ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พลิก 2 มาตรา พ.ร.บ.การคลัง "กู้มาแจก" เร่งด่วน-จำเป็น-คุ้มค่า?

การเมือง
10 ม.ค. 67
12:29
1,680
Logo Thai PBS
พลิก 2 มาตรา พ.ร.บ.การคลัง "กู้มาแจก" เร่งด่วน-จำเป็น-คุ้มค่า?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หลังคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้คำตอบกระทรวงการคลัง ในข้อกฎหมายเรื่องการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ว่า "ทำได้" แต่มีข้อสังเกต คือ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 และมาตรา 57 โดยต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของโครงการ และต้องรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน

พลิกกฎหมาย 2 มาตรา ข้อสังเกต "กฤษฎีกา"

สำหรับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ระบุว่า

มาตรา 53

ระบุว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ โดยต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น

เงินที่ได้รับจากการกู้เงิน ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงาน หรือโครงการตามที่กฎหมายกําหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 57

การกู้เงินตามมาตรา 53 และมาตรา 56 จะทำได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่ายตามแผนงาน หรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม และเมื่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของแผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนงาน หรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินกู้นั้นแล้ว

สส.-สว.เห็นต่างเงินกู้

หลัง"กฤษฎีกา" มีคำตอบให้แล้ว เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต และรัฐบาล ต้องไปหาคำตอบ และหารายละเอียดที่ครบถ้วนเพื่อจะชี้แจงต่อสังคม และส่วนงานที่มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบทั้งหมด ว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นไปตามกรอบกฎหมายหรือไม่ 

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า "กฤษฎีกา" ส่งคำแนะนำและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับข้อกฎหมายในการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยย้ำไปที่การรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ยืนยันได้ แต่ไม่มีคำว่า "ไฟเขียว" และย้ำว่า หากรัฐบาลทำตามข้อเสนอแนะจะปลอดภัยแน่นอน

ขณะที่ สส.และ สว. ส่วนหนึ่งมีความคิดเห็นแตกต่างกัน โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้รัฐบาลเปิดเผยคำแนะนำของ "กฤษฎีกา" โดยเห็นว่าการสร้างหนี้ก้อนใหญ่ คนไทยทั้งประเทศควรมีรับรู้ข้อเท็จจริง พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็น เร่งด่วนและเหตุวิกฤตในการออกกฎหมายกู้เงิน

ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ สว. อ้างสัญญาณคำแนะนำจาก "กฤษฎีกา" ทำให้เชื่อว่าร่างกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านของรัฐบาลจะได้รับความเห็นชอบ แม้จะมีข้อสังเกตอาจไปติดล็อกอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ตาม

ส่วนนายสมชาย แสวงการ สว. เตือนไปยังคณะกรรมการดิจิทัลวอเล็ตจะต้องพิจารณาความเห็นจากกฤษฎีกาอย่างรอบคอบก่อนที่จะดำเนินการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะภายใต้เงื่อนไข หากทำได้จะต้องเป็นที่ประจักษ์ตามมตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง คือ "เป็นเรื่องเร่งด่วน ต่อเนื่อง มีวิกฤตเศรษฐกิจ และทำงบประมาณไม่ทัน"

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ สว.อีกคน ที่เสนอให้รัฐบาลเรียก 3 หน่วยงานหลัก คือ "คลัง-สภาพัฒน์ฯ และธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมถกและตีความนิยาม คำว่าเศรษฐกิจ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ว่าถึงขั้นวิกฤตหรือไม่ พร้อมเปรียบเทียบการกู้เงิน ที่จะทำหนี้สาธารณะพุ่ง แลกกับเศรษฐกิจโตขึ้น คุ้มค่าหรือไม่

มีรายงานว่า หนังสือตอบกลับของ "กฤษฎีกา" ถึงกระทรวงการคลัง มีด้วยกัน 8 หน้ากระดาษเอ 4 ซึ่งสาระสำคัญส่วนใหญ่แจ้งเป็นข้อกฎหมาย คือ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง กรณีการดำเนินนโยบายการคลังต้องอิงตามมาตรา 6 เรื่องมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้

มาตรา 7 เรื่องความคุ้มค่า มั่นคงและยั่งยืนและมาตรา 9 ต้องไม่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง และเงื่อนไขสำคัญของการออกกฎหมายกู้เงิน หรือการใช้จ่ายเงินนอกหนี้สาธารณะ

ต้องเป็นไปตามมาตรา 53 คือเป็นการเฉพาะและเฉพาะกรณีจำเป็นเร่งด่วน และต่อเนื่อง รวมถึงมาตรา 57 ที่ต้องกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ แผนงานและโครงการ เพื่อใช้จ่ายเป็นการเฉพาะ

รวมถึงการอ้างอิงรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 140 ซึ่งกำหนดเรื่องการจ่ายเงินแผ่นดินจะอนุญาตไว้ในกฎหมาย เว้นแต่กรณีจำเป็น-รีบด่วน หากแต่เมื่อใช้จ่ายแล้ว ต้องตั้งงบจ่ายชดใช้ไว้ด้วย และการเสนอร่างกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญด้วย

เรื่องนี้แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อหาเสียงไปแล้วก็คงต้องเดินหน้าต่อ เพียงแต่ก็ต้องคิดให้รอบคอบ คำนึงถึงประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลัง ความเสียหายที่เลี่ยงไม่พ้นในอนาคต 

อ่านข่าวอื่น ๆ 

30 บาทรักษาทุกที่ สะดวกขึ้นแต่ยังมีข้อจำกัด

"แพทองธาร" เซ็นตั้ง "นนกุล" นั่งอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์

นายกฯ ถกนัดแรก “ซอฟพาวเวอร์” เห็นชอบ 5 ขั้นตอน ก่อนขับเคลื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง