กรณีโลกออนไลน์แชร์ภาพปลาออร์ฟิช (oarfish) ปลาน้ำลึกที่ระบุว่าจับได้แถวทะเล จ.สตูล สร้างความฮือฮาในวงการผู้เชี่ยวชาญด้านปลา
วันนี้ (4 ม.ค.2567) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่สำนักงานประมงจังหวัดสตูล นักวิชาการประมงปฏิบัติการ สำนักงานประมงจังหวัดสตูล พร้อมเจ้าหน้าที่นำปลาออร์ฟิช หรือที่ชาวบ้านปลาพญานาค หรือปลาริบบิ้นตัวแรกของประเทศไทย พบที่บริเวณเกาะอาดัง และเกาะลิบง หลังติดเรืออวนดำชาวประมง ก.เทพเจริญพร 15 (เมื่อ 3 ม.ค.)
โดยชาวประมงที่จับได้ เห็นว่าเป็นปลาที่แปลกและหายาก จึงมอบให้กับทางประมงจังหวัดสตูล โดยปลาออร์ฟิชตัวนี้ มีความยาวถึง 2.4 เมตรเป็นขนาดไม่โตเต็มวัย กว้างประมาณ 1 คืบ ลำตัวไม่พบบาดแผล มีครีบเป็นสีแดงอมชมพูยาวตลอดทั้งตัว มีหนวดยาว ลำตัวยาว มีเกล็ดสีเงิน ครีบสีแดงที่หัว จึงเป็นสัตว์น้ำที่หาชมได้ยาก มักจะอาศัยอยู่ในทะเลน้ำลึกระดับ 1,000 เมตรขึ้นไป
อ่านข่าว อย่าตื่น "ปลาออร์ฟิช" โผล่ไทยคาด IOD มวลน้ำเย็นพาเข้าทะเลสตูล
ทช.ระบุ ออร์ฟิช เป็นปลาทะเลน้ำลึก 200-1,000 เมตร เป็นระดับที่แสงส่องลงไปถึงน้อยมาก จึงมีโอกาสเห็นมันหลงมาเกยตื้นหรือที่ระดับผิวน้ำได้น้อย
เตรียมส่งมอบ "อพวช."สตัฟฟ์เพื่อศึกษาวิจัย
น.ส.อภิรดี ณ ไพรี นักวิชาการประมงปฏิบัติการ สำนักงานประมงจังหวัดสตูล กล่าวว่า ปลาออร์ฟิช หลังได้รับมาจากชาวประมงเตรียมนำส่งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อไว้ให้รุ่นหลังได้ศึกษา เพราะเชื่อว่าเป็นครั้งแรกที่พบในไทย ซึ่งชาวประมง อาจจะเคยเจอแล้วแต่เขาอาจไม่ทราบอาจจะคิดว่าเป็น ปลาดาบ
สำหรับปลาออร์ฟิช หรือชวบ้านบ้านเรียกปลาพญานาค หรือปลาริบบิ้น มีลักษณะการว่ายจะพลิ้วๆ ไปมา จะเจอในทะเลน้ำลึก 1,000 เมตรขึ้นไป
การพบในทะเลอันดามัน จ.สตูลในครั้งนี้ ไม่ได้มีการบ่งชี้อะไร ตามความเชื่อบ้างว่าเจอชายฝั่งจะเจอภัยพิบัติหรืออาเพศ เป็นความเชื่อเฉยๆ แต่ทางวิทยาศาสตร์เป็นการอพยพอย่างถิ่นฐาน อาจเนื่องจากกระแสน้ำที่เปลี่ยนไป
อ่านข่าว จับพรานยิงหัวค่างแว่นถิ่นใต้ ตาย 2 ตัว เขาสามร้อยยอด
ซากปลาออร์ฟิช ปลาทะเลลึก 1,000 เมตรที่ถูกจับได้ครั้งแรกในทะเลอันดามัน จ.สตูล
"ออร์ฟิช" ปลาลึกลับถูกค้บพบเมื่อ 251 ปีก่อน
ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุว่า ปลาออร์ฟิช เป็นปลาทะเลน้ำลึกชนิดหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลในช่วงความลึกประมาณ 200-1,000 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่แสงส่องลงไปถึงน้อยมาก จึงมีโอกาสเห็นมันหลงมาเกยตื้นหรือที่ระดับผิวน้ำได้น้อย
ทั้งนี้ปลาออร์ฟิช แท้จริงแล้วถูกค้นพบตั้งแต่ ปี ค.ศ.1772 หรือ 251 ปีก่อน โดยนักชีววิทยาชาวนอร์เวย์ ชื่อ ปีเตอร์ แอสคานุส เป็นปลาที่มีลำตัวที่แบนแคบ ว่ายน้ำอยู่ใต้ท้องทะเลลึก และกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร
ลักษณะพิเศษอีกอย่างคือหงอนสีแดงขนาดใหญ่สีสันสดใส เมื่อโตเต็มที่มีความยาวราว 10-15 เมตร แต่ตัวที่ยาวที่สุดเท่าที่ถูกบันทึกไว้คือขนาด 17 เมตรที่ถูกจับได้โดยนาวิกโยธินสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ปี 1996 บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก รัฐแคลิฟอร์เนีย
บ่อยครั้งที่มีคนพบปลาออร์ฟิชลอยขึ้นมาเกยฝั่ง หรือหลงกระแสน้ำทะเลเข้ามาในเขตน้ำจืด ปลาที่พบส่วนมากจึงอยู่ในสภาพใกล้ตายแล้วเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับความดันและสภาพแวดล้อม
อัปเดต "แร้งดำหิมาลัย" ไม่บาดเจ็บแต่อ่อนแรง เร่งสร้างกล้ามเนื้อ
สำนักงานประมงจังหวัดสตูล เตรียมนำส่งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อไว้ให้รุ่นหลังได้ศึกษา เพราะเชื่อว่าเป็นครั้งแรกที่พบในไทย
สำหรับปรากฏการณ์ IOD เข้าสู่สถานะ Positive นั้น กระแสลมตามแนวศูนย์สูตรในมหาสมุทรอินเดียที่มีกำลังแรงขึ้นไปทางทิศตะวันตก จะผลักดันให้เกิดการถ่ายเทของมวลน้ำชั้นบนในมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันออก
รวมทั้งในทะเลอันดามันให้ไหลไปทางมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันตก ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำทะเลตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามันลดลงอย่างผิดปกติ ดังนั้นเมื่อมวลน้ำชั้นล่างยกระดับสูงขึ้น และเข้ามาใกล้บริเวณชายฝั่งมากขึ้น ก็อาจมีสัตว์น้ำประเภทที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหารตามเข้ามา รวมถึงอาจล่อให้สัตว์น้ำที่อาศัยในบริเวณทะเลลึกตามเข้ามาได้เช่นกัน ดังที่มีรายงานการพบปลาออร์ฟิชในบริเวณใกล้ฝั่งในทะเลอันดามัน