วันนี้ (22 ม.ค.67) นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทย จำนวน 122 คน ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 เพื่อนำไปสู่การทำประชามติสอบถามประชาชน และการดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
อ่านข่าว : “พรเพชร” ชี้ไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญยังไม่ชัด
1.การดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนที่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธาน กำลังจัดทำรายงานสรุปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งรับทราบว่า มีข้อสรุปการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสนอให้มีการทำประชามติ 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 จะเสนอถามประชาชนก่อน โดยยังไม่มีร่างแก้ไขต่อรัฐสภาว่า สมควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ครั้งที่ 2 เมื่อมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 เสนอต่อรัฐสภาและร่างได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว และครั้งที่ 3 เมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นแล้ว
2.คณะทำงานของพรรคเพื่อไทยเห็นว่า สาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ที่ระบุว่าให้ถามประชาชนเสียก่อนว่า ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่นั้น "การถามประชาชนเสียก่อนยังไม่มีความชัดเจนว่า ถามก่อนในขั้นตอนใด" ซึ่งอาจตีความได้ว่า สามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 เพื่อแก้ไขวิธีแก้รัฐธรรมนูญและเพิ่มเติมหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการ ส.ส.ร.ไปก่อนได้
อ่านข่าว : ดีเดย์ 24 พ.ย.นี้ ถกประชามติแก้รัฐธรรมนูญ-ลั่นเคาะจบปีใหม่
เมื่อรัฐสภาอนุมัติร่างแก้ไข ม.256 ในวาระ 3 แล้วจึงไปสอบถามประชาชนใน 2 ประเด็น คือ เห็นชอบ ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยถามพร้อมไปกับคำถามที่ว่า เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ โดยขณะที่สอบถามก็ยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น จึงถือได้ว่า ได้สอบถามประชาชนก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
หากทำได้เช่นนั้นก็สามารถลดทอนการทำประชามติเหลือเพียง 2 ครั้ง ซึ่งจะสามารถลดระยะเวลาและลดภาระงบประมาณได้ 3,000 – 4,000 ล้านบาท จึงเห็นว่า ประเด็นดังกล่าวผู้ที่จะชี้ขาดก็คือศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้ออกคำวินิจฉัย ที่ 4/2564
อ่านข่าว : รอลุ้น! 35 รายชื่อศึกษาประชามติแก้รัฐธรรมนูญพรุ่งนี้
3. อย่างไรก็ตามอำนาจหน้าที่และแนวปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ตอบคำถามหรืออธิบายรัฐธรรมนูญ จะทำหน้าที่เป็นองค์กรวินิจฉัย โดยรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญได้แต่จะวินิจฉัยได้ต้องมีคำร้องสู่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องอ้างปัญหาความขัดแย้งหรือความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องอำนาจหน้าที่
ประเด็นปัญหาในเรื่องนี้ คือ การที่ต้องถามประชามติของประชาชนก่อนว่า เห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่นั้น สามารถกระทำได้โดยเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 ไปก่อน และเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ม.256 แล้ว จึงถามประชามติประชาชนไปพร้อมกับการถามประชามติร่างแก้ไข ม.256 ได้หรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องสอบถามประชาชนก่อนโดยที่ยังไม่ได้เสนอญัตติใดๆ ต่อรัฐสภาเลย
อ่านข่าว : ไขคำตอบ! พรรคก้าวไกล ประกาศแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
4.โดยเหตุดังกล่าว พรรคเพื่อไทยโดยสมาชิกสภาฯทั้งหมดจึงเห็นควรให้เสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานรัฐสภา และหากยึดแนวทางที่ผ่านมา หากประธานรัฐสภาไม่บรรจุญัตติดังกล่าวตามข้อเสนอของสำนัก กฎหมายประธานรัฐสภา โดยอ้างว่า มิใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แต่เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องถามประชาชนเสียก่อน โดยอ้างคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ขณะที่สมาชิกรัฐสภาเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา
กรณีก็จะเกิดประเด็นความขัดแย้ง เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และหากเป็นเช่นนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยมีสิทธิที่จะเสนอ ประเด็นความเห็นดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัย อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา โดยขอให้ประธานรัฐสภาส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ และจะนำไปสู่คำตอบว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง
พรรคเพื่อไทยมีความตั้งใจและเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลในการจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเข้าใจดีถึงความสลับซับซ้อน ความเห็นที่แตกต่างกันใน ข้อกฎหมาย เจตนาที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้เป็นไปที่จะหาข้อ ยุติว่าควรทำประชามติกี่ครั้ง
อ่านข่าว : “คนไทยพลัดถิ่น” ยื่นนายกฯ เลิก “แลนด์บริดจ์” กระทบชีวิต-สิ่งแวดล้อม
หากสามารถหาคำตอบได้ว่า ทำประชามติเพียง 2 ครั้ง กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีความกระชับ และไม่สิ้นเปลือง งบประมาณแผ่นดินเกินความจำเป็น โดยมิได้มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ
แต่ปัญหาเกิดจากคำวินิจฉัยที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว จึงต้องทำให้เกิดความชัดเจนเท่านั้น หากในที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยในเรื่องนี้ก็จะถือว่าปัญหาการทำประชามติก็จะจบลงและทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม
อ่านข่าวอื่น ๆ
ชง ครม.สัญจร-ระนอง อนุมัติ 21 โครงการ หนุนเศรษฐกิจ-คุณภาพชีวิต-พัฒนาท่องเที่ยวภาคใต้
ชาวบ้านระบุรัฐบาล “มัดมือชก” โครงการแลนด์บริดจ์ ครม.สัญจรตั้งธงเดินหน้า