วันเอดส์โลกปีนี้ (2023) โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือ UNAIDS ชูคําขวัญ Let Communities Lead : ถึงเวลาให้ชุมชนนำทางมุ่งสู่การยุติเอดส์
วันที่ 24 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา เครือข่ายชุมชนที่ทำงานเกี่ยวกับเอชไอวีจากทั่วประเทศ รวมตัวกันแสดงพลังความมุ่งมั่น ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของชุมชน ที่มีต่อระบบสาธารณสุข ซึ่งจะมีช่วยให้ประเทศไทยยุติปัญหาเอดส์ได้
โดยประเทศไทยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และเป็นต้นแบบในระดับนานาชาติของการที่ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี ลุกขึ้นมาช่วยเหลือดูแลกันแบบ “กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน” ตั้งแต่ปี 2538 และได้รวมกันพัฒนาเป็นศูนย์องค์รวม ทำงานร่วมกับโรงพยาบาล โดยกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ ได้พลิกบทบาทจาก ผู้รับบริการ มาเป็นผู้ร่วมจัดบริการ เคียงบ่าเคียงไหล่กับบุคลากรทางการแพทย์ จนปัจจุบัน มีกลุ่มที่ทำงานศูนย์องค์รวมทั้งหมด 219 กลุ่ม
สุรางค์ จันทร์แย้ม ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ) และผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ SWING ระบุว่า ภาคชุมชนมีความพร้อมในการช่วยรัฐและหน่วยงานนาชาติ ยุติปัญหาเอดส์มาเป็นระยะเวลายาวนาน มีการคิดค้นนวัตกรรมแก้ปัญหาเอดส์ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์เกิดขึ้นมากมาย จนเป็นพี่เลี้ยงให้กับองค์กรชุมชนในหลายประเทศ
สุรางค์ จันทร์แย้ม ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ) และผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ SWING
อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีข้อกฎหมาย และนโยบายที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ จึงต้องการเห็นความชัดเจนและการยอมรับให้ภาคชุมชน ประชาสังคม ถูกจัดอยู่ในโครงสร้างของระบบสุขภาพที่เป็นรูปธรรมและมีงบประมาณสนับสนุนให้เกิดการทำงานอย่างยั่งยืน
พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการ UNAIDS ประเทศไทย กล่าวว่า ชุมชนบอกว่า เขาทำมานานแล้ว เขามีความพร้อมเต็มที่ ในการมุ่งไปข้างหน้าแล้ว สำหรับประเทศไทย Community Leadership แข็งแรงมาก แล้วก็เป็นแนวหน้าในเอเชียแปซิฟิก คิดว่าถ้าเราเปิดทางสนับสนุนชุมชนอย่างเต็มที่ อย่างเช่นกฎระเบียบต่าง ๆ ถ้าเราสามารถคลี่ แล้วให้เขาทำงานเต็มศักยภาพ และสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้ชุมชนดำเนินการ Community-led Health Services ได้เต็มที่ เขาก็จะช่วยคนที่ยังไม่เข้าถึงระบบบริการได้
พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการ UNAIDS ประเทศไทย
สำหรับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการยุติปัญหาเอดส์ มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในประเทศไทย เนื่องจากพบว่าการระบาดของเอชไอวีเปลี่ยนรูปแบบและเพิ่มขึ้นในผู้ที่มีความเปราะบาง ได้แก่ LGBQI+, ผู้ใช้สารเสพติด พนักงานบริการ และกลุ่มเยาวชน และประชากรข้ามชาติ
ดังนั้นจุดแข็งของความเป็นชุมชนคือเข้าใจและเข้าถึงความต้องการ ปัญหาและอุปสรรคของประชากรกลุ่มนี้ที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากเอชไอวี ผู้ที่เข้าถึงยาก ผู้ที่ยังมีความกลัว กังวลการตีตราเลือกปฏิบัติ จึงยังไม่เข้าสู่ระบบสุขภาพทั่วไป
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวิจัยและนโยบาย สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี ผู้ตรวจพบผู้ป่วยเอดส์คนแรกของประเทศไทยมีความหวังว่า ประเทศไทยยังคงสามารถยุติปัญหาเอดส์ได้ตามเป้าหมายใน 7 ปีข้างหน้าได้อย่างแน่นอน
ถ้าผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหาร เพิ่มการลงทุนให้แก่องค์กรชุมชนอย่างเต็มที่ในเวลาที่เหลืออยู่และทุกภาคส่วนช่วยกับสนับสนุน แก้ไขนโยบาย กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน องค์กร ภาคชุมชนมีพลังมากมาย ที่จะช่วยให้ประเทศไทยยุติเอดส์ได้จริง
ที่ผ่านมา 6-7 ปี เราเอาแต่กลุ่มเสี่ยง ชายรักชาย สาวประเภท 2 จะต้องรีบตรวจ เราก็สำเร็จตรงนั้น แต่เวลานี้ ประชาชนทั่วไป ซึ่งถูกหลงลืมเพราะไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีอัตราการติดเชื้อ HIV เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก
เวลานี้นโยบายต้องมุ่งไปสู่กลุ่มประชากรทั่วไป คนไทยทุกคนควรตรวจเอดส์อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ไม่ว่าเขาจะทำอะไรมาก็ตาม เพราะว่า ตรวจไปแล้วครั้งที่ 1 เขาจะรู้เลยว่าเมื่อไหร่เขาควรจะตรวจซ้ำ
นพ.ประพันธ์กล่าวด้วยว่า เคยพูดกับท่านอธิบดีกรมควบคุมโรค น่าจะให้ท่านนายกฯ พูดในวันเอดส์โลกเหมือนกับที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัก โอบามา พูดแล้วมีป้ายในสหรัฐอเมริกาว่า “know your result”
ท่านนายกฯ สามารถบอกว่า คนไทยทุกคนอย่างน้อยควรจะตรวจเอดส์ครั้งหนึ่งในชีวิต ตรวจฟรี เพื่อรักษาสุขภาพ ไม่ได้บอกว่า ตรวจเพื่อจะติดเชื้อ HIV หรือไม่ การตรวจเร็ว จะได้ไม่แพร่เชื้อให้คนอื่นเร็ว
อ่านข่าวอื่นๆ
"รมว.กต.- ผบ.ทหารสูงสุด" เตรียมบินรับคนไทย "ฮามาส" ปล่อยตัว
"อนุทิน" กำชับทุกจังหวัดดูแลความปลอดภัย ปชช.ช่วงเทศกาลลอยกระทง
"เศรษฐา" หารือ "นายกฯ มาเลเซีย" ผลักดันความร่วมมือพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย วันนี้