอบหมายให้ลูกน้องนำหลักฐานอ้างความเป็นเจ้าของเพื่อมารับกลับไป โดยระบุว่า เป็น "ไลเกอร์" เพ้นต์ลาย "เสือโคร่ง" สำหรับถ่ายภาพยนตร์ โดยไม่ได้ส่งมอบให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

นำไปสู่ข้อกังขาว่า "เพ้นต์ลาย" จริงหรือไม่ ซึ่งนายอรรถพล เจริญชันษา สั่งการด่วนเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) หรือ สบอ.2 ชุดเหยี่ยวดง เข้าตรวจสอบฟาร์มดังกล่าวในช่วงเย็นวันเดียวกัน ซึ่งเจ้าของนำสิงโตตัวเมีย วัย 3-4 เดือน มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ทั้งที่ลักษณะไม่ตรงกันกับเสือโคร่งที่หลุดในข่าว พบว่าเป็นสิงโตที่มีไมโครชิฟ และขึ้นทะเบียนไว้กับฟาร์มสิงโตกระป๋องสี จ.นครปฐม

เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบภายในฟาร์ม

เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบภายในฟาร์ม

เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบภายในฟาร์ม

วันที่ 17 พ.ค.2567 เวลา 13.00 น. เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) และชุดปฏิบัติการพิเศษ 1362 ร่วมกับส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร สบอ.2 ทีมสัตวแพทย์ ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอบางคล้า เข้าตรวจสอบฟาร์มดังกล่าว ซึ่งเส้นทางเข้าซอยเป็นถนนลูกรัง เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนจำนวนมาก เฝ้ารออยู่หน้าประตูนานนับชั่วโมงท่ามกลางอากาศร้อน เพราะเจ้าของอ้างว่าอยู่ระหว่างเดินทาง

กระทั่งเวลา 13.50 น. เจ้าของยังมาไม่ถึงฟาร์ม แต่ยอมให้คนงานเปิดประตูให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและสัตวแพทย์ เข้าไปภายในฟาร์ม แต่ไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปด้านใน โดยระบุว่ามีกองถ่ายภาพยนตร์ต่างชาติอยู่ เกรงว่าจะรบกวนการทำงาน

ลูกเสือโคร่งของกลาง

ลูกเสือโคร่งของกลาง

ลูกเสือโคร่งของกลาง

เวลา 16.00 น.วันเดียวกัน หลังถูกเจ้าหน้าที่กดดันอย่างหนัก เจ้าของฟาร์มยอมนำเสือโคร่งมาส่งมอบให้ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา พบว่า เป็นลูกเสือโคร่งที่ปรากฏในข่าวจริง แต่ไม่มีหลักฐานแสดงการครอบครอง และไม่มีเครื่องหมายเลขประจำตัวสัตว์ป่า

นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช แถลงยืนยันภายหลังเจ้าของความเข้าให้ข้อมูล และการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ พบว่า การครอบครองลูกเสือโคร่งผิดกฎหมายชัดเจน

ไม่มีเอกสารหลักฐานการครอบครองของทางราชการ และเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า (เลขไมโครชิพ) เจ้าของฟาร์มกระทำผิดตามมาตรา 15 ฐานปล่อยเป็นอิสระซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง (ลูกเสือโคร่ง) พ้นจากการดูแลของตน มีโทษตามมาตรา 91 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกระทำผิดตามมาตรา 17 ฐานครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษตามมาตรา 92 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เสือโคร่งผิดกฎหมายแน่นอน ไม่มีหลักฐานการได้มา ไม่ได้นำเอกสารใดมายืนยัน เสือที่ส่งมอบเป็นตัวเดียวกับที่หลุด ลายตรงกันกับภาพถ่าย คิดว่าจนมุม ไม่มีทางไปจึงต้องส่งมอบให้เรา

ผอ.สบอ.2 ตอบข้อสงสัยที่ช่วงแรกมีการอ้างว่าเป็น "ไลเกอร์" เพ้นต์ลาย "เสือโคร่ง" ว่าเจ้าของทำเพื่อให้พ้นความผิด อาจเพราะตกใจ หรือคนที่พูดอาจไม่ใช่เจ้าของเสือ คิดว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ในความสำคัญกับกรณีนี้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อคำกล่าวอ้าง จนนำไปสู่การตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งผู้ต้องหาอ้างว่าได้มาจากชายแดน ส่วนกรณีที่เสือโคร่งหลุดในพื้นที่บางคล้านั้น อ้างว่า กองถ่ายทำภาพยนตร์เดินทางไปถ่ายทำในสำนักงานแห่งหนึ่งที่บางคล้า จึงนำเสือโคร่งขึ้นรถตู้ไป แต่เสือหลุดออกมา ซึ่งต้องตรวจสอบขยายผลต่อไป ยังไม่ปักใจเชื่อทั้งหมด

ลูกสิงโตของกลาง

ลูกสิงโตของกลาง

ลูกสิงโตของกลาง

ส่วนลูกสิงโตตัวเมีย วัย 3-4 เดือน ที่นำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่นั้น ถือเป็นสัตว์ป่าควบคุม แต่การตรวจสอบพบว่า มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า ของฟาร์มกระป๋องสี ไลออน ซู จ.นครปฐม ทำให้เจ้าของฟาร์มในพื้นที่บางคล้า มีความผิดฐานครอบครองสัตว์ป่าควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษตามมาตรา 90 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ฟาร์มกระป๋องสี ไลออน ซู จ.นครปฐม กระทำผิดตามมาตรา 19 วรรคสอง ฐานไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการแจ้งการรับแจ้ง เป็นการเคลื่อนย้ายลูกสิงโตโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษตามมาตรา 91 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบยังพบว่า ฟาร์มในพื้นที่บางคล้าได้ขออนุญาตถูกต้องจาก สบอ.2 และพบสิงโตที่แจ้งครอบครองไว้ 9 ตัว เป็นตัวโตเต็มวัยทั้งหมด 

ขณะที่นายนาวี ช้างภิรมย์ ผู้อำนวยการส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติ หัวหน้าชุดเหยี่ยวดง เปิดเผยว่า ได้เข้าตรวจสอบฟาร์มที่บางคล้า ตอนแรกเจ้าของยังยืนยันว่าเป็นไลเกอร์เพ้นต์สี ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อ โดยพยายามหาข้อมูลและกดดันเจ้าของฟาร์ม สุดท้ายจึงยอมนำมาส่งมอบลูกเสือโคร่ง เพราะจนได้หลักฐาน ซึ่งการตรวจสอบขนาด อายุ ลาย เพศ ตรงกับที่หลุดไป จึงทำบันทึกจับกุม

เราไม่ปล่อยแน่นอน ต้องเอาเสือมาให้ได้ ไม่เชื่ออยู่แล้วว่าเป็นไลเกอร์เพ้นต์สี ซึ่งเขาอาจจะกลัวเจ้าหน้าที่ตามไม่หยุด จึงยอมส่งมอบเสือ บอกว่าอยู่ในสถานที่ของเขา ปัดความรับผิดชอบไม่ได้ จึงยอมให้จับและเสียค่าปรับ 

หัวหน้าชุดเหยี่ยวดง ระบุว่า เจ้าของฟาร์มอ้างว่าทีมงานภาพยนตร์ต่างชาติ ต้องการถ่ายทำเสือด้วย แต่ทีมงานบอกว่าจะใช้ไลเกอร์เพ้นต์ลายแทน ซึ่งยินยอมเพราะไม่ใช่สัตว์ป่าคุ้มครอง และเจ้าของอ้างว่าในช่วงนั้นอยู่ จ.เชียงใหม่ จึงเชื่อทีมงาน ส่วนกรณีที่เจ้าของไปรับลูกเสือโคร่งมาจาก สภ.บางปะกง ก่อนนั้น ได้ใช้เอกสารการถ่ายภาพยนตร์ ตำรวจจึงคืนไปให้ โดยยืนยันว่าไม่มีการนำเอกสารขออนุญาตจากกรมอุทยานฯ ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่

ตรวจไม่พบไมโครชิพในลูกเสือ

ตรวจไม่พบไมโครชิพในลูกเสือ

ตรวจไม่พบไมโครชิพในลูกเสือ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเจ้าของฟาร์มในพื้นที่บางคล้า นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมทั้งขอให้พนักงานสอบสวนเรียกเจ้าของฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าควบคุม (สิงโต) กระป๋องสี ไลออน ซูม จ.นครปฐม มารับทราบข้อกล่าวหาและดำเนินคดีต่อไป

สำหรับสัตว์ป่าของกลาง ลูกเสือโคร่งได้ส่งมอบให้ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก (สวนสัตว์บึงฉวาก) ส่วนสิงโต ได้ฝากไว้ที่ฟาร์มสิงโตขาวบางคล้า ดูแลจนกว่าคดีถึงที่สิ้นสุด

ลูกเสือโคร่งถึงบึงฉวาก

ลูกเสือโคร่งถึงบึงฉวาก

ลูกเสือโคร่งถึงบึงฉวาก

อ่านข่าว

แจ้ง 3 ข้อหาเจ้าของฟาร์มดัง "ลูกเสือโคร่ง" ของกลางถึงบึงฉวาก 

ล้อมจับ "ลูกเสือโคร่ง" โผล่กลางชุมชนย่านบางปะกง 

เจ้าของอ้าง "ไลเกอร์" เพ้นท์ลาย ไม่ใช่ "ลูกเสือโคร่ง" 

คนละตัว! ลูกเสือโคร่ง-สิงโต กรมอุทยานฯ สั่งยึด-เช็กสัตว์ทุกตัว 

อายัด "ลูกเสือโคร่ง-สิงโต"ฟาร์มดัง ไม่มีใบอนุญาต 

รู้จักเจ้าป่าเลือดผสม "Liger และ Tigon" 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง