วันนี้ (13 ก.พ. 2567) รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) และตัวแทนชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ,ชมรมคลินิกชุมชนอบอุ่น ,ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน ,ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ จำนวนกว่า 100 คน แต่งชุดดำ มายื่นหนังสือและขอเข้าพบ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข และในฐานะประธานบอร์ดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) โดยขอให้ทบทวนการบริการจัดการของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
และสนับสนุนให้มีตัวแทนของผู้ให้บริการเข้าไปร่วมเป็น Provider board ในการคณะกรรมการกำหนดอัตราค่าบริการที่เหมาะสม
โดยผู้เข้าร่วมชุมชน ต่างถือป้าย แสดงความคิดมีเนื้อหา “บัตรทองในพื้นที่ กทม.เงินไปไหนหมด ไม่มีเงินจ่ายคลินิกบัตรทอง “
เผยรพ.เอกชนแห่ "ถอนตัว"จากระบบหลักประกันสุขภาพ
รศ.นพ.สุรศักดิ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการบริการจัดสถานพยาบาล ใช้ระบบเอาเม็ดเงินเป็นตัวตั้ง แล้วมากำหนดการบริการ ทำให้ระบบบริการบิดเบี้ยว ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนต้องถอนตัวออกจากระบบหลักประกันสุขภาพฯเหลือ 20-30 แห่ง ซึ่งเป็นรพ.เอกชนขนาดเล็กที่ต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากสปสช.จึงเข้าร่วมโครงการ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้สถานพยาบาลเอกชนถอนตัวอีก
ส่วนโรงพยาบาลรัฐก็อดทนกันมานาน เพราะออกจากระบบไม่ได้ และเริ่มมีปัญหาขาดสภาพคล่องชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ระบาด จากเดิมทุกโรงพยาบาลพร้อมใจกันช่วยเหลือดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ สปสช.ก็จ่ายเงินตามอัตราการบริการตามที่สถานพยาบาลเบิกจ่าย
การกำหนดอัตราค่าบริการ โดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า และต้นทุนที่สะท้อนความเป็นจริง ส่งผลให้โรงพยาบาลในเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ ที่เก็บข้อมูลได้ ขาดทุนบริการผู้ป่วยนอก 1,000 ล้านบาท ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 ก็คงไม่หนีกัน จึงทนไม่ไหวต้องออกมาเรียกร้อง
แพทย์ห่วงคนกทม. สถานะระบบสุขภาพ เหมือนเจ้าไม่มีศาล
รศ.นพ. สุรศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบว่าในพื้นที่กทม.ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน คือ ขาดความชัดเจน เรื่องความผิดชอบของหน่วยงานที่ให้บริการ ไม่ทราบว่าใช้ระบบใดเป็นหลัก เนื่องจากมีความหลากหลายรูปแบบในการให้บริการ ผิดกับต่างจังหวัด ซึ่งมีเครือข่ายการให้บริการ มีระบบติดตามตัวผู้ป่วย ทำให้สถานะของคนกรุงเทพฯ เปรียบเสมือนเจ้าไม่มีศาล จึงอยากขอให้รมว.สาธารณสุข เข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขสถานการณ์ เพื่อให้ผู้ให้บริการเกิดความเชื่อมั่นในระบบ
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายแพทย์ฯจะยังไม่ขีดเส้นระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา แต่ทางกลุ่มเครือข่าย รพ. ทั้งหมดจะติดตามสถานการณ์เป็นระยะๆ และยังให้บริการประชาชนตามปกติ เพราะแพทย์ทุกคนถูกสอนให้เป็นมืออาชีพ และเห็นความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อนมนุษย์เป็นสำคัญ
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นจะกระทบ 30 บาทรักษาทุกที่ หรือไม่นั้น มองว่า ต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สร้างความเชื่อมั่น
ใช้เม็ดเงินนำสุขภาพ "ไม่ถูกต้อง"
นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า เข้าใจเรื่องภาวะงบประมาณที่จำกัดของสปสช. แต่ระบบการบริการที่เอาเม็ดเงินเป็นตัวนำ ไม่สอดคล้องกับแนวคิดขององค์การอนามัยโลก ที่ให้ระบบบริการนำระบบการเงิน การกำหนดอัตราการเบิกจ่ายของสปสช.ที่ผ่านมา ไม่ใช้ตัวแทนจากผู้ให้บริการอย่างแท้จริง จึงไม่สามารถสะท้อนต้นทุนได้ บนพื้นฐานความเป็นจริง และมีการพิจารณาหลักเกณฑ์แบบเร่งรัด ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า
ต้นทุน 1 หน่วยบริการ อยู่ 13,000 บาท แต่สปสช.กำหนดจ่าย 8,300 บาท นั่นหมายความว่า ขาดทุนเท่าไหร่ และย้อนหลังไปขาดทุนเท่าไหร่ และใน งบประมาณปี 2567 เพิ่งมาออกหลังปีใหม่ไม่นานมานี้ ก็ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้ให้บริการ สถานพยาบาลไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า
ร้องตรวจสอบงบการเงิน "สปสช."
ด้าน พญ.นันทวัน ชอุ่มทอง นายกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้สปสช.จ่ายเงินค่าบริการเต็มจำนวน เนื่องจากคลินิกได้ให้การดูแลประชาชนไปแล้ว โดยการบริการงบประมาณ มีการใช้งบประมาณของไตรมาส 3 ไปแล้ว 50 %
คาดว่าไม่เกิน 6 เดือน การใช้งบปี 2567 หมดแน่นอน จึงอยากให้มีการตรวจสอบการบริการจัดการงบประมาณของสปสช. เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครตรวจสอบงบประมาณได้
ต่อมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มารับหนังสือแทน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. โดยมีนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. มาร่วมรับหนังสือ จากนั้นจึงเข้าหารือในห้องประชุมชั้น 2 ร่วมกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : "อนุทิน" ชี้แจงปมย้าย "อธิบดีพช." นั่ง "ผู้ว่าฯโคราช" ยืนยันทดแทนตำแหน่งว่าง