กรณีมีกลุ่มวัยรุ่นถ่ายคลิปคนกำลังจมน้ำ แต่ไม่มีใครลงไปช่วยจนจมน้ำต่อหน้าทุกคน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่หมู่ 6 ต.วังไก่เถื่อน อ.หันคา จ.ชัยนาท เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2566 จุดดังกล่าวเป็นคลองชลประทาน ลึกประมาณ 3 เมตร ในคลิปแสดงให้เห็นว่ามีคนอยู่ในน้ำและพยายามว่ายน้ำ และมีเสียงจากคลิปส่วนหนึ่งบอกว่า "มันว่ายน้ำเป็น มันเรียกร้องความสนใจ"
ขณะที่ แม่ผู้เสียชีวิต ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หันคา เพื่อดำเนินคดีเพราะคาใจเรื่องที่ทำไมไม่ช่วยเหลือลูกของตน โดยระบุ จากคลิปได้ยินเสียงร้องของลูกแล้วรู้สึกเจ็บปวด ทำไมไม่มีใครช่วยคนทั้งคน อยากรู้คนถ่ายคลิปเอาหัวใจอะไรมาใส่ โทรหาคนมาช่วยก็ได้ หรือตามคนที่บ้านไปช่วยก็ได้
อ่านข่าว : เช็ก! วิธีปฐมพยาบาลช่วยชีวิต เมื่อพบคน "อาหารติดคอ"
ด้านกลุ่มกลุ่มเด็กที่ถูกกล่าวหา โต้ว่า กลุ่มพวกตนได้พยายามช่วยเหลือแล้ว โดยได้ใช้ไม้กวาดยื่นให้กับผู้เสียชีวิตจับ แต่ผู้เสียชีวิตปล่อยมือออกจากไม้กวาด แล้วผู้เสียชีวิตก็ว่ายน้ำลอดใต้สะพานมาเกาะอยู่ที่ต้นโสน ซึ่งตอนนั้นก็เห็นว่าผู้เสียชีวิตเหมือนจะจมน้ำจริง จึงตะโกนเรียกชาวบ้านในละแวกนั้นให้มาช่วย แต่ผู้เสียชีวิตได้หัวเราะ และพูดว่าจม ๆ เหมือนแกล้งเล่น ส่วนเรื่องที่ถ่ายคลิปเอาไว้ เนื่องจากผู้ตายชอบกระโดดน้ำเป็นประจำเลยถ่ายไว้ เพื่อจะให้คนในครอบครัวเขาดู
ทางด้านทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ อธิบายข้อกฎหมาย โดยยกกรณีเห็นคนกำลังจะจมน้ำ แต่ไม่ช่วยและไม่มีเหตุอันควรต้องกลัว จนบุคคลดังกล่าวถึงแก้ความตาย ว่า ตามกฎหมายแล้วหากเราเห็นคนจะจมน้ำตาย หรือตกในอันตรายต่อชีวิต เราไม่ควรกลัว ต้องช่วยตามความจำเป็น หากไม่ช่วยใด ๆ เลย และปล่อยจนเขาจมน้ำตาย การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 374 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้นเห็นใครจะจมน้ำ หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ หากช่วยได้เราต้องช่วยตามความจำเป็น และเป็นเรื่องคุณธรรมในจิตใจด้วย
อ่านข่าว : รับมือคลื่นมะเร็ง “มฤตยูเงียบ” โรคร้ายคร่าชีวิตคนไทย
ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์
เห็นคนจมน้ำ ไม่พยายามช่วยอาจเป็นความผิด
ทั้งนี้กรณีดังกล่าว ตำรวจต้องมีการเรียกวัยรุ่นกลุ่มดังกล่าวมาสอบสวนอีกครั้ง กรณีนี้หากดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กระทรวงยุติธรรมได้อธิบายว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคห้า และมาตรา 374 ระบุไว้ว่า
ห้ามนิ่งเฉยกับภยันตรายตรงหน้าของบุคคลอื่น ซึ่งหากมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เช่นเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตประจำสระน้ำเห็นคนจมน้ำในสระที่ตัวเองดูแล แต่กลับนิ่งเฉยหรือไม่พยายามช่วยก็อาจเป็นความผิดเนื่องจาก "งดเว้น" การกระทำ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ป้องกันเหตุร้ายโดยตรง
แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงสามารถเข้าไปช่วยได้ แต่ก็ไม่ช่วย ซึ่งหากไม่ยอมเข้าไปช่วยก็อาจเป็นความผิดอาญาได้เช่นกันเนื่องจาก "ละเว้น" การกระทำ
อย่างไรก็ดีการ "ละเว้น" หน้าที่พลเมืองดีในลักษณะนี้เป็นความผิดที่มีโทษสถานเบา (ลหุโทษ)
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374 ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
- ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคห้า การกระทำ ให้หมายความรวมถึง การให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
อย่างไรก็ตามคดีนี้ยังต้องรอการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ความยุติธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย
อ่านข่าวอื่น ๆ
อากาศไม่เย็น! ปีนี้ฤดูหนาวสั้นแค่ 1 เดือน-อุณหภูมิไม่ลดฮวบ
ระดมค้นหา "3 นักเรียน" หายตัว 3 วัน หลังไปหาเห็ดป่าห้วยขาแข้ง
ตร.ประสานราชทัณฑ์ให้ 2 ผู้คุมมอบตัว ปมช่วย "เสี่ยแป้ง" หลบหนี