"หลักเมือง" ความหมายตามพจนานุกรม คือ เสาที่ยกตั้งขึ้นเพื่อแสดงว่า "จะสร้างเมืองที่ตรงนั้นอย่างแน่นอน" ภาษาบาลีสันสกฤตก็เรียก "อินทขีล" ตามประเพณีโบราณเมื่อมีการสร้างบ้านแปงเมือง จำเป็นจะต้องทำพิธียก "เสาเอกของเมือง" หรือ "เสาหลักเมือง" เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง โดยสถานที่ตั้งต้องกอปรไปด้วยชัยภูมิอันเป็น "มงคลสถาน" เพราะเมืองนั้นจะกลายเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน ย่อมจะเป็นมิ่งขวัญและกำลังใจของประชาชน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าจะอยู่เย็นเป็นสุข และมีความเจริญรุ่งเรืองสถาพร
อิน จัน มั่น คง อาถรรพ์ประตู 4 ทิศ
ประเพณีหลักเมืองที่เรื่องเล่าแต่โบราณว่า การสร้างบ้านสร้างเมืองจะต้องทำพิธีฝังอาถรรพ์ประตูเมืองทั้ง 4 รวมถึงเสาหลักเมือง โดยต้องนำคนที่มีชีวิตฝังลงในหลุมเพื่อให้ดวงวิญญาณของผู้นั้นทำหน้าที่เฝ้าประตูเมือง เฝ้าหลักเมือง เพื่อป้องกันอริราชศัตรู และโรคภัยไข้เจ็บมิให้เกิดแก่ผู้ครองบ้านครองเมือง ตลอดจนราษฎรและสมณชีพราหมณ์
คนจะต้องเอาไปฝังนั้น จำเป็นต้องเฉพาะคนที่ชื่อ อิน จัน มั่น คง ถือเป็นเคล็ดที่จะทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ นายนครวัฒกี (ช่างไม้) จะเที่ยวเดินร้องเรียกชื่อ อิน จัน มั่น คง ไปตามสถานที่ต่างๆ ใครขานรับขึ้นมา ก็จะถูกจับเอาตัวไปฝังในหลุม กลายเป็นผีเฝ้าประตูเมือง

แต่ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงเรื่องเล่าขานมานาน ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการกระทำดังกล่าวจริง รวมทั้งในพงศาวดารไทย ไม่ว่าจะสมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ หรือเมืองอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏ
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2325 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เม.ย.2325 เวลา 06.54 น. ณ ชัยภูมิใจกลางพระนครใหม่ การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีรีตองตามพระตำราที่เรียกว่า พระราชพิธีนครฐาน ใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกับด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ที่มี เส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสา 29 ซม. สูง 187 นิ้ว กำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน 108 นิ้ว ฝังลงในดินลึก 79 นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง
พระราชทานนามว่ากรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา หรือเรียกต่อกันมาว่า "กรุงเทพมหานคร"
จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่แทนต้นเดิมที่ชำรุดไปตามกาลเวลา เป็นแกนไม้สัก ประกับนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ 6 แผ่น สูง 108 นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง 70 นิ้ว บรรจุดวงเมืองในยอดเสาทรงมัณฑ์ที่มีความสูงกว่า 5 เมตร
ในปี พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนิน ณ ศาลหลักเมือง ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหานครตามโบราณราชประเพณี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมืองให้มีความงดงามบริบูรณ์สมกับเป็นที่สถิตแห่งองค์พระหลักเมือง และให้เชิญเสาหลักเมืองต้นเดิมไปประดิษฐานไว้คู่กับเสาหลักเมืองต้นปัจจุบัน

รวมทั้งได้สร้างศาลเทพารักษ์เพื่อเป็นที่สถิตแห่งเทพารักษ์ทั้ง 5 ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง และอาคารหอพระพุทธรูปขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ ในสมัยก่อนศาลหลักเมืองจะมีแต่หลักเมืองเท่านั้น ส่วนเทพารักษ์อีก 5 องค์ ซึ่งเป็นเทพารักษ์ประจำพระนคร ที่รัชกาลที่ 1 ได้โปรดฯ ให้สร้างเพื่อดูแลรักษาเมืองและประเทศชาตินั้น แต่เดิมท่านก็มีศาลของท่านแยกอยู่ต่างหาก คนละที่ ต่อมาเมื่อมีการสร้างสถานที่ราชการและตัดถนนเพิ่ม จึงมีการรื้อศาลเทพารักษ์ดังกล่าวออก แล้วอัญเชิญท่านมาประดิษฐานรวมกันในศาลหลักเมือง ปัจจุบัน "ศาลหลักเมือง" จึงกลายเป็นที่ชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนนิยมมากราบไหว้และบนบานเพื่อขอให้สมปรารถนาในเรื่องต่างๆ มากขึ้น

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ศาลหลักเมือง เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2518 นับได้ว่าโบราณสถานแห่งนี้นอกจากจะมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนคนไทยทั่วไปอย่างแท้จริง ในวันที่ 21 เม.ย.ของทุกปี ถือเป็นวันสถาปนาองค์พระหลักเมืองจะจัดพิธีบวงสรวงตามประเพณีพราหมณ์
ศาลหลักเมือง เปิดให้การบริการตั้งแต่เวลา 06.30-18.30 น. ทุกวัน และเปิดบริการตลอดคืนในเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ และเทศกาลตรุษจีน
ขั้นตอนการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร
- อาคารหอพระพุทธรูป นำดอกบัวขึ้นไปสักการะพระพุทธรูป จากนั้นทำบุญใส่บาตรพระประจำวันเกิด ซึ่งเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ และช่วยหนุนดวงเสริมความมั่นคงในชีวิต นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปเสี่ยงทาย ซึ่งเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และแม่นยำ
- ศาลาจำลอง ถวายธูปและเทียน กล่าวคำอธิษฐาน เสร็จแล้วนำผ้าแพรสีทั้ง 3 ผืน ผูกที่องค์หลักเมืองจำลองหลักใดหลักหนึ่ง และปิดทอง
- อาคารศาลหลักเมือง นำพวงมาลัยถวายองค์พระหลักเมือง โดยเสาหลักเมือง รัชกาลที่ 1 มียอดเสาเป็นรูปบัวตูม ส่วนเสาหลักเมือง รัชกาลที่ 4 ยอดเสาเป็นยอดเม็ดทรงมัณฑ์
- อาคารศาลเทพารักษ์ทั้ง 5 นำพวงมาลัยถวายเทพารักษ์ทั้ง 5 ซึ่งดูแลปกป้องบ้านเมืองในด้านการเมือง การปกครอง อริราชศัตรู และเหตุเภทภัยที่เกิดกับบ้านเมืองให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุขสงบร่มเย็น
- จุดเติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิด ธรรมเนียมปฏิบัติของศาลหลักเมือง คือ ให้เติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิดครึ่งขวด เพื่อความสว่างไสวในชีวิต มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ส่วนที่เหลือให้นำไปเติมที่ตะเกียงสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้สิ่งที่ไม่ดีทุกข์โศกโรคภัยออกไปจากตัว การเติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิด เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลหลักเมืองแห่งนี้

นอกเหนือจาก "ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร" แล้ว ตามต่างจังหวัดก็มักจะพบว่ามี "ศาลหลักเมือง" ของจังหวัดนั้นๆ อยู่ด้วย เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา สุพรรณบุรี และ นครศรีธรรมราช เป็นต้น ทั้งนี้เพราะในสมัยโบราณ สถานที่เหล่านี้ต่างก็เป็นเมืองมาก่อน มิได้เป็นเพียงจังหวัดๆ หนึ่งดังเช่นปัจจุบัน ต่างจึงมี "หลักเมือง" ที่บ่งบอกความเป็นเมืองสำคัญหรือเคยเป็นราชธานี
ดังนั้น "เสาหลักเมือง" จึงเปรียบเสมือน "เสาเอก" ที่เป็นเครื่องแสดงเจตจำนงของผู้นำและประชาชนที่จะลงหลักปักฐานในแผ่นดินนั้นๆ นั่นเอง
ที่มา : สำนักงานกิจการศาลหลักเมือง, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม