วันนี้ (8 ม.ค.2567) วันนี้เป็นวันที่ 2 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็น จากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ซึ่งในวันนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ จ.ระนอง
อ่านข่าว : "กมธ.แลนด์บริดจ์" เปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชน จ.ชุมพร
ซึ่งมีการเชิญตัวแทนส่วนราชการและประชาชนเข้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีการตั้งข้อสังเกตจากประชาชนว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นใน จ.ระนอง จะเน้นไปที่การรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานภาครัฐ
โดยในเวทีวันนี้ ภาคเอกชนและผู้นำท้องถิ่นใน จ.ระนอง ส่วนใหญ่มีมุมมองในทิศทางเดียวกันว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยสร้างงานสร้างรายได้
ส่วนตัวแทนภาคประชาชนมีความห่วงกังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการประกอบอาชีพ ที่จะเกิดขึ้นจากการขุดร่องน้ำในทะเล และการถมทะเลเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกจำนวนหลายพันไร่
ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรง ต่อการประกอบอาชีพของชาวประมงพื้นบ้าน รวมถึงการให้สัมปทานพื้นที่ให้กับชาวต่างชาติ ที่มาลงทุนซึ่งอาจยาวนานถึง 99 ปี ที่ประชาชนแทบจะไม่สามารถใช้ประโยชน์หรือเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวได้อีกเลย
ส่วนตัวแทนส่วนราชการ นายปัญญา ชูพานิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้ข้อมูลว่า อีก 10 ปีข้างหน้า การเดินเรือในช่องแคบมะละกา จะมีความหนาแน่นมากขึ้น ดังนั้นโครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยเพิ่มศักยภาพการเดินเรือ และก่อให้เกิดการพัฒนาเส้นทางคมนาคมครั้งใหญ่ในประเทศไทย
อ่านข่าว : แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง "ใครได้ ใครเสีย ใครคุ้มสุด"
เนื่องจากโครงการแลนด์บริดจ์จะมีการลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ประกอบไปด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งทะเล ทั้งในพื้นที่ จ.ระนอง และชุมพร มีการก่อสร้างรถไฟทางคู่และทางหลวงพิเศษหรือมอเตอร์เวย์ และท่อส่งน้ำมัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นเวลา 2 วัน โดยเมื่อวานนี้ ได้ดูสถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกบริเวณแหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร
รวมถึงรับความคิดเห็นจากประชาชนใน อ.หลังสวน และอ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร โดยมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและคัดค้านโครงการ โดยผู้ที่เห็นด้วยมองว่า จะเป็นโอกาสช่วยสร้างงานสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจ
ส่วนผู้ที่คัดค้านโดยเฉพาะประชาชนผู้ได้รับผลกระทบใน อ.พะโต๊ะ ระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิต โดยเฉพาะการประกอบอาชีพเกษตรที่มีรายได้อย่างมั่นคง จากการทำสวนทุเรียน สวนปาล์ม อยู่แล้ว
ส่วนชาวประมงพื้นบ้านระบุว่า การถมทะเลสร้างท่าเรือน้ำลึก และการขนส่งทางน้ำที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลกระทบ่โดยตรงต่อปริมาณสัตว์น้ำและพื้นที่ทำกินทางทะเล