ฉากชีวิตทางการเมืองใน 75 ปีของ “ทักษิณ ชินวัตร” เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง หลังได้รับการพักโทษอย่างเป็นทางการ และเมื่อกลับมาอยู่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ดุลอำนาจในรัฐบาลเพื่อไทยก็จะกลับมาอยู่ในมือ"ทักษิณ"มากขึ้นกว่าเดิม สมกับคำที่เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งงานครบรอบวันเกิด 3 ปีที่แล้วผ่านคลิปวีดีโอ Long Distance Call ช่วงหนึ่ง ว่า “ผมต้องการให้การต่อสู้ของผม ให้ชีวิตผม เป็นอมตะของครอบครัวของลูกหลาน”
แม้จะมีคดีพ่วงตามมาอีก 3 คดี แต่หากดูท่าทีการแถลงข่าวของคณะอัยการสูงสุดในช่วงสายๆที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า “ทักษิณ”จะลอยลำ ไร้คลื่นลมแรง โดยมีปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดี อสส. ออกมารับรองว่า ระหว่างการพูดคุยกับ ทักษิณ มีสภาพป่วยจริง "ขั้นวิกฤตเลย" พูดไม่ค่อยมีเสียง เดินไม่ไหว
ในขณะที่ พายัพ ปั้นเกตุ แกนนำคนเสื้อแดง นัดหมายคนเสื้อแดงมาให้กำลังใจ “ทักษิณ” ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อขอให้สุขภาพฟื้นคืนโดยเร็วในวันที่ 25 ก.พ.นี้
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
แผนบันได 3 ขั้น จุดเริ่มต้นขัดแย้งรอบใหม่
รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ว่า เรื่องดังกล่าวมี 2 มุมมอง สำหรับคนที่รักและชื่นชม ทักษิณ จะมองว่า ทุกอย่าง เป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมายที่ได้รับตั้งแต่ต้น แต่คนที่ไม่ชอบ ก็จะมองว่า กฎหมายเหล่านี้ถูกเขียน เพื่อเอื้อให้กับทักษิณ
และทั้งหมด คือ ต้นทุน และรายจ่ายที่กระบวนการยุติธรรมต้องรับผิดชอบ เพราะชนชั้นนำต้องการเงื่อนไข และการต่อรองแบบนี้ โดยยอมเสียต้นทุนความศรัทธาและความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะโทษ ทักษิณ ไม่ได้ เนื่องจากในเกมการต่อรอง ทักษิณ มีสิทธิดังนั้น เมื่อยอมรับเงื่อนไขก็ต้องยอมรับการแบกจ่ายเรื่องนี้ด้วย
อ่านข่าว ยังไม่จบคดี ม.112 อัยการนัด "ทักษิณ" 10 เม.ย.นี้
รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ซึ่งไม่ต่างจากมาตรา 112 หากจะถูกสังคมมองว่า หากเปรียบเทียบคดีที่เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ แทบไม่รับการประกันตัว ในมาตรฐานเดียวกัน และตราบใดที่ผู้ต้องหายังไม่ถูกดำเนินคดีจนถึงที่สุด ต้องสันนิษฐานว่า คือ ผู้บริสุทธิ์ ในขณะที่หลายคนต้องติดคุกยาว ทั้งๆที่อยู่ในกระบวนการ การดำเนินคดี
แต่ย้อนกลับมาที่ทักษิณ ก็จะมีคำอธิบายว่า ทักษิณ อายุเกิน 70 ปี สังเกตคำให้ข้อมูลของอัยการสูงสุด เขาจะพยายามบอกว่า ทักษิณเจ็บป่วยมาก พูดไม่ได้ พยายามจะบอกว่า เขาได้สิทธิพิเศษ เพราเข้าข่ายกฎหมาย เงื่อนไข ก็ต้องไปถามต่อว่า เง่อนไขเหล่านี้เขียนขึ้นมาเพื่อเอื้อใครเป็นพิเศษหรือไม่ แต่ทั้งหมดนี้กระทรวงยุติธรรม ต้องแบกรับต้นทุนดังกล่าวไว้ทั้งหมด
รศ.ดร.โอฬาร บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเกินคำว่า ยุติธรรม 2 มาตรฐาน แต่เรียกว่าอยู่ในแผนบันใด 3 ขั้น และจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งรอบใหม่ใหม่ ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์จะจบลง ด้วยการหักหลังกันอีก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขณะนี้ ดูหมือนว่า ทักษิณ กำลังอยู่ในดีลอะไรบางอย่างกับชนชั้นนำ แต่ชนชั้นนำก็ลืมไปว่า การทำแบบนี้ มีต้นทุนเกิดขึ้นกับสถาบันที่ค้ำยันระบอบเอาไว้ เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมถูกทำให้เสื่อมลง
ถัดจากนี้ไปจะก่อตัวเป็นจุดเริ่มต้นของบันใดขึ้นที่ 2 ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจะมีความขัดแย้งกันมากที่แค่ไหนก็ตาม ก็จะประเมินได้ว่า ในที่สุดทั้ง 2 พรรคจะกลับมารวมกัน
โดยมีเป้าหมายหลักร่วมกันในการปฎิรูป 4 สถาบันหลัก ประกอบด้วย กองทัพ ตำรวจ กระบวนการยุติธรรม และระบบราชการ ซึ่งจะเป็นการปฏิรูประบอบต่างๆไปโดยตรง
“บันไดขั้นแรก 1 คือ ยึดครองพื้นที่สภาให้ได้ และกัดเซาะบ่อนทำลาย วันนี้ คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่ามันไปไม่ไหว ด้วยเหตุที่กระบวนการยุติธรรมมันพัง และทักษิณ ปล่อยให้มันพังคามือ ทักษิณ รอด ได้กลับบ้าน แต่คนที่ต้องแบกรับ คือ ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์ที่ทำลายตัวเอง
ต้องยอมรับว่า เกมความฉลาด ของฝ่ายอนุรักษ์ ไม่ทัน ทักษิณ จะเห็นชัดในการเลือกตั้งครั้งหน้า ในช่วงเวลานี้ หาก ทักษิณ ฉลาด ก็ต้องหมอบ และถอยออกไปก่อน ปล่อยให้รัฐบาลทำไป
แต่หากจะให้เหมาะในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า อาจจะเปลี่ยนนายกฯก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนตัวเอง ให้มาอยู่ในพื้นที่เซฟโซน รอจังหวะกลับไปหาเสียง แล้วเสียบจังหวะสุดท้าย ปฎิรูปกองทัพ ตำรวจ กระบวนการยุติธรรม และระบบราชการ
เชื่อว่าทุกคนจะเอาด้วยหมด เพราะมีความชอบธรรมจะปฎิรูป เพื่อแผนบันใดขั้นที่ 3 เมื่อถึงจุดนั้น ก็จะเกิดการหักหลังกันอีกรอบ
อ่านข่าว "ทักษิณ" ออกจากบ้านจันทร์ส่องหล้า นั่งรถเข็น พบ อสส.แจงคดี ม.112
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง
รัฐบาลพท. 2 นายก“ทักษิณ -เศรษฐา” ตัวจริง-เงาบริหาร
ส่วนบรรยากาศทางการเมืองจะกลับมาวุ่นวายอีกหรือไม่นั้น รศ.ดร.โอฬาร ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ม็อบยังจุดไม่ติด เหตุเพราะ กลุ่มอนุรักษ์ เคว้งคว้าง ผิดหวัง และจะไม่ลงถนนเหมือนในอดีต ในยุคก่อนหากต้องการขับไล่รัฐบาล หรือไม่ชอบ ชนชั้นนำ ยังมีที่พึ่งทางจิตวิญญาณ
แต่วันนี้เหมือนโดนหลอก และที่สุดคนเหล่านี้จะถอยหลังจากทางการเมือง และหาเปิดพื้นที่อยู่ไปสักระยะหนึ่งก่อน และกลับมาทะเลาะกันเอง ก่อนจะมาสำทับรวมกันอีก ซึ่งในทางการเมือง ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับ ทักษิณ ว่า จะทำอย่างไร กล้าบุ่มบ่าม หักด้ามพร้าด้วยเข่าหรือไม่
“ต้องยอมรับ จะเกิดนายกฯ ขึ้นมา 2 คนแน่นอน คือ ทักษิณ จะเป็นคนวางแผน ยุทธศาสตร์ การกำหนดตำแหน่งแห่งที่ คอยไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง บริหารจัดการทางการเมือง ส่วน นายเศรษฐา ก็เป็นนายกฯด้านการบริหาร ทำตามกำหนดการว่า วันนี้ไปเปิดงานที่ไหน ไปฟังบรรยายสรุป หรือออกงานที่ไหน แค่นั้น"
สิ่งที่น่าสนใจและน่าจับตามอง คือ หากชนชั้นนำต้องการให้ทักษิณ ต่อสู้กับพรรคก้าวไกล รัฐบาลจะไม่ตกอยู่ในสภาพถูกพันธนาการจากองค์กรอิสระ จากนโยบายเรือธง คือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ประเมินสถานการณ์ว่าอีกประมาณ 1 เดือนจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น โดยให้จับตาจากท่าทีขององค์กรอิสระและสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ว่าจะเปิดไฟเขียวให้โครงการจิดิทัลวอลเล็ต หรือไม่ หากเสียงท้วงติงเบาขึ้น แสดงว่า ต้องการให้ ทักษิณ เป็นแกนหลักในการต่อสู้กับพรรคก้าวไกล
“การต่อสู้ระหว่างทักษิณ และพรรคก้าวไกล เชื่อว่า ในที่สุดจะเป็นการต่อสู้แค่เป็นพิธีกรรม และผมยังเชื่อคำพูดของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ระบุว่า ต้องร่วมมือกัน แต่ตอนนี้เขาต้องเล่นละครเพื่อตบตาชนชั้นนำ เพราะหากทั้ง 2 ฝ่ายเล่นละครแบบนี้ จะทำให้ทักษิณ ไม่มีบทบาท ก็ต้องสร้างบทบาท”
รศ.ดร.โอฬาร เชื่อว่า ประเด็นดังกล่าวชนชั้นนำก็มองออก อ่านเกมรู้ ดูเกมเป็น และไม่ได้ไว้ใจทักษิณ ยังหวาดระแวง เพียงแต่ไม่มีตัวเลือก และทักษิณ ยังเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ปฎิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยม พ่ายแพ้ราบคาบ
แม้จะมีกลไกทางการเมือง แต่ภาพลักษณ์ความศรัทธา ไม่เหลือเลย โดยเฉพาะกองทัพและตำรวจ กระบวนการยุติธรรม หากให้ดูเหลี่ยมคูทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษ์ สู้ทักษิณไม่ได้แม้แต่น้อย
อ่านข่าว "อัยการ" ชี้ "ทักษิณ" ป่วยขั้นวิกฤต "ภูมิธรรม" ยันเอ็นหัวไหล่ขาด
ทักษิณ ชินวัตร วันเดินทางกลับถึงไทย
“ทักษิณ” วางเกมยาว “เพื่อไทย-ก้าวไกล”ปฏิรูปประเทศ
แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า ขณะนี้ดีลพา “ทักษิณ”กลับบ้าน มีเบื้องหลังหรือข้อตกลงอย่างไร และระหว่างการพักโทษจะจัดวางสถานทางการเมืองของตนเองไว้ในระนาบไหน แต่ ร.ศ.ดร.โอฬาร บอกว่า ทักษิณ มี 2 ทางเลือก คือ จะสู้ หรือ นิ่ง หากนิ่งรอจังหวะในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็จะมีความชอบธรรมมาก ในการหาเสียง ปฏิรูปกองทัพ กระบวนการยุติธรรม ระบบราชการ เพราะเกิดผลในเชิงประจักษ์ ซึ่งเชื่อว่า ทุกคนจะเห็นด้วย
ยอมรับว่า ทักษิณและธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ฉลาดมากในการวางเกมยาว และการเลือกตั้งครั้งหน้า จะเห็นชัด ส่วนตัวเชื่อว่าธนาธร พูดอย่างจริงใจว่า อย่างไรเสีย การเปลี่ยนแปลงประเทศต้องมาจากความร่วมมือกันระหว่าง 2 พรรค คือ ก้าวไกลและเพื่อไทย
ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกล พูดถึงทักษิณ ในทางการเมือง เบาบางมาก การพูดถึงเพราะถูกกดดันจากสังคม ทั้งที่ทำได้มากกว่านี้ แต่ไม่ทำ เพราะเขาต้องการให้ทักษิณ ช่วยกระทืบกระบวนการยุติธรรม ให้มันพังคามือ เพื่อจะได้สร้างความชอบธรรม ในการปฏิรูปครั้งหน้า นี่คือ แผนซ้อนแผน
ส่วนรัฐบาลเพื่อไทยจะอยู่ครบเทอมหรือไม่นั้น รศ.ดร.โอฬาร กล่าวว่า หลังจากเดือนนี้ สัญญาณจะชัดเจนจาก โครงการดิจิทัลวอลเลต ถ้าไปต่อไม่ได้ และรัฐบาลเพื่อไทย ยังต้องอยู่ แต่ต้องเลือกที่จะหมอบ เพื่อไม่ให้เปลืองตัว หรือเจ็บตัว และขอโทษประชาชนว่า ทำไม่ได้ รับผิดชอบ ทำเต็มที่แล้ว แต่กระบวนการและกลไกไม่เอื้อ จึงยอมถอยออกมา
ประเด็นนี้ มีความเป็นไปได้ และอาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนนายกฯ อาจเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกุล พรรคภูมิใจไทย หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
รัฐบาล อยู่รอเดดไลน์ เดือนพ.ค.นี้สมาชิกวุฒิสภา(สว.) จะครบวาระแล้ว หากสัญญาณเป็นแบบนี้ พรรคเพื่อไทยจะลอยตัว ถือเป็นข้อดี หากพล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรี โอกาสที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเดินทางกลับประเทศไทยสูงมาก เพราะถ้า”ยิ่งลักษณ์”กลับมาในรัฐบาลเศรษฐา พรรคเพื่อไทยจบอนาคตเลย ดังนั้น หากให้พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ เขาก็กลับได้ง่ายขึ้น
บรรยากาศที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ซอยจรัญสนิทวงศ์
กลุ่มอนุรักษ์นิยมคว้าง-เมินลงถนน -ม็อบจุดไม่ติด
สำหรับการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่กำลังปักหลักคัดค้านในขณะนี้ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า จุดไม่ติด แม้การต่อสู้ของประชาชนกลุ่มคปท.จะทำมาตลอด
แต่การชุมนุมต้องอาศัยทรัพยากร และเครือข่ายนักการเมือง ซึ่งการเคลื่อนไหวของประชาชนจริงๆไม่มีพลังพอ ถามว่า จะจับจุดตรงไหน เมื่อทักษิณ ทำตามกฎหมายทุกรายมาตรา
ส่วนการจะเอาผิดแพทย์ ก็ต้องร้องแพทย์สภา ให้เปิดเผยรายชื่อแพทย์ที่ทำการรักษา แต่ทำไปเพื่ออะไร ทุกคนก็ข้องใจเหมือนกันหมด แต่มันไม่มีผลอะไรทางการเมือง เพราะรัฐบาลก็ยังอยู่ต่อได้ คนที่ซวยคือ หมอและรพ.ตำรวจ ซึ่งไม่เกี่ยวกับทักษิณและรัฐบาลเลย คนที่เหนื่อยเปล่า คือ คปท.หากจะหวังให้คนมาลงถนน เชื่อว่า ไม่น่าจะมีใครลงมาแล้ว
รศ.ดร.โอฬาร กล่าวว่า การต่อสู้ในทางการเมืองระหว่างประชาชน ฝ่ายอนุรักษ์ และทักษิณ ในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา อยากให้เข้าใจว่า มันเป็นธรรมชาติทางการเมืองของชนชั้นนำ ส่วนคนที่เสียเปล่า คือ ประชาชน ที่เข้ากระบวนการต่อสู้ ด้วยความปรารถนาดี อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองที่ดี
แต่การเมืองของชนชั้นนำ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ หากเขา เกี๊ยะเซียะ กันได้ มันก็จบ หากตั้งสติดีๆ จะเห็นได้ว่า กระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตยแบบนี้ อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด คือ การที่ไปฝากความหวังไว้กับการเลือกตั้งมากเกินไป ทำให้เรา เสียความรู้สึก เสียหายและเสียชีวิต เพื่อแลกกับความคาดหวังครั้งสุดท้าย
แต่พอเขาตกลงกันได้ ประชาชนกลายเป็นหมา ดังนั้นประชาชน จึงต้องถอดบทเรียน ประชาธิปไตยจะต้องมีอย่างอื่นด้วย เช่น ประชา ธิปไตยทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ที่ตอบโจทย์ประมากกว่าประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง
เราเข้าใจอารมณ์และความรู้สึก แต่ต้องเรียนรู้ บทเรียนสำคัญ ว่า เราถูกชนชั้นนำหลอกให้อยู่กับประชาธิปไตยเลือกตั้ง แต่สุดท้ายเหมือนกับยกอำนาจให้กับนักการเมือง พอเขาทะเลาะกัน ก็เอาประชาชนเป็นเครื่องมือ และเราก็ไปตายฟรีให้กับเขา
อ่านข่าวอื่นๆ
ยิ้มปากบาน ! ธ.ก.ส. จ่ายเงินไร่ละพัน ให้ชาวนา 1.9 หมื่นครัวเรือน