วันนี้ (14 มี.ค.2567) นายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาช้างป่าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน พบว่าสถานการณ์ช้างป่าตะวันออกในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี พบว่ามีช้างออกนอกพื้นที่ และเกิดปัญหาอย่างต่อเนื่องทั้งการทำร้ายเสียชีวิต ซึ่งตัวเลขล่าสุด 7 ศพและทรัพย์สินทางการเกษตรเสียหาย
เตรียมย้าย "พลายซัน" ตัวตึงทำร้ายคน 2 ศพ
ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า จากการติดตาม และฟังเสียงสะท้อนของประชาชนในพื้นที่ป่าตะวันออก ต้องการอย่างมากคือการย้ายช้างที่อยู่นอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และเข้ามาหากินในชุมชนและสวนผลไม้ โดยอยากให้จับออก เพราะมีความเสี่ยงที่คนจะเผชิญหน้ากับช้างและถูกทำร้ายเสียชีวิตจากช้างกลุ่มนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง มีช้าง 2-3 ตัวที่ออกมาถี่ ๆ เช่น พลายมะม่วง พลายซัน พลายสีดอแก้ว ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้เคลื่อนย้ายช้างออกนอกพื้นที่
นายเผด็จ กล่าวว่า สำหรับช้างกลุ่มที่ชาวบ้านอยากให้ย้ายออกเป็นช้างที่อยู่เดี่ยว หากินในชุมชน มีโอกาสใกล้ชิดกับชุมชนและอาจเกิดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความสูญเสียได้ จึงเสนอให้กรมอุทยานฯ เคลื่อนย้ายช้าง
อ่านข่าว ปลอกคอจีพีเอส "ช้างป่า" ติดนาน 6 ปี "ไม่มีอะไร เร็วเท่าใจคน"
นายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยาน
โดยเฉพาะตัวแรกที่วางแผนย้ายออกคือ “พลายซัน” ซึ่งมีประวัติทำร้ายคนตาย 2 คน และเพื่อต้องการนำปลอกคอติดดาวเทียม ที่มีพัฒนาประสิทธิภาพเพิ่มในการแจ้งเตือนช้างก่อนถึงชุมชน และติดตามพฤติกรรมช้างมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการแจ้งเตือน
เจ้าซัน เคยมีประวัติทำร้ายคนเสียชีวิตมาแล้ว 2 คน ตอนนี้เจ้าหน้าที่ติดตามมาแล้ว 1-2 วัน ประเมินดูว่าสภาพความเหมาะสมทั้งเรื่องของพื้นที่ที่จะยิงยาสลบ และความพร้อมในการนำตัวออกจากพื้นที่
ปลอกคอช้างติดจีพีเอส หนึ่งในอุปกรณ์ติดตามช้างออกนอกพื้นที่แจ้งเตือนชุมชน
นำร่องโครงการลดปลูกพืชล่อใจช้าง-งดเวนคืนที่
ส่วนแผนการผนวกพื้นที่ป่ารอยต่อที่พบช้างเข้าถึงชุมชนนั้น นายเผด็จ ยอมรับว่าปัจจุบันเป็นพื้นที่ชาวบ้านทำกิน และมีการปลูกพืชเกษตรทำให้ช้างออกมากินพืชอาหาร ตอนนี้กรมอุทยานฯ ได้นำร่องโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แนวคิดให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนการปลูกพืชดึงดูดช้าง แต่เป็นการทำในลักษณะสมัครใจ เพราะไม่ได้มีการเวนคืนที่ดิน จึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และต้องให้ความสำคัญการรักษาสิทธิของชาวบ้าน
อ่านข่าวอื่นๆ