เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จ.ชุมพร เข้ายื่นหนังสือถึง ผู้ว่าฯ ชุมพร ผ่านนายธนนท์ พรรพีภาส รองผู้ว่าฯ ชุมพร เพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี กรณีโครงการแลนด์บริดจ์ ระหว่างคณะรัฐมนตรีมาประชุมสัญจรที่ จ.ระนอง ในวันที่ 23 ม.ค.2567
เพราะชาวบ้านเชื่อว่า การมาประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.ระนอง ในครั้งนี้ มีนัยสำคัญ ที่ต้องการผลักดัน “โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง” ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลเพื่อไทย กำลังเดินหน้าเต็มที่อยู่ในขณะนี้
ขณะที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาโครงการดังกล่าว จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2567 ที่ผ่านมา
วันนั้น ประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความกังวลในมิติต่าง ๆ และไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้
จนถึงการประชุมล่าสุด ของคณะกรรมาธิการแลนด์บริดจ์ วันที่ 12 ม.ค. มีกรรมาธิการในส่วนของพรรคก้าวไกล ประกาศลาออก 4 คนคือ
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. เขต 9 และ นายสมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ
อ่านข่าว : “เครือข่ายพะโต๊ะ” ขอพบ “เศรษฐา” ถกปัญหา “โครงการแลนด์บริดจ์”
ด้วยเหตุผลว่า ไม่อยากเป็น “ตรายาง” ให้คณะกรรมาธิการฯ ที่ออกมาสนับสนุนเรื่องนี้ เพราะมองว่า รายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของเรื่องนี้ ยังไม่มีความชัดเจนอีกหลายประเด็น ต้องการให้ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ชี้แจงเพิ่มเติมอีก
ขณะที่การเดินทางไปประชุม World Economic Forum (WEF) ที่สมาพันธรัฐสวิส ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายกฯ โรดโชว์โครงการนี้ เพราะก่อนหน้านี้ นายกฯ เคยนำเสนอโครงการนี้มาแล้วหลายครั้ง
วันที่ 13 พ.ย.2566 นายกฯ โรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ ที่นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
วันที่ 18 ธ.ค.2566 โรดโชว์ให้นักธุรกิจญี่ปุ่น ฟังที่กรุงโตเกียว มีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัท 40 คน เข้ารับฟัง
ครั้งนี้นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมประชุมใน 3 รายการ คือ 1.กล่าวเปิดการเสวนา Country Strategy Dialogue (CSD) on Thailand 2.การเสนอโครงการ Thailand Land bridge : Connecting ASEAN with the World และ 3.ร่วมเสวนา Learning from ASEAN ซึ่งจะมีผู้นำไทย เวียดนาม และกัมพูชา เข้าร่วมด้วย
นอกจากนี้ นายกฯ จะพบปะภาคเอกชนสำคัญ เช่น ผู้บริหารบริษัทด้านเทคโนโลยี และ Solutions บริษัทท่าเรือ logistics บริษัทด้านการเงิน การธนาคาร บริษัทด้านโทรคมนาคม บริษัทด้านยาและวัคซีน บริษัทด้านอาหารและเครื่องดื่ม บริษัทด้านธุรกิจ
ในโอกาสนี้ นายกฯ จะผลักดันบทบาทของไทย ในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และความร่วมมือในโลก การส่งเสริมการค้าการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรม EVs อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการส่งเสริมความเชื่อมโยง ผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ ให้แก่ผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม วิชาการ และสื่อชั้นนำต่าง ๆ ที่เข้าร่วมด้วย
อ่านข่าว : แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง "ใครได้ ใครเสีย ใครคุ้มสุด"
นี่คือภาพเรียวเข้มที่นายกฯ เศรษฐา พยายามใช้ทุกพละกำลัง เดินหน้าขายฝัน “โครงการแลนด์บริดจ์” อย่างเต็มที่
ยังไม่ต้องพูดถึงแนวทางอื่น อย่างล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2567 ที่ผ่านมา นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย หารือกับนายอุบัยด์ ซะอีด อุบัยด์ บินฏอริช อัลฎอฮิร เอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประจำประเทศไทย ในโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งท่านทูตก็แสดงความสนใจการลงทุนในโครงการนี้
จะเห็นว่ารัฐบาลกำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ เพื่อให้โครงการนี้สำเร็จโดยเร็ว แม้ว่าจะมีข้อท้วงติง เสียงคัดค้าน แต่ก็เบาบางเต็มที
ก็ได้แต่หวังว่า ทุกอย่างจะเดินไปข้างหน้าด้วยดี โดยเฉพาะการเปิดใจ “รับฟัง” กันอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ “พิธีกรรม” เพื่อลดผลกระทบ ทั้งที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม และชุมชน