ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"แพทองธาร" แถลงการณ์ท่าทีไทยต่อนโยบายสหรัฐฯ ขึ้นภาษี 36%

การเมือง
6 เม.ย. 68
09:03
1,467
Logo Thai PBS
"แพทองธาร" แถลงการณ์ท่าทีไทยต่อนโยบายสหรัฐฯ ขึ้นภาษี 36%
นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ท่าทีไทยต่อนโยบายสหรัฐฯ ขึ้นภาษี 36% ชี้กระทบส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เกษตร เล็งเพิ่มนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ด้านพลังงาน อากาศยาน พร้อมสร้างความร่วมมือภาคเกษตร อุตสาหกรรม ขณะที่ รมว.คลัง เตรียมเดินทางไปหารือหลายภาคส่วน

วันนี้ (6 เม.ย.2568) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ท่าทีของประเทศไทยกับนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา โดยมีรายละเอียดว่า

เรียนพี่น้องประชาชน ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราได้เผชิญกับเหตุการณ์หลายอย่างที่ไม่คาดคิด ทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตทรัพย์สิน และสภาพจิตใจของคนไทย

รัฐบาลได้ตระหนักถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในทุกมิติ เพื่อให้การช่วยเหลือและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เราเคยผ่านวิกฤตของประเทศมาแล้วหลายครั้งและด้วยความสามัคคีความช่วยเหลือเกื้อกูลและความเอื้ออารีต่อกันของคนในชาติ ทำให้ดิฉันเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถก้าวผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้

วันนี้ประเทศไทย กำลังเผชิญกับมาตรการในการขึ้นภาษีสินค้าของไทยที่ส่งไปขายในสหรัฐอเมริกาในอัตราร้อยละ 36 อีกทั้งหลายประเทศก็ได้ตกอยู่ใสถานการณ์เดียวกันกับประเทศไทยและก็ต่างเตรียมมาตรการรับมือ ซึ่งเราเชื่อว่าทั่วโลกกำลังจะเห็นการตอบโต้กันอย่างหนักหน่วงผ่านเครื่องมือทางภาษี และหลายประเทศก็ตัดสินใจไปเจรจาพูดคุยกับรัฐบาลสหรัฐฯ แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครได้ข้อสรุปของการเจรจาแต่อย่างใด

ในส่วนของประเทศไทย มาตรการนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการส่งออกสินค้าของเราโดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และสินค้าเกษตร

รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานในเรื่องนี้ขึ้นมา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2568 และมีการหารือกับภาคเอกชน รวมทั้งตัวแทนของสหรัฐฯถึงข้อเสนออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการมาโดยตลอด และในสัปดาห์หน้านี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินทางไปหารือกับหลายภาคส่วนในสหรัฐฯ ทั้งภาครัฐ เอกชนและผู้ที่มีส่วนได้เสีย จากการเปลี่ยนแปลงการค้าที่สำคัญ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในครั้งนี้

สำหรับสิ่งที่เราจะสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐฯ ก็คือประเทศไทยไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกเท่านั้น แต่เราคือพันธมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯเชื่อถือได้ในระยะยาว

ขณะนี้รัฐบาลได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายต่าง ๆ เช่น การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในด้านพลังงาน อากาศยาน และ สินค้าเกษตร โดยประเทศไทยมีแผนที่จะสร้างความร่วมมือกับภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มอื่น ๆ ที่มีส่วนได้เสียสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ซึ่งมีรายละเอียดในนโยบายอีกมาก โดยขอให้มั่นใจว่าข้อเสนอเหล่านี้ ล้วนแต่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศไทยเหนือสิ่งอื่นใด

นอกจากนี้ ประเทศไทยจะมีการเจรจาเรื่องการส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ และลดเงื่อนไขการนำเข้าที่เป็นอุปสรรครวมไปถึงการปราบปราม การสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐฯ

ดิฉันมั่นใจว่าข้อเสนอข้างต้นนี้ จะทำให้การเจรจากับสหรัฐฯ บรรลุผลเพื่อให้ประเทศไทยและสหรัฐ ฯ ยังคงเป็นพันธมิตรและคู่ค้าที่เป็นมิตรต่อกัน

รัฐบาลยังมีอีกหลายมาตรการที่พร้อมจะรับฟังและพูดคุยเพิ่มเติมกับสหรัฐฯ และขอให้ความมั่นใจว่าข้อเสนอที่รัฐบาลเตรียมไว้ ล้วนคำนึงถึงประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นสำคัญและเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจของเราและคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจไทยทุกท่าน

น.ส.แพทองธาร ระบุว่า ขอให้คำมั่นว่า ทุกท่านไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาเร่งด่วนในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้ง SME และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ โดยการเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ อีกทั้งยังจะเป็นการกระจายความเสี่ยงของภาคธุรกิจไทย ที่เรามุ่งมั่นที่จะเจรจาการค้า ในการเปิดตลาดใหม่ ๆ ในตะวันออกกลาง ยุโรป และอินเดีย โดยจะเร่งเจรจาการค้า FTA ให้เร็วยิ่งขึ้น

ในวันอังคารที่ 8 เม.ย.นี้ หลังจากประชุมสรุปกับคณะกรรมการและทุกหน่วยงานอีกครั้งหนึ่ง จะสรุปแนวทางเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นสำคัญ และขอเรียนย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง แข็งแรง และเท่าทันโลก และเพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมีศักดิ์ศรีเพื่อประเทศไทยของเรา

นายกฯ ติดตามวอร์รูมแก้ภาษี "ทรัมป์"

ขณะที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (5 เม.ย.) ซึ่งตรงกับเวลา 09.00 น. ในสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีประชุมร่วมกับคณะวอร์รูมเกาะติดสถานการณ์ภาษีสหรัฐฯ เพื่อติดตามและนำมาเป็นข้อมูลเชิงเปรียบเทียบในแต่ละประเทศว่าจะดำเนินการอย่างไร ที่จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดทางการค้าระหว่างประเทศครั้งนี้

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าความหวั่นวิตกเกิดขึ้นอย่างหนักในสหรัฐฯ เอง ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเป็นวันที่ 2 ติดต่อกันในวันศุกร์ (4 เม.ย.) โดยมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสงครามการค้าโลกซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น ฉุดตลาดหุ้นตกลงหนักที่สุดนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ขณะที่ดัชนี Nasdaq ได้เข้าสู่ภาวะตลาดหมี (bear market) ภาวะตลาดหุ้นตกต่ำอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้เห็นว่าประเทศไทยต้องตั้งมั่นในฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำคัญของประเทศในการเจรจาในทุกมิติกับสหรัฐ ฯ

นายจิรายุ กล่าวว่า คณะทำงานของรัฐบาลไทยในการการเจรจากับสหรัฐฯ ต้องรอบคอบและกำหนดห้วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยให้ดีที่สุด โดยวอร์รูม เห็นตรงกันว่า "ช้าไปก็ไม่ดี เร็วไปก็เสี่ยง" จึงจำเป็นต้องรอบคอบ ซึ่งเห็นได้ว่าประเทศอื่นที่เริ่มการเจรจาไปก่อนการประกาศขึ้นภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่ได้ช่วยสถานการณ์ประเทศนั้น ๆ ให้ดีขึ้นแต่อย่างใด กลับถูกตั้งกำแพงภาษีมากกว่าที่คาด ดังนั้นการเร่งรีบจึงไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นการประกาศ "ให้ของฟรี" กับอเมริกาไปก่อนหน้าการประกาศขึ้นภาษี

อ่านข่าว : สะเทือนทั้งโลก "สหรัฐฯ" เคาะตัวเลขภาษีตอบโต้คู่ค้า ไทยโดน 36% 

"กัมพูชา-เวียดนาม" ต่อรองทรัมป์ เจรจาลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ 

ทรัมป์ขึ้นภาษี 54% ปลุกมังกรจีนตื่นพร้อม "กลยุทธ์ดึงดูดนักลงทุน" 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง