วุ่นทั้งโลก! เมื่อ “อิหร่าน” เปิดโจมตี “อิสราเอล” โดยตรงเป็นครั้งแรก ทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางมีความเสี่ยงที่สงครามจะยกระดับขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่สถานทูตอิหร่าน ฝ่ายกงสุล ในประเทศซีเรีย ถูกโจมตีและมีนายทหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่อิหร่านเสียชีวิต 7 ราย และรัฐบาลอิหร่านยืนยันว่าเป็นการโจมตีจากอิสราเอล
ส่งผลให้เมื่อวาน (14 เม.ย.)เกิดความตึงเครียดทั่วทั่วโลก ที่ต่างกังวลว่าจะเกิดสงครามรอบใหม่อีก และอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างค่อนยเป็นค่อยไปต้องกลับมาทรุดตัวอีก โดยเฉพาะราคาพลังงาน และราคาทองคำ หากสงครามมีแนวโน้มหาทางลงไม่ได้ไม่มีการตั้งโต๊ะเจรจาเพื่อหาข้อยุติระหว่างกัน หรือมีการแทรกแซงจากประเทศมหาอำนาจอาจส่งผลให้เกิดความยืดเยื้อได้
อย่างไรก็ตามหลังจากที่สหรัฐฯ ออกตัวไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งดังกล่าว อยากให้ทั้ง 2 ประเทศหาทางออกกันเอง ทำให้หลายฝ่ายที่ติดตามสถานการณ์โล่งอกลงไปบ้าง
กางไทม์ไลน์จุดเริ่มต้นสงคราม
“ไทยพีบีเอสออนไลน์” ลำดับเหตุการณ์การโจมตีของ “อิหร่าน”ว่าเกิดอะไรขึ้นทำไม? อิหร่านถึงได้ออกมาโจมตี "อิสราเอล" ดังนี้
- วันที่ 1 เม.ย. 2567 สถานทูตอิหร่าน ฝ่ายกงสุล ในประเทศซีเรีย ถูกโจมตีและมีนายทหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่อิหร่านเสียชีวิต 7 ราย และรัฐบาลอิหร่านยืนยันว่าเป็นการโจมตีจากอิสราเอล โดยได้ออกแถลงการณ์ว่าจะโจมตีอิสราเอลคืนตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากถือว่าเป็นการรุกล้ำอำนาจอธิปไตยของอิหร่านอย่างชัดเจน ขณะที่อิสราเอลไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ
- วันที่ 12 เม.ย. 2567 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ข่าวว่าอิหร่านจะโจมตีอิสราเอลอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว
- วันที่ 12 เม.ย. 2567 นายกรัฐมนตรีไทยได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตไทยในภูมิภาคติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้พี่น้องคนไทยตื่นตัวและติดตามการประกาศและการแจ้งเตือนต่างๆ ของสถานทูตไทยในภูมิภาค
- วันที่ 13 เม.ย. 2567 อิหร่านได้ยึดเรือขนส่งสินค้าสัญชาติโปรตุเกส แต่อิสราเอลเป็นเจ้าของที่ช่องแคบฮอร์มูส เป็นการตอบโต้อิสราเอล
- ช่วงกลางคืนของวันที่ 13 และ 14 เม.ย. 2567 อิหร่านได้เริ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ โดยยิง โดรนและขีปนาวุธไปยังพื้นที่เป้าหมายในประเทศอิสราเอลซึ่งเป็นพื้นที่ทางทหาร โดยอิหร่านได้ยิงโดรนและจรวดประมาณ 300 ลูกยิงข้ามซีเรีย ซึ่ง IDF สามารถ Intercept ได้ 99% ก่อนที่จะเข้ามาในเขตอาณาของอิสราเอล
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง:
จับตาสงคราม “อิหร่าน-อิสราเอล” ดัน ทองคำ-น้ำมันราคาพุ่ง
- ช่วงสายของวันที่ 14 เม.ย. 2567 อิหร่านได้ประกาศหยุดโจมตี ยกเว้น อิสราเอลโต้กลับเมื่อไหร่ก็จะโจมตีหนักกว่าเดิม ซึ่งล่าสุดหารือกับ สคต. เทลอาวีฟแล้ว อิสราเอลน่าจะยังไม่โต้กลับ และสหรัฐเองก็ไม่สนับสนุนให้มีการโจมตีกลับ
- ประธานาธิบดีอิหร่านกล่าวว่า ต้องให้บทเรียนกับศัตรู และจะมีการโจมตีที่รุนแรงมากขึ้นและฮามาสก็ยินดีในการโจมตีของอิหร่าน
ทางการอิสราเอลได้เตือนประชาชนเฝ้าระวังขั้นสุด หยุดโรงเรียน และอาจปิดสนามบิน - สอท. ณ กรุงเทลอาวีฟ เตือนคนไทยในอิสราเอลให้อยู่ในที่ปลอดภัย ปฏิบัติตามทางการท้องถิ่นอิสราเอลอย่างเคร่งครัด และสำรองน้ำ อาหาร และอุปกรณ์จำเป็นในการดำรงชีพ
สำหรับเศรษฐกิจของประเทศอิหร่าน ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังคงใช้มาตรการคว่ำบาตร (sanction) กับอิหร่าน ส่งผลให้อิหร่านไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศได้โดยตรง การโอนเงินต้องดาเนินการผ่านประเทศที่สาม
นอกจากนี้ ก่อให้เกิดการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศในการนาเข้าสินค้าด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุให้อิหร่านประกาศห้ามนำสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าพี่สามารถผลิตเองได้
อิหร่านคู่ค้าของไทยลำดับที่ 72
ขณะที่การค้าระหว่างไทย-อิหร่าน พบว่า ปี 2567 (ม.ค. - ก.พ.) อิหร่านเป็นคู่ค้าลำดับที่ 72 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 24.16 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 21.70 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 22.93 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 9.81 ไทยนำเข้า 1.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 19.94
สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปอิหร่าน 5 อันดับแรก ปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) ได้แก่ ผลไม้กระป๋องแปรรูป ยางพารา เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง และรถจัรกยานยนต์และส่วนประกอบ
สินค้านำเข้าจากอิหร่านไปไทย 5 อันดับแรก ปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) ได้แก่ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจาผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์โลหะ เชื้อเพลิงอื่นๆ สัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์
สินค้าไทยยังไม่ได้รับผลกระทบ
เบื้องต้นน่าจะยังไม่มีผลกระทบต่อการค้าไทย-อิหร่านโดยตรง เนื่องจากพื้นที่การโจมตีอยู่ในประเทศอิสราเอล นอกจากนี้ เส้นทางการขนส่งสินค้าไทยไปอิหร่านผ่านท่าเรือดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับ อิมิเรตส์เป็นหลัก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังไม่เกิดสงคราม
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การสู้รบอาจส่งผลทางด้านจิตวิทยาต่อนักธุรกิจซึ่งไม่มีความไม่เชื่อมั่นในการทำการค้ากับอิหร่าน เนื่องจากยังไม่ทราบทิศทางที่ชัดเจนที่อิสราเอลและประเทศพันธมิตรจะดำเนินการตอบโต้ในรูปแบบใด
อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ของไทยเองมีแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นติดตามอย่างใกล้ชิดและประเมินสถานการณ์ที่จะกระทบต่อการค้าไทย-อิหร่าน อย่างต่อเนื่อง การหารือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อรับทราบปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข
จากการติดตามสถานการณ์การสู้รบล่าสุด คาดว่าภาวะสงครามอิหร่าน-อิสราเอลจะไม่ยืดเยื้อ เนื่องจากอิหร่านได้ประกาศหยุดการโจมตีแล้ว ยกเว้น อิสราเอลโจมตีกลับ ภาวะสงครามจะดำเนินการต่อไป เนื่องจากอิหร่านประกาศว่าหากโดนโจมตีอีกก็จะดำเนินการตอบโต้ที่รุนแรงมากขึ้น
อิหร่านได้ยิงโดรนและจรวดประมาณ 300 ลูกยิงข้ามซีเรีย
"ไทย" เฝ้าระวังและเตรียมรับผลกระทบ
ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อม คือ ท่าทีของสหรัฐว่าจะยังคงสนับสนุนอิสราเอลในระดับไหน หากอิสราเอลคิดว่าต้องตอบโต้อิหร่านกลับอีกอาจก็ให้เกิดการขยายตัวสู่สงครามในระดับภูมิภาค แต่ทั้งนี้คาดว่าสงครามในครั้งนี้จะไม่ใช้กองทหารภาคพื้นเข้าโจมตีกันแต่จะเป็นการโจมตีกันทางอากาศเหมือนที่ได้ทำมาในอดีต
แต่หากสหรัฐให้การสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มตัวจะไม่เป็นผลดีต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึงเดือนพ.ค.นี้ และจะไม่เป็นผลดีต่อสหรัฐเองในด้านความมั่นคงและโอกาสการก่อการร้ายภายในประเทศ
จับตา สหรัฐฯใช้วิธีกดดันยูเอ็น sanction อิหร่านระดับสูง
นอกจากนี้สหรัฐฯอาจใช้วิธีกดดันสหประชาชาติให้เพิ่มความเข้มข้นในการ sanction เศรษฐกิจอิหร่านในระดับที่สูงขึ้น ปัจจุบันไทยค้าขายกับอิหร่านโดยผ่านประเทศที่ 3 หากสหรัฐฯจะกดดันให้การ sanction ขยายวงจนถึงประเทศไทยจะสร้างความเสียหายกับการค้าเป็นอย่างมาก แต่ละปีมีข้าวจากประเทศไทยส่งออกผ่านประเทศคนกลางไปยังอิหร่านจำนวนมาก แต่อาหารสำหรับมนุษย์ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันว่าเหมาะสมในการ Sanction ตามเจตนารมณ์ของสหประชาชาติหรือไม่
อย่างไรก็ตามคงต้องจับตา ปฏิกริยาของซาอุดิอาราเบียกับอิหร่าน เนื่องจากทั้งสองชาติเพิ่งรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันโดยมีจีนเป็นคนกลาง หากซาอุดิอาราเบียมีความโน้มเอียงไปทางสหรัฐฯอาจจุดประเด็นปัญหาขึ้นมาใหม่และจะกระทบกระเทือนกับการค้าทั้งหมดของภูมิภาคตะวันออกกลาง
ทั้งนี้จุดอันตรายทางภูมิศาสคร์และการค้าโลกอยู่ที่ช่องแคบ Hormuz ซึ่งคั่นกลางระหว่าง อิหร่านกับ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโอมาน หากอิหร่านถูกกดดันจนถึงทางตันอาจปิดช่องแคบดังกล่าวซึ่งจะส่งผลต่อการเดินเรือและการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และวิกฤติการณ์จะพัฒนาต่อไปเป็นปัญหาในระดับโลก
แต่ความเปราะบางของเหตุการณ์ในครั้งนี้คือ เมื่อพัฒนาการของสงครามเพิ่มมากขึ้นจนถึงขั้นที่เรียกว่าการค้าและเศรษฐกิจเป็นประเด็นรอง และการทหารกับความมั่นคงเป็นประเด็นหลัก เมื่อนั้นสถานการณ์จะทวีความรุนแรงจนคาดเดาทิศทางไม่ได้
อ่านข่าว : “ทองคำโลก” พุ่งแรง กังวลสงครามอิหร่าน-อิสราเอล รุนแรง
"อิหร่าน" ขู่โจมตีระลอกใหม่หาก "อิสราเอล" คิดตอบโต้
"อิหร่าน" เปิดฉากยิงโดรน-ขีปนาวุธ 200 ลูกถล่มอิสราเอล