ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รุก-ขยับ “กระชับอำนาจ” สัญญาณเคลื่อนตัว “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์”

การเมือง
8 มี.ค. 67
17:13
451
Logo Thai PBS
รุก-ขยับ “กระชับอำนาจ” สัญญาณเคลื่อนตัว “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ในที่สุด นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังมีอาการป่วยด้วยหลายโรครุมเร้า ก็ได้ฤกษ์เดินทางกลับ จ.เชียงใหม่ เพื่อไหว้บรรพบุรุษก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยใช้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ตั้งแต่วันที่ 14-16 มี.ค.2567

หลัง พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ในฐานะโฆษกกรมคุมประพฤติ ออกมาระบุว่า สามารถทำได้หากการขอออกนอกจังหวัดเป็นเหตุจำเป็น หรือสามารถเป็นเหตุช่วยเหลือเยียวยาในการกลับตัวเป็นคนดี ก็ขอไปต่างจังหวัดได้ เพียงแค่ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ ถ้าไปไม่หลายวัน และเพื่อทำให้สภาพจิตใจและการรักษาตัวดีขึ้น ใช้ดุลยพินิจอนุญาตได้ ไม่ได้ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย

“ถือเป็นการขอเคลื่อนย้ายพื้นที่ชั่วคราว แต่หากต้องการย้ายที่อยู่ต้องแจ้งผู้อุปการะ และประสานเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ ต้องไปตรวจบ้านพักที่จะพักอาศัยระหว่างพักโทษ เป็นเงื่อนไขเป็นเดิมที่คณะกรรมการพักโทษกำหนด ให้ทำหรือไม่ให้ทำในสิ่งใด” โฆษกกรมคุมประพฤติ อธิบาย

มีรายงานว่าครอบครัวของนายทักษิณจะเดินทางจากกรุงเทพฯ และไปสมทบกันที่ จ.เชียงใหม่ โดยตลอดวันที่ 14 มี.ค.นายทักษิณยังไม่มีภารกิจหรือมีรายงานว่า จะมีใครเข้าพบบ้างหรือไม่

หากจับสัญญาณการเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ” และครอบครัวชินวัตร เสมือนไม่มีแรงกระเพื่อมใดทางการเมือง เพราะเป็นเพียงการเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดในรอบ 17 ปีที่จากไป โดยเข้าพักที่บ้านพักในสนามกอล์ฟ ซัมมิท กรีนวัลเล่ย์ ต.แม่สา อ.แม่ริม

ถือเป็นช่วงจังหวะเดียวกับการเดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามปัญหาฝุ่น PM2.5 ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 15-17 มี.ค. ก่อนร่วมประชุม ครม.สัญจรพะเยาในช่วงเช้าวันที่ 18 มี.ค.

ในช่วงเวลาที่เหลื่อมกันวันที่ 14-16 มี.ค. ซึ่ง “ทักษิณ” อดีตนายกฯ อยู่เชียงใหม่ ขณะที่ “เศรษฐา” ในฐานะนายกฯ ก็อยู่ภาคเหนือตั้งแต่วันที่ 15-17 มี.ค. ซึ่งไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ช่วงจังหวะที่เหลืออยู่ คือ วันที่ 15 -16 มี.ค.นี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมแกนนำพรรคคนอื่น ๆ จะเข้าพบหรือมีการหารือกันเพื่อกลบกระแสข่าวลือเรื่องปรับ ครม.หรือไม่

หรือมีการกำหนดเสนอตัวบุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่งใหม่ แทนผู้ที่กำลังจะถูกปรับออกหรือไม่ เพราะรัฐบาลนี้ทำงานมาครบครึ่งปีเต็มแล้ว แม้จะยังไม่สามารถใช้ตำแหน่ง รมว.อนุมัติงบประมาณที่รอจ่ายในต้นเดือน พ.ค.นี้ได้ก็ตาม ซึ่งน่าจับตามองอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม นอกจากการปรับ ครม.แล้ว ประเด็นที่น่าสนใจและมองข้ามไม่ได้ คือ การเดินทางกลับประเทศไทย ของ อดีตนายกหญิง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์การเมือง คาดว่า จะได้ฤกษ์เดินทางกลับประเทศไทย ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์

ว่ากันว่า ภายในเดือน ก.ค.2567 อาจมีรายชื่อ “ยิ่งลักษณ์” ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้องอดีตนายกฯ ด้วยมติเอกฉันท์ พร้อมถอนหมายจับในคดีโรดโชว์สร้างอนาคตประเทศไทย 240 ล้านบาท และยกฟ้องคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช.โดยไม่เป็นธรรม

หากกระนั้น คดีของยิ่งลักษณ์ ไม่ได้จบแค่คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 5 ปี โดยมติเป็นเอกฉันท์ไม่รอลงอาญา ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.2560 เท่านั้น

แต่ยังเหลือค้างอีก 1 คดี เมื่อ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า ขณะนี้ในชั้น ป.ป.ช.มีคดีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพียงเรื่องเดียว คือ สมัยดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้มีมติเห็นชอบเรื่องการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าให้กับเอกชน และคดีอยู่ระหว่างการไต่สวนของอนุกรรมการไต่สวน

จตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุตอนหนึ่งว่า “ถ้าทักษิณ กลับบ้าน และทำอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ยิ่งลักษณ์ จะกลับบ้านได้ง่ายที่สุด ไม่ต้องถูกสังคมจับตาทุกการเคลื่อนไหว”

แต่ยิ่งลักษณ์จะไม่สามารถใช้โมเดลเดียวกับทักษิณได้เลย โดยเฉพาะการจะระบุว่า เป็นผู้สูงอายุ หรือมีอาการป่วย

แต่สิ่งที่จะช่วยอดีตนายกฯ หญิงได้ คือ การใช้ดีลพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้ “ยิ่งลักษณ์” กลับบ้านได้ง่ายที่สุด และเชื่อว่าเป็นดีลที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว แต่ไม่สามารถใช้เงื่อนไขเดียวกับทักษิณได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับโทษ 1 ใน 3 ของคดีโทษทั้งหมด และโทษจำคุกสูงสุดต้องไม่เกิน 4 ปี

ขณะที่โทษจำคุกในคดีละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ที่ศาลมีคำตัดสินไปแล้ว คือ 5 ปี นอกจากนี้ หากจะเกณฑ์สูงอายุก็ทำไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะปัจจุบันยิ่งลักษณ์ มีอายุ 57 ปี ดังนั้นทักษิณโมเดล จึงต้องถูกพับลงไป

ส่วนการใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการ สำหรับคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือ “ระเบียบนอนนอกคุก” ก็ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากแนวปฎิบัติซึ่งจะนำมาสู่การบังคับใช้ระเบียบดังกล่าว ยังไม่ได้ถูกประกาศออกมา แม้ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ จะเสนอไปแล้ว แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการระดับกระทรวง

แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะหากจะเร่งดำเนินการจริง แค่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม สั่งการก็ไม่น่าจะมีเหตุขัดข้องอันใด และระเบียบดังกล่าวสามารถใช้ได้กับนักโทษเด็ดขาดทุกคน ไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับโทษมาแล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องป่วย หรือสูงอายุ ก็จะอยู่ในเงื่อนไขทันที แต่กรณีนี้ อดีตนายกฯ หญิง อาจต้องขอยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ เพื่อให้โทษตนเองลดลงจาก 5 ปี เหลือ 4 ปี

หรือถ้ายังไม่รีบและเพื่อป้องกันข้อครหา “ยิ่งลักษณ์” อาจรอให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีผลบังคับใช้ ก็อาจได้รับอานิสงค์นี้ไปด้วย ล่าสุด นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่ประชุมได้ข้อยุติชัดเจนว่า การนิรโทษกรรมจะนับรวมเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2548 จนถึงปัจจุบันให้กับทุกสีเสื้อ

โดยจะเคาะความชัดเจนวันที่ 14 มี.ค.นี้ แม้ยังมีข้อท้วงติงว่า คดีทุจริตคอรัปชัน ไม่ควรจะถูกจัดรวมอยู่ในคดีความขัดแย้งของกลุ่มสีเสื้อ และ ”ยิ่งลักษณ์” อาจจะไม่ได้สิทธิในกฎหมายฉบับนี้ก็ตาม

แต่ไม่ว่าจะใช้โมเดล หรือดีลพิเศษใดก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่มองเห็นและมองไม่เห็นในทางการเมือง ทั้งนอกและในสภาอีกด้วย แม้ สว.จะหมดวาระในเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้ แต่ก็ใช่ว่าการรุก ขยับ เพื่อกระชับอำนาจทางการเมือง ให้มาอยู่ในมือของตระกูลชินวัตร-เพื่อไทย ไม่ได้ง่ายดังพลิกฝ่ามือ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดกำหนดการ "ทักษิณ" เดินทางไปเชียงใหม่ 14-16 มี.ค.

ชี้ช่อง "ทักษิณ" ขอออกนอกบ้านจันทร์ส่องหล้าไปเชียงใหม่

“แพทองธาร” เยือนกัมพูชา 18-19 มี.ค.นี้ ยันไม่ใช่ตัวแทน “ทักษิณ”

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง