ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมวิทย์ฯ พบไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) ระบาดในไทยมากสุด

สังคม
7 พ.ค. 67
17:33
559
Logo Thai PBS
กรมวิทย์ฯ พบไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) ระบาดในไทยมากสุด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ พบระบาดในไทยเป็นชนิด A(H3N2) มากที่สุด ยืนยันวัคซีนยังมีประสิทธิภาพป้องกัน

วันนี้ (7 พ.ค.2567) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ว่า ทั่วโลกพบไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) ไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1) pdm09 และไข้หวัดใหญ่ชนิด B (Victoria lineage) เป็นสาเหตุของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

ส่วนสถานการณ์การระบาดในประเทศไทย ปัจจุบันพบไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H3N2) มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 41.14% รองลงมาคือไข้หวัดใหญ่ชนิด B (Victoria) 39.64% ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 (pdm09) มีสัดส่วน 19.22%

อ่านข่าว : 7 กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน "ไข้หวัดใหญ่" ฟรี 1 พ.ค.-31 ส.ค.นี้

เมื่อวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 - เม.ย.2567 ด้วยเทคนิค Whole genome sequencing วิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมทั้งจีโนม และประเมินความสอดคล้องกับสายพันธุ์วัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศใช้ในการผลิตวัคซีนทางซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ประจำปี 2567 พบว่า สายพันธุ์ A(H3N2) และ B มีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์วัคซีนทั้งจากซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้

สำหรับวัคซีนที่ใช้ทางซีกโลกเหนือจะผลิตและจำหน่ายในตลาดโลก ประมาณเดือน ส.ค.และจะนำเข้ามาในประเทศไทยประมาณเดือน ก.ย.2567 ดังนั้นผู้ที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่แนะนำฉีดก่อนเข้าฤดูฝน จึงต้องใช้วัคซีนทางซีกโลกใต้ ซึ่งผลิตและจำหน่ายในตลาดโลกก่อน ยังมีผลต่อการป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทยถึง 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ A(H3N2) และ B ส่วน A(H1N1) อาจมีภูมิคุ้มกันป้องกันข้ามสายพันธุ์ได้บ้าง

อ่านข่าว : หมอเด็กเตือน "ไข้หวัดแดด" จากเชื้อไข้หวัดใหญ่ช่วงหน้าร้อน

นพ.ยงยศ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ตำแหน่งการกลายพันธุ์บนยีนของเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทย ช่วงเดือน ต.ค.2566 - เม.ย.2567 จำนวน 1,332 ตัวอย่าง อ้างอิงข้อมูลตำแหน่งยีนดื้อยาจากองค์การอนามัยโลก วันที่ 3 พ.ค.2566 ไม่พบยีนบ่งชี้การดื้อยาของเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H3 และชนิด B

ส่วนเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A(H1N1)pdm09 พบยีนบ่งชี้การดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ที่ตำแหน่ง H275Y จำนวน 1 สายพันธุ์ คิดเป็นอัตราการดื้อยาร้อยละ 0.39 ทั้งนี้ยังไม่พบยีนบ่งชี้การดื้อยากลุ่ม Neuraminidase Inhibitor ชนิดอื่น

อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงเฝ้าระวังและติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งการตรวจพบยีนดื้อยาที่รวดเร็วจะเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ในการวางแผนการใช้ยาต้านไวรัส รวมถึงวางมาตรการการควบคุมและป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์ พร้อมขอให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี ควบคู่กับการป้องกันตนเอง

อ่านข่าว

ชาวเวียดนามป่วย 500 คน หลังกิน "บั๋นหมี่" อาหารเป็นพิษ

ครม.ไฟเขียว 3 มาตรการศก.ตรึงดีเซล-ลดค่าไฟ 19.05 สตางค์

"สารรมควัน" ในเมล็ดข้าวสาร "ไม่เสื่อมสภาพ ตกค้าง ล้างไม่ออก"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง