และแล้ว เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้รับมอบอำนาจจาก “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้ปฏิบัติราชการแทนนายกฯ กระทรวงยุติธรรม ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพียงหน่วยงานเดียวจากทั้งหมด 15 กรมในกระทรวง ที่นายกฯ ไม่ยอมปล่อยมือ
คำสั่งนี้ ไม่เพียงมีผลให้ “พีระพันธ์ุ” รมว.พลังงาน เข้ามากำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรองนายกฯ เท่านั้น แต่ยังสะเทือนถึง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกระทรวงยุติธรรม โดยให้ข้ามห้วยไปกำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข ที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นั่งเป็นเจ้ากระทรวงเมือง
แม้ “สมศักดิ์” จะออกตัวว่า ไม่น้อยใจ เพราะการเป็นนักการเมืองต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ได้ตลอด และไม่อยากถามถึงสาเหตุการย้าย เราเป็นนักการเมืองต้องพร้อมที่จะทำงาน
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การสลับหน้าที่ของ 2 รองนายกฯ “พีระพันธุ์-สมศักดิ์” มีนัยทางการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย
อ่านข่าว : ฉายารัฐบาลปี 66 แกงส้ม "ผลัก" รวม - "เศรษฐา" เซลล์แมนสแตนด์ "ชิน"
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง
ต้องไม่ลืมว่าปี 2561 “สมศักดิ์” ย้ายจากพรรคเพื่อไทยเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ โดยครองเก้าอี้ รมว.ยุติธรรม ตั้งแต่ปี 2562-2566 มีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลหน่วยงานในสังกัด ยธ.ทั้งหมด โดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ และลาออกจากตำแหน่ง รมว.ยธ. เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2566
ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ “สมศักดิ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการ ยธ. จะไม่ทราบรายละเอียดและข้อกฎหมาย รวมทั้งข้อขัดข้องของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะคณะทำงานพิจารณาคุมขังสถานที่คุมขัง ที่มีรองอธิบดีและข้าราชการอีกไม่น้อยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
การออกมาไล่บี้การทำงานของข้าราชการของ “สมศักดิ์” ด้วยการให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2566 โดยพุ่งเป้าไปยังกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมี “สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หรือว่าที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์รับผิดชอบ ในทำนอง ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ไม่ยอมเคลียร์ประเด็นระเบียบราชทัณฑ์ เรื่อง ทักษิณ ชินวัตร และมัวแต่กลัว ไม่รู้ขั้นตอน-ระเบียบกฎหมาย ทำเกิดปัญหา นอกจากนี้ยังทำงานไม่เป็น เพราะมีแต่เด็กเส้นเด็กฝาก จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด
การเมืองมีหลายชั้น หลายเหลี่ยม หลายคู เพียงใด นักการเมืองเช่น “สมศักดิ์” มีหรือไม่จะรู้เส้นสนกลศึก เพราะเดิมพันนี้ คือ การออกมานอนนอกคุกของ “ทักษิณ” เจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง ซึ่งตั้งแต่กลับมาก็มีอาการป่วยและไม่ได้เข้าเรือนจำแม้แต่วันเดียว และระเบียบราชทัณฑ์ก็เปิดประตูรอไว้แล้ว
สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี
ว่ากันว่า ตั้งแต่การชงเรื่อง สร้างนิคมราชทัณฑ์ การปรับปรุงเรือนจำ การลดจำนวนผู้ต้องขัง เพื่อแก้ปัญหานักโทษล้นคุกการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงและออกกฎระเบียบต่าง ๆ จนทำให้เกิดข้อครหาว่า มีดีลปรับแผนรองรับการกลับมาของ “ทักษิณ” โดยใช้กลไกของหน่วยงานเกี่ยวข้องเอื้อประโยชน์ ต่าง ๆ นา ๆ แต่เมื่อยังไม่สมประสงค์ การเปลี่ยนตัวเล่น จึงเป็นหมากที่พรรคเพื่อไทยจะต้องเดินต่อ
อ่านข่าว : โทษ “ยิ่งลักษณ์” เบากว่า “ทักษิณ” เดินตามรอยพี่ชายเพื่อพักโทษ
เปิดหน้าไพ่ใหม่ของรัฐบาลเพื่อไทย โดยโยนเผือกร้อนให้ “พีระพันธุ์” อดีต รมว.ยุติธรรม เมื่อปี 2551-2554 ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ รับไม้ต่อ เป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมาย
ประเด็นแรก หากย้อนกลับไปดูความสัมพันธ์ระหว่าง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยธ.และ พีระพันธุ์ รมว.พลังงาน ทั้งคู่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน ในฐานะอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา ตั้งแต่ พ.ต.อ.ทวี เป็นอธิบดีดีเอสไอ เมื่อปี 2551-2552
แม้ครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นรัฐบาล มีเลขาธิการพรรค และรองนายกฯชื่อ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในยุคนั้น “สุเทพ” และ “แทน เทือกสุบรรณ” มีปัญหาคดีบุกรุกที่ดินเขาแพง จ.สุราษฎร์ธานี โดย “พีระพันธุ์”เป็น รมว.ยธ. แต่ดีเอสไอมี “พ.ต.อ.ทวี” เป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
และ “พีระพันธุ์” เป็น รมว.ยธ. โดยทุกครั้งเมื่อมีการประชุม ครม.ในยุคนั้น ข้าราชการในกรมและกระทรวงฯ มักจะจับตามองว่า “พ.ต.อ.ทวี” จะถูกย้ายเมื่อใด แต่ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น
อ่านข่าว : "สมศักดิ์" ไม่น้อยใจ นายกฯ สั่งโยก คุมสาธารณสุข
ขณะที่การร่วมงานระหว่าง “พีระพันธุ์” และบริหารระดับสูงของหน่วยงานต่างๆในกระทรวงฯก็ไม่ได้มีการเข้าไปล้วงลูกมากนัก ดังนั้นเมื่อมีคำสั่งให้สลับตำแหน่งระหว่าง “พีระพันธุ์-สมศักดิ์” ออกมาจึงเห็นสัญญาณบวกจากข้าราชการอย่างชัดเจน
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน
ประเด็นที่สอง ต้องไม่ลืมว่า หลัง “พีระพันธุ์” ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้มาอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่าขณะนั้นจะยังอยู่ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐก็ตาม
แต่หลังจากที่ก่อตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ “พีระพันธุ์” ก็รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคฯ ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ พรรครวมไทยสร้างชาติ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
หลังพ่ายเลือกตั้ง “พล.อ.ประยุทธ์” ประกาศวางมือทางการเมือง และลาออกจากสมาชิกพรรค รทสช.เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2566 ก่อนจะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรีคนที่ 18 เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2566
แม้จะมีคำถามว่า เหตุใด “พีระพันธุ์” จึงต้องรับไม้ต่อจาก “สมศักดิ์” ภาพที่เห็นอาจไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ เพราะบทบาทที่ “สมศักดิ์” เล่นใหญ่ โดยเฉพาะการออกมาเตือนคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตำรวจ อาจถูกฟ้องดำเนินคดี หากเข้าตรวจค้นชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยพลการ ที่จะเกิดขึ้นหลังปีใหม่
หรือ การออกหน้าชี้แจงประเด็นเกี่ยวข้องกับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ที่กำหนดเงื่อนไขการคุมขังนอกเรือนจำ อาจส่งผลกระทบ “ทักษิณ” ทั้งทางตรงและทางอ้อม
อ่านข่าว : พร้อม! ร่างงบปี’67 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท เข้าสภาฯ 3-5 ม.ค.67
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม
ไม่ต่างจาก พ.ต.อ.ทวี มักจะสับหลีกที่ตอบคำถามดังกล่าว หลัง “ทักษิณ” นอน รพ.ตำรวจ อยู่ที่ชั้น 14 เกิน 126 วัน จะโบ้ยว่าอยู่ในดุลยพินิจของกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ โดยยังไม่มีคำตอบอะไรที่ชัดเจน
มีคำถามว่า ไม่ว่าทักษิณจะป่วยจริงหรือยังนอนป่วยอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจย่านปทุมวัน หรืออยู่ในคอนโดหรูย่านไหนก็ตาม การบริหารจัดการในขั้นตอนของกฎหมาย อาจจะมีข้อสะดุด ไม่เฉพาะจากเหตุข้าราชการกลัวข้อกฎหมายจะกลับมาแผลงศรเอาผิดในชีวิตบั้นปลาย
ด้านหนึ่งสะท้อน ให้เห็นว่า การบริหารปัญหาที่ยากเกินขั้นกว่าที่ “สมศักดิ์ และ พ.ต.อ.ทวี” จะรับมือได้ แต่อีกด้านหนึ่งต้องไม่ลืมว่า หาก “ทักษิณ” กลับมา “Full Power” โดยอาศัยกระบวนการยุติธรรม เป็นเครื่องมือ
นับเป็นเรื่องไม่ง่าย หาก “พีระพันธุ์” ในฐานะอดีตผู้พิพากษาเก่า จะแหวกหาข้อกฎหมายมาปฏิบัติ เพื่อรองรับ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
อ่านข่าวอื่น ๆ
นายกฯ คุยพรรคร่วมกำชับถกงบ 67 มอบ "ภูมิธรรม" นั่ง ปธ.กมธ.