จากกรณี เรือประมงพบซากออร์ฟิช (Oarfish) หรือปลาพญานาค เป็นปลาทะเลน้ำลึก ที่ติดมากับเรือประมงอวนลากคู่ ห่างจากฝั่ง 15 ไมล์ทะเล ที่ ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา วัดขนาดความยาวได้ 2.85 เมตร น้ำหนัก 8.6 กิโลกรัม นับว่าเป็นการพบปลาชนิดนี้ตัวแรกที่ จ.ภูเก็ต และเป็นตัวที่ 2 รอบปี 2567 ซึ่งก่อนหน้านี้พบเมื่อวันที่ เกาะอาดัง อ.ละงู จ.สตูล เมื่อวันที่ 3 ม.ค.
อ่านข่าว : ตัวที่ 2 ของไทย พบซาก “ออร์ฟิช” ยาว 2.85 เมตร โผล่ภูเก็ต
วันนี้ (18 ก.พ.2567) ผศ.ดร.ธนัสพงษ์ โภควนิช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ตามความเชื่อ คนญี่ปุ่นออร์ฟิซ เป็นปลาของเทพเจ้า ที่ส่งสัญญาณว่าจะเกิดแผ่นดินไหว ทางวิทยาศาสตร์บอกไม่ได้ถึงความเชื่อมโยง เป็นในเชิงความเชื่อเท่านั้น

ผศ.ดร.ธนัสพงษ์ โภควนิช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผศ.ดร.ธนัสพงษ์ โภควนิช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ส่วนในเชิงวิทยาศาสตร์ ช่วงนี้เป็นช่วง ปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) มีสถานะเป็นบวก (positive) คือปรากฏการณ์ที่ทำให้น้ำทะเลทางฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย (อันดามันประเทศไทย) เกิดชั้น thermocline ซึ่งหมายถึงการที่น้ำทะเลแยกชั้น เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำมีความแตกต่างกัน
ออร์ฟิซ เป็นสัตว์น้ำที่หาชมได้ยาก อาศัยในช่วงน้ำลึก ระดับ 1,000 เมตรขึ้นไป จะไม่ขึ้นมาผิวน้ำ นอกจากจะป่วย หรือใกล้ตาย
ถ้าหากน้ำเย็นขึ้นมาอยู่ใกล้ผิวน้ำ มีโอกาสที่ออร์ฟิซ จะเข้ามาตามมวลน้ำเย็นได้

facebook : สำนักงาน ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต
facebook : สำนักงาน ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต
ทั้งนี้ต้องดูว่าประมงลากอวนในบริเวณน้ำลึก หรือน้ำตื้น หากลากอวนในน้ำลึก จังหวะที่ IOD นำมวลน้ำเย็นขึ้นมาอาจจะเผลอไปลากอวนติดออร์ฟิชได้
ผศ.ดร.ธนัสพงษ์ ยังกล่าวว่าปรากฏการณ์ IOD Positive เป็นกระบวนการธรรมชาติ จะแกว่งไปแกว่งมา ระหว่าง IOD 3 ลักษณะ
- Positive Phase กระแสน้ำอุ่นไปรวมตัวด้านตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย ทำให้ให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลบริเวณนั้นอุ่นขึ้นผิดปกติ
- Negative Phase กระแสน้ำอุ่นไปรวมตัวด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย ทำให้ให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลบริเวณนั้นอุ่น
- Normal Phase กระแสน้ำอุ่นจะเคลื่อนตัวไปรวมกันอยู่ด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลใกล้เคียงกันทั่วมหาสมุทร
ปัญหาโลกร้อนอาจจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำเกิดความรุนแรงขึ้น และอาจจะเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น
ซึ่งตั้งแต่ปี 2562 Indian Ocean Dipole (IOD) เริ่มมีสถานะเป็นบวก และกลับมาอีก ในช่วงปี 2566 ต่อเนื่องมาถึง 2567

facebook : สำนักงาน ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต
facebook : สำนักงาน ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต
สำหรับปลาออร์ฟิชตัวล่าสุดที่ จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลภูเก็ต จะนำปลาชนิดนี้ไปศึกษาวิจัยและส่งไปยังองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อนำไปศึกษาแหล่งกำเนิดแหล่งหากินของปลาชนิดนี้ต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ตัวแรก! อพวช.ขึ้นทะเบียน "ออร์ฟิช" ศึกษาอนุกรมวิธาน
อย่าตื่น "ปลาออร์ฟิช" โผล่ไทยคาด IOD มวลน้ำเย็นพาเข้าทะเลสตูล