แม้ยังเป็นเพียงโครงการในพิมพ์เขียว แต่ก่อให้เกิดคำถาม ความเห็น รวมทั้งปฏิกิริยาที่แตกต่างมากมาย ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน รวมถึงทะเลจีนใต้ ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
แลนด์บริดจ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะแนวคิดจะมีเมกะโปรเจ็ค ด้านการลงทุนเชื่อมต่อระหว่างฝั่งทะเลอันดามันมายังฝั่งอ่าวไทย ด้วยหวังจะย่นระยะทางการเดินเรือบรรทุกสินค้าจากฝั่งตะวันตก ยุโรปและตะวันออกกลาง ไปยังทะเลจีนใต้ ไม่ต้องไปแล่นอ้อมช่องแคบมะละกา ด้วยคาดการณ์ว่า จะก่อให้เกิดรายได้มหาศาลเข้าประเทศ มีมาตั้งแต่สมัยคอคอดกระ กระทั่งถึงคลองไทย ล่าสุด คือแลนด์บริดจ์
อ่านข่าว : “โครงการแลนด์บริดจ์” ประเด็นร้อนรัฐบาล “เศรษฐา” ขายตรง “เวิลด์ อีโคโนมิคฟอรั่ม”
แลนด์บริดจ์ มีทั้งการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง และท่าเรือน้ำลึกชุมพร โครงการระบบรถไฟทางคู่ ชุมพรถึงระนอง และการสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ชุมพร-ระนอง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ให้เป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย
เฟสแรกใช้งบลงทุนประมาณ 5 แสนล้านบาท เป็นโครงการที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ให้ความสำคัญและหวังเดินหน้าเต็มที่ มีการนำโครงงการนี้เปิดเวทีสัมมนา “ไทยแลนด์ แลนด์บริดจ์ โรดโชว์” ชักชวนนักลงทุนให้ร่วมลงทุนนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่สหรัฐอเมริกาช่วงประชุมเอเปค การประชุมผู้นำอาเซียน-ญี่ปุ่น ที่ประเทศญี่ปุ่น ล่าสุด คือการประชุมที่ดาวอส สวิสเซอร์แลนด์
โครงการแลนด์บริดจ์ริเริ่มจนเป็นโครงร่างในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ไม่ทันจะเดินหน้าต่อก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ไปต่อ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มีนายเศรษฐาเป็นนายกฯ จึงเดินหน้าโครงการนี้ต่อ
โดยหวังจะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านขนส่งหรือโลจิสติกส์ และการค้าของเอเชีย นายเศรษฐา พูดย้ำหลายครั้งว่า เป็นการสร้างโอกาส ทำอนาคตประเทศไทยดีขึ้น เกิดการจ้างงาน รวมทั้งจะช่วยดึงรั้งเด็กไทยไม่อยากย้ายไปอยู่ต่างประเทศ
แต่การเดินหน้าใช่ว่าจะราบรื่น เพราะแม้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่เป็นเจ้าภาพ ศึกษาโครงการโครงการนี้ จะได้ข้อสรุปว่าคุ้มค่าสำหรับการลงทุน ทั้งพร้อมสำหรับข้อมูลสนับสนุนรัฐบาลและการทำโรดโชว์ต่อนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งจีน ยุโรป และสหรัฐฯ
แต่ขัดแย้งกับการศึกษาโดยสภาพัฒน์ หรือสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับศูนย์วิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เห็นว่า ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่ง 2 ฝั่งทะเล คือการให้ความสำคัญกับสร้างเส้นทางเข้าถึงพื้นที่พัฒนา ตามแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) โดยเน้นใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ และต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้วเป็นสำคัญ
เท่ากับการลงทุน “แลนด์บริดจ์” รูปแบบที่รัฐบาลต้องการ ไม่หมาะสม ไม่คุ้มค่า นอกจากนี้ ยังมีภาระที่ต้องใช้เงินทุนมหาศาล รวมถึงการสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่ง ศักยภาพการขนส่งตู้สินค้าทางรางรถรถไฟ และกระบวนการยกขึ้นยกลงจากขบวนรถไฟ ไม่นับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและอื่น ๆ และการมีส่วนร่วมหรือประชามติจากประชาชนในพื้นที่ และผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น
อ่านข่าว : “เครือข่ายพะโต๊ะ” ขอพบ “เศรษฐา” ถกปัญหา “โครงการแลนด์บริดจ์”
ที่สำคัญคือความมั่นใจและหลักประกัน สำหรับนักลงทุนต่างชาติในโครงการนี้ โดยเฉพาะความไม่โปร่งใส และขั้นตอนดำเนินการ ที่มักจะมีไม่จบไม่สิ้นของนักการเมืองและระบบข้าราชการไทย
ความไม่มั่นใจในความโปร่งใส สะท้อนผ่านการประกาศลาออกจากกรรมาธิการชุดนี้ถึง 4 คนของ สส.พรรคก้าวไกล มิหนำซ้ำ คนที่เป็นตัวหลักในการเคลื่อนไหวตอบโต้เรื่องนี้ คือ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่มีต้นทุนสูงและอ้างถึงการรวบรัดเร่งสรุปและปิดการประชุมกรรมาธิการฯ ทั้งที่ยังไม่ได้รับความกระจ่างขัดจากเจ้าหน้าที่ รวมทั้ง สนข.
อ่านข่าว : แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง "ใครได้ ใครเสีย ใครคุ้มสุด"
การแสดงจุดยืนของพรรคก้าวไกล ได้ตกเป็นเป้ารุมถล่มจากพรรคเพื่อไทย รวมทั้งแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย และนายธรกร วังบุญคงชนะ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ
ทำให้เกิดเป็นภาพสะท้อนว่า ฝ่ายหนึ่งไม่อยากเข้าไปมีส่วนร่วม ในการประทับตรารับรองความถูกต้องและเดินหน้าของโครงการนี้ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง หวังจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ผลักดันให้เกิดโครงการสำคัญระดับเมกกะโปรเจ็ค เป็นโครงการที่โลกต้องจำ เหมือนโครงงการอีอีซี ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หรือโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในอดีต จนเป็นที่มาของวลีที่ว่าเป็น “ยุคโชติช่วงชัชวาล”
“แลนด์บริดจ์” ท่ามกลางคำถามและเรื่องค้างคาใจผู้คน จะเดินหน้าต่ออย่างไร ต้องคอยติดตาม
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา