“ทับเสลา” ไม่ใช่ชื่อเขื่อน แต่คือนามของ “ช้างน้อย” ผู้โด่งดังและเป็นที่กล่าวขานในโลกโซเชียล เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2563 หลังพลัดโขลงจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี พื้นที่มรดกโลก
ครั้งนั้น “ทับเสลา” เป็นเพียงลูกช้างตัวเล็กๆ วัยเพียง 2-3 เดือน ยังไม่มีชื่อ แต่เจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้งได้นำมาเลี้ยงไว้ในพื้นที่และตั้งชื่อเจ้าช้างน้อยนี้ว่า “ทับเสลา”
ผ่านไปเพียง 3 ปี จากเด็กหญิงทับเสลา ช้างพังที่เคยเป็นขวัญใจพ่อๆ และชาวโซเชียล ได้เติบใหญ่ขึ้นเมื่อถูกส่งตัวไปฝึกการใช้ชีวิตในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง “ทับเสลา” มีพัฒนาการการใช้ชีวิตอย่างไร และจะสามารถคืนสู่ธรรมชาติตามสัญชาตญาณป่าได้หรือไม่
อ่านข่าว : ปลดกระดิ่งไม้ปล่อยลูกช้าง “ทับเสลา” คืนป่าพร้อมแม่รับ “วาเลนไทน์”
พังวาเลนไทน์ พังทับเสลา พังดอกรัก ในวันปล่อยลูกช้างกลับคืนสู่ป่าดอยผาเมือง 30 พ.ย.2565
“วันช้างไทย” 13 มีนาคมนี้ ไทยพีบีเอสออนไลน์ชวนเกาะติดชีวิตทับเสลา ลูกช้างป่าหลงโขลงอีกครั้ง ด้วยเหตุว่า “ทับเสลา” ถือเป็นโมเดลความสำเร็จของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และอีกหลายหน่วยงาน ที่สามารถนำลูกช้างป่าหลงแม่กลับไปใช้ชีวิตในป่าใหญ่ได้สำเร็จ
อัปเดตชีวิตทับเสลา ผ่านสายตา “คนเคยเลี้ยง”
ภาณุวัฒน์ สาริวาท เจ้าหน้าที่ดูแลและติดตามพฤติกรรมช้าง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง เล่าให้ฟังแบบติดตลกว่า เมื่อก่อนเรียกชื่อ “ทับเสลา” ลูกช้างจะร้องแปร๋นๆ ส่งเสียงตอบ แต่ตอนนี้เรียกไปเถอะ นอกจากจะไม่ตอบแล้ว ก็ยังเมินไม่ยอมเดินมาหา
ในสายตาของอดีตพี่เลี้ยงลูกช้างพลัดหลง เห็นว่า เป็นสัญญาณดีที่ทับเสลาไม่สนใจพี่เลี้ยง แม้บางครั้งจะเจอกันโดยบังเอิญ แต่ทับเสลาก็เดินห่างๆ ไม่ยอมเข้าใกล้และไม่ให้จับตัว ต่างจากช่วงแรกที่ยังเดินเข้ามาหา สะท้อนให้เห็นว่าทับเสลากลับคืนสู่สัญชาตญาณป่าแล้ว
ภาณุวัฒน์ ติดตามดูพฤติกรรมของทับเสลาหลังปล่อยเข้าสู่ป่าธรรมชาติ (ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท)
ส่วนพัฒนาการการใช้ชีวิตในป่าตลอด 1 ปี ภาณุวัฒน์ บอกว่า จากการประเมินด้วยสายตาพบว่าทับเสลามีพัฒนาการดี หากินได้เองและค่อนข้างติดแม่ แม้ในช่วง 1-3 เดือนแรกที่ปล่อยไปลูกช้างจะมีร่างกายซูบผอม เพราะต้องปรับตัวกับการกินตามธรรมชาติ และเดินตามแม่เป็นระยะทางไกลราว 10-20 กิโลเมตรต่อวัน แต่หลังจากนั้นทับเสลาก็มีสุขภาพแข็งแรงและร่างกายค่อนข้างสมบูรณ์
เมื่อก่อนให้คะแนนทับเสลาใช้ชีวิตในป่า 6 เต็ม 10 ตอนนี้ให้ 10 เต็ม
ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทับเสลาปรับเปลี่ยนกลุ่มประมาณ 3-4 ครั้ง มีช้างตัวอื่นเข้ามาอยู่ในกลุ่ม ตอนนี้นอกจากพังทับเสลา แม่วาเลนไทน์และแม่ดอกรักแล้ว ยังมีแม่สุพรรษา กับพลายบรรหารที่อายุไล่เลี่ยกับทับเสลา มาอยู่รวมกลุ่มได้เกือบ 2 เดือนแล้ว นิสัยเข้ากันได้ดี เพราะเคยเจอกันในช่วงปรับพฤติกรรมก่อนเข้าป่า
พังสุพรรษากับพลายบรรหาร เข้ามารวมกับกลุ่มของทับเสลา (ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท / มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ)
ในเวลานี้ การทำงานของ “ภาณุวัฒน์” ที่เกี่ยวกับทับเสลา จึงเหลือเพียงการติดตามดูพฤติกรรมของช้างว่าจะรวมกลุ่มกันได้หรือไม่ สังเกตพฤติกรรมการกิน การใช้พื้นที่ ซึ่งโดยรวมถือว่าทับเสลาทำได้ดีมาก
อ่านข่าว : ความทรงจำ "คน" เคยผูกพัน ในวันปล่อยลูกช้าง "ทับเสลา" คืนป่า
เปิดใจพ่อถึง “ทับเสลา” ลูกสาวคนโปรด
“ภาณุวัฒน์” ในฐานะอดีตพี่เลี้ยงของทับเสลา มีหน้าที่ดูแลช้างน้อยไม่ต่างจากพ่อที่เฝ้าคอยเลี้ยงลูกรักอยู่ไม่ห่าง แอบกระซิบว่า หลังจากปล่อยทับเสลาคืนสู่ป่า ต้องจุดธูปฝากลูกช้างตัวนี้กับเจ้าป่าเจ้าเขาเพื่อให้ช่วยดูแล จนหมดธูปไปหลายก้าน ขอให้คุ้มครองทับเสลาเข้าป่าได้อย่างสมบูรณ์ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีสุขภาพแข็งแรงอยู่ในป่าและไม่ต้องกลับออกมาอีก
ลูกช้างได้เข้าป่าเป็นความหวังสูงสุด มั่นใจว่าตอนนี้ทับเสลาเป็นช้างป่าอย่างสมบูรณ์ ส่วนผมก็ทำเต็มที่แล้วเหมือนกัน ภูมิใจมากที่มีส่วนร่วมปล่อยช้างตัวนี้คืนสู่ธรรมชาติได้สำเร็จ
ช้างแม่รับกับทับเสลา เมื่อปี 2566 (ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท / มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ)
ด้าน ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผอ.ศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) ทำหน้าที่ ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยืนยันผลการติดตามลูกช้างป่าทับเสลา ว่า หลังจากปล่อยคืนสู่ป่าไปแล้วมีสัญญาณค่อนข้างดี เพราะทับเสลาเป็นช้างแข็งแรง และมีความผูกพันกับแม่รับ แม้ว่าแม่จะเดินทางค่อนข้างไกล แต่ไม่ทิ้งลูก จึงไม่น่าเป็นห่วงเรื่องการเรียนรู้ตามธรรมชาติที่ยังมีแม่คอยสอน
ขณะที่ภาพรวมการใช้พื้นที่ ทับเสลาเก่งฉกาจขึ้น ใช้พื้นที่ได้ค่อนข้างกว้าง แม้ว่ายังเกาะติดลำน้ำสายหลักของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง โดยพบว่าช้างขยับไปไกลขึ้นจากพื้นที่จุดปล่อยเดิม สัญญาณนี้ไม่ได้บ่งบอกเฉพาะว่าช้างเข้าใจสภาพภูมิประเทศดีขึ้น ความแข็งแรงมากขึ้น แต่ยังสามารถเลือกใช้พื้นที่ได้หลายประเภทและใช้อาหารได้หลากหลายเช่นกัน
สัญญาณนี้เป็นพัฒนาการที่ดีของการกลับไปเป็นช้างป่า หรือเป็นสัตว์ป่าอย่างแท้จริง
ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์
ส่วนการใช้ชีวิตหรือการเจริญเติบโตในป่าธรรมชาติ ก็ถือว่าไปได้ไกลและเป็นไปได้ด้วยดี โดยยังมีเจ้าหน้าที่ติดตามดูพฤติกรรม การปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศแบบใหม่และตรวจสุขภาพเป็นระยะ
ดร.ศุภกิจ ย้ำว่า การปล่อยพังทับเสลากลับเข้าป่า เป็นเคสแรกๆ ในประเทศไทยที่นำลูกช้างจากที่หนึ่งไปปล่อยอีกที่หนึ่ง ดังนั้นอาจต้องติดตามไปจนลูกช้างเติบโต หรือจนกว่าจะออกไปมีครอบครัวใหม่
(ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท / มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ)
อีกทั้งในพื้นที่โครงการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง เป็นโครงการพระราชดำริที่มีการปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติ ต้องตรวจติดตามช้างทุกตัวทั้งเรื่องการใช้พื้นที่และการตรวจสุขภาพ ฉะนั้นเมื่อลูกช้างโตขึ้นและหลุดจากโครงการฯ ไปแล้ว ก็อาจใช้วิธี 1 ปีติดตาม 1 ครั้ง เพื่อดูภาพรวมทั้งตัวทับเสลาและการปฏิสัมพันธ์กับช้างกลุ่มอื่นๆ
“ทับเสลา” ถือเป็นโมเดลสำคัญของกรมอุทยานฯ ในการเรียนรู้พฤติกรรมของลูกช้างป่า แม้จะพลัดหลงมาอยู่กับมนุษย์ได้เพียงไม่นาน แต่สุดท้ายแล้ว ความเป็นเจ้าแห่งป่าก็กลับคืนสู่ธรรมชาติตามสัญชาตญาณเดิม
(ภาพจาก ภาณุวัฒน์ สาริวาท / มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ)
อ่านข่าวอื่นๆ
"เต่ามะเฟือง" วางไข่หาดไม้ขาว จุดชมเครื่องบินขึ้น-ลง